Our score
8.9Chord Mojo 2
จุดเด่น
- ให้คุณภาพเสียงที่ดีมาก เปลี่ยนอุปกรณ์เล่นเพลงธรรมดาๆ ให้กลายเป็นเครื่องเสียงชั้นดีได้เลย
- วัสดุอะลูมิเนียมอย่างเนี้ยบ ดีไซน์ปุ่มเรืองแสงได้น่าสนใจ ดึงดูดสายตา
- รองรับสัญญาณดิจิตอลขาเข้าได้หลายรูปแบบ ทั้ง USB-C, MicroUSB, Optical และ Coaxial
- ต่อหูฟังแบบ 3.5 mm ได้พร้อมกัน 2 ตัว
- กำลังขับสูง สามารถขับหูฟังส่วนใหญ่ในท้องตลาดได้
จุดสังเกต
- ชาร์จไฟด้วยพอร์ต microUSB เท่านั้น ไม่สามารถชาร์จด้วย USB-C ได้
- ไม่สามารถชาร์จไฟพร้อมเสียบอุปกรณ์ในสายเส้นเดียวกันได้ ถ้าฟังไปชาร์จไปต้องเสียบสาย 2 เส้น
- ไม่มีช่องหูฟังแบบ Balanced ทั้ง 2.5 mm และ 4.4 mm
- ไม่รองรับการถอดรหัส MQA ในตัว
- ไม่สามารถดูภาพรวมการตั้งค่าได้ ต้องกดปุ่ม Mode ไปเรื่อยๆ เพื่อดูสีไฟใน 5 โหมดย่อย ถึงจะเข้าใจการตั้งค่าเสียงทั้งหมด
-
คุณภาพเสียง
9.5
-
คุณภาพงานผลิต
10.0
-
ความยืดหยุ่นในการเชื่อมต่อ
8.5
-
ความคุ้มค่า
7.5
Chord Electronics เป็นบริษัทผลิตเครื่องเสียงชั้นนำจากอังกฤษมานาน มีผลิตภัณฑ์มากมาย ครอบคลุมเครื่องเสียงบ้านขนาดใหญ่ (ที่แตกกลุ่มไปได้อีกมากมาย เช่น Preamplifier, Integrated Amplifier, DAC, Upscaler) ไปจนถึงอุปกรณ์พกพาขนาดเล็กที่สามารถเอาไปต่อกับมือถือหรือคอมพิวเตอร์เพื่อยกระดับคุณภาพเสียงให้มีรายละเอียดดีเป็นธรรมชาติ สร้างประสบการณ์การฟังดนตรีให้สุนทรีกว่าการฟังตรงจากอุปกรณ์ปกติเป็นไหน ๆ และอุปกรณ์รุ่นเล็กที่สุดของ Chord ที่เราจะรีวิวกันในวันนี้คือ Mojo 2 ซึ่งสานต่อความสำเร็จจาก Mojo รุ่นแรกที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งก็สร้างชื่อเสียงให้นักฟังเพลงรู้จักกันมายาวนานครับ
อยากรู้เรื่องอะไร คลิกเลย!
หน้าที่ของ Chord Mojo 2
สำหรับใครไม่คุ้นเคยกับอุปกรณ์ในวงการฟังเพลง อุปกรณ์อย่าง Mojo 2 จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า DAC/AMP ครับ โดย DAC ก็คือ Digital to Analog Converter พูดง่ายๆ คืออุปกรณ์ที่แปลงสัญญาณดิจิทัลจาก 0/1 ให้เป็นคลื่นความถี่เสียงซึ่งเป็นสัญญาณแอนะล็อกนั้นเอา ส่วน AMP ก็คือ Amplifier คือวงจรขยายเสียงให้ดังขึ้น ซึ่ง Mojo 2 อยู่ในกลุ่ม Headphone Amplifier หรือแอมป์สำหรับหูฟัง ที่ออกแบบให้มีกำลังขับพอดี ๆ ไม่มากเกินไปจนทำให้หูฟังพัง
โดยปกติแล้วสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์จะมี DAC/AMP ในตัวเครื่องอยู่แล้ว เพราะเมื่อเสียบหูฟังเข้ากับช่อง 3.5 mm หรือพอร์ต Lightning, USB-C ก็ถ่ายทอดเสียงแบบแอนะล็อกผ่านมาที่ตัวหูฟังได้เลย เพียงแต่ว่า DAC/AMP มาตรฐานที่อยู่ในอุปกรณ์ทั่วไปก็เป็นเกรดที่ให้รายละเอียดเสียงได้ระดับหนึ่ง ซึ่งก็ดีพอสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับนักฟังเพลงที่ต้องการดื่มด่ำกับรายละเอียดในเสียงเพลง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่หาเพลงแบบ Lossless หรือ Hi-Res ได้ง่ายดายผ่านบริการต่างๆ ก็ต้องการอุปกรณ์เฉพาะทางเพื่อดึงรายละเอียด มิติของเสียง และความหนักแน่นต่าง ๆ ออกมาให้หมด Chord Mojo 2 ก็มาทำหน้าที่นี้ครับ
Mojo 2 มีเอกลักษณ์ด้านวิศวกรรมที่ไม่เหมือน DAC รุ่นอื่นๆ อยู่ตรงที่ใช้ชิป Xilinx Artix-7 ซึ่งเป็นชิปประมวลผลแบบ FPGA (Field-Programmable Gate Array) มาประมวลผลแทนชิป DAC ทั่วไป (เช่นจากแบรนด์ ESS หรือ AKM) หรือพูดง่าย ๆ ว่าเอาชิปประมวลผลอเนกประสงค์มาเขียนโปรแกรมเพื่อแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นแอนะล็อกเองโดย Rob Watts นักออกแบบ DAC ประจำสำนัก Chord ซึ่งทำให้ได้เสียงที่แตกต่างจากชิป DAC สำเร็จรูปที่ใช้ในอุปกรณ์เสียงแบบพกพาทั่วไป
ซึ่ง Mojo 2 ก็ปรับปรุงจาก Mojo รุ่นแรกในด้านความละเอียดในการประมวลผลให้สูงขึ้น (ประมวลผล 40,960 taps จากรุ่นเดิมราว 38,000 tap พร้อม DSP 40 แกน) ทำให้เสียงออกมามีรายละเอียดมากขึ้น มิติเสียงดีขึ้น เพิ่ม EQ ในตัวที่สามารถปรับลักษณะเสียงได้แบบไม่สูญเสียรายละเอียดเสียง แล้วก็แบตเตอรี่ทนทานขึ้น พร้อมช่องต่อสัญญาณเสียงแบบ USB-C
ดีไซน์ของ Chord Mojo 2
ชื่อรุ่น Mojo นี้มาจากคำว่า Mobile Joy คือความสุขที่พกพาออกไปนอกบ้านได้ ซึ่งแม้ Mojo 2 จะมีขนาดกะทัดรัด แต่ก็ถือว่าใหญ่กว่า DAC/AMP พกพาทั่วไปในท้องตลาดพอสมควร โดยมีขนาดพอ ๆ กับฝ่ามือ และหนัก 185 กรัม พอๆ กับ iPhone 13 ครับ
บอดี้ของ Mojo 2 นั้นทำมาจากอะลูมิเนียมเกรดเดียวกับที่ใช้ทำเครื่องบิน ให้สัมผัสในการจับถือที่รู้สึกเลยว่านี่คือของแพง (และมันก็แพงจริงๆ) นอกจากนี้ไฟหลากสีที่ปุ่มกลม ๆ 4 ปุ่มของเครื่องยังให้ความรู้สึกน่าสงสัย ว่าเจ้าอุปกรณ์สีดำดูเรียบ ๆ แต่มีไฟสดใสเปลี่ยนไปมานี้ต้องการจะสื่อสารอะไรกับเรา ซึ่งคนทั่วไปจะไม่เข้าใจความหมายของสีไฟนี้ครับ มันเป็นรหัสลับที่รู้กันเฉพาะคนใช้ Chord เท่านั้น
Chord Mojo 2 จึงเป็นเหมือนอัญมณีของคนรักเสียงดนตรี
เนื่องจากบอดี้ของ Mojo 2 นั้นทำจากอะลูมิเนียมที่ส่งผ่านความร้อนได้ดี เวลาใช้งานไปสักพักจะรู้สึกอุ่น ๆ ที่ตัวบอดีนิดหน่อยครับ ส่วนถ้าชาร์จแบตก็จะรู้สึกอุ่นมากหน่อย แต่ก็ถือว่าร้อนน้อยกว่า Mojo รุ่นแรกพอสมควร
การเชื่อมต่อสัญญาณเสียงและแบตเตอรี่
จะว่า Mojo 2 เป็นกล่องแปลงสัญญาณเสียงดิจิทัลสารพัดประโยชน์ก็ได้นะครับ เพราะในภาค Input ที่รับสัญญาณเสียงดิจิทัลเข้ามาสามารถรับได้ถึง 3 แบบคือ
- ช่อง MicroUSB หรือ USB-C สำหรับรับสัญญาณจากสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์
- ช่อง Coaxial แบบ 3.5 mm สำหรับรับสัญญาณจากเครื่องเสียง
- ช่อง Optical รับสัญญาณเสียงแบบแสงสำหรับชุด Home Theater หรือทีวี
โดยจะมีพอร์ต MicroUSB แยกอีกพอร์ตสำหรับการชาร์จเครื่องนะครับ ไม่สามารถเสียบ MicroUSB หรือ USB-C แล้วชาร์จไปด้วยในเส้นเดียวกันได้ โดยสามารถใช้งานแบบแบตเตอรี่ต่อเนื่องได้ราวๆ 8 ชั่วโมง ซึ่งช่องเสียบชาร์จนี้จะมีไฟ LED ดวงเล็ก ๆ อยู่เพื่อแสดงสถานะแบตเตอรี่และสถานะการชาร์จ โดยสีไฟที่แสดงจะหมายถึงบริมาณแบตเตอรี่ตามรูปนี้ครับ โดยถ้าเสียบไปเรื่อย ๆ จนขึ้นสีม่วงก็หมายถึงเป็นโหมดจัดการพลังงานอัตโนมัติสำหรับการใช้แบบ Desktop ที่เสียบไฟตลอดเวลาแล้วครับ
ส่วนในฝั่งสัญญาณแอนะล็อกขาออกนั้นจะมีช่อง 3.5 mm ให้ 2 ช่องสำหรับเสียบหูฟังพร้อมกัน 2 ตัว เผื่อฟังพร้อมกันกับเพื่อน (แนวคิดนี้ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนจริง ๆ) แต่ไม่สามารถปรับระดับเสียงของ 2 ช่องหูฟังแยกจากกันได้ ต้องใช้ความดังในระดับเดียวกันเท่านั้น ส่วนช่องหูฟังแบบ Balanced ทั้ง 2.5 mm และ 4.4 mm ลืมไปได้เลยครับ ไม่มี และผู้ออกแบบบอกว่าไม่จำเป็นด้วย
ส่วนในกล่องในแถมสาย USB-A เป็น MicroUSB ให้เส้นเดียวครับ ผู้ใช้ก็ต้องไปหาสายสัญญาณที่ต้องการเพิ่มเติมเอาเอง นอกจากนี้ในกล่องก็จะมีโค้ดทดลองใช้ Qobuz บริการสตรีมเพลงคุณภาพสูง (ที่ยังไม่เปิดให้บริการในไทย) และโค้ดทดลองใช้ roon โปรแกรมเล่นเพลงตัวเทพอีก 2 เดือนครับ
เข้าใจปุ่มลูกบอลไฟทั้ง 4
อย่างที่เราเล่าไปว่าจุดเด่นที่ทำให้ Mojo 2 สะดุดตาคือเจ้าลูกบอลไฟสีสดใสทั้ง 4 ปุ่มนี่แหละ (เรียกอย่างเป็นทางการว่าปุ่ม Polychromatic) คือใครใช้ครั้งแรกก็ต้องงงแหละ ถ้าไม่เปิดคู่มือก็ไม่มีทางเข้าใจได้ทั้งหมดว่ามันหมายความว่าอะไรบ้าง แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็จำไม่ยากว่าสีปุ่มทั้งหมดหมายความว่ายังไงครับ
โดยปุ่มเรียกจากซ้ายไปขวาคือ
- ปุ่ม M ใช้เปลี่ยนโหมด
- ปุ่ม – ใช้ลดระดับ
- ปุ่ม + เพิ่มระดับ
- ปุ่มเปิด-ปิด
หลังจากเราเปิด Mojo 2 แล้วรอจนเครื่องบูตแสดงพาเหรดไฟเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทั้ง 4 ปุ่มเรียบร้อย เราจะอยู่ที่โหมดแรกคือโหมดปรับระดับเสียงครับ ซึ่งสีของไฟที่ปุ่ม M จะบอกว่าเราอยู่โหมดอะไรตามตารางด้านล่างนี้ แต่ถ้าจำสีไฟไม่ได้ให้จำลำดับการกดปุ่ม M เพื่อเปลี่ยนโหมดแทนจะง่ายกว่าคือ
ซึ่งไม่ว่าจะกดปุ่ม M ไปอยู่ที่โหมดไหน ผ่านไปสักพัก Mojo 2 ก็จะวิ่งกลับมาเป็นโหมดปรับระดับเสียงโหมดแรกสุดให้เองครับ เพราะเราใช้โหมดนี้บ่อยที่สุด ซึ่งถ้าปุ่ม M มีไฟสีขาวแปลว่าเราเร่งเสียงในระดับ High-Gain สำหรับหูฟังขนาดใหญ่หรือลำโพง ส่วนถ้าเรากดลดระดับเสียงมาเรื่อยๆ จนไฟสีขาวที่ปุ่ม M ดับไปคือเราอยู่ในระดับ Low-Gain สำหรับหูฟังตัวเล็ก ๆ เช่น IEM หรือหูฟัง In-Ear ครับ
ส่วนสีของไฟตรงปุ่ม – และ + จะแสดงระดับที่โหมดนั้นๆ โดยไล่สีรุ้งไปเลย เช่นถ้าปุ่ม + แสดงสีขาวคืออยู่ในระดับสูงสุดแล้ว ส่วนถ้าปุ่ม – แสดงสีขาวก็หมายถึงอยู่ในระดับต่ำสุดเช่นกัน ซึ่งตารางที่เอามาให้ดูข้างล่างนี้คือการปรับ EQ นะครับ ที่กดปุ่ม M ให้เป็นย่าน EQ ที่ต้องการปรับก่อน แล้วแต่ละย่านสามารถปรับได้ +- 9 dB โดยดูสีไฟครับ
ส่วนถ้าอยู่ในโหมด ปรับความสว่าง/Crossfeed (ไฟที่ปุ่ม M เป็นสีน้ำเงิน) ถ้ากดปุ่ม – จะเป็นการปรับความสว่างของปุ่มไฟทั้งหมด ส่วนถ้ากด + จะเป็นการปรับเอฟเฟกต์ Crossfeed ที่เอาเสียงจากช่องสัญญาณซ้ายและขวามารวมกัน ให้เหมือนเวลาฟังเสียงจากลำโพงครับ โดยสีของไฟที่ปุ่ม + คือ ปิด/แดง/เขียว/น้ำเงิน จะหมายถึงระดับเอฟเฟกต์จาก ปิด/เล็กน้อย/ปานกลาง/มาก ครับ
และโหมดสุดท้าย ปุ่ม M เป็นไฟสีม่วง จะใช้สำหรับการล็อกปุ่ม (Lockdown) ไม่ให้ทำงานเมื่อกดโดนโดยไม่ตั้งใจ เมื่ออยู่ในโหมดนี้ให้กดปุ่ม + และ – พร้อมกัน ปุ่มของ Mojo 2 ก็จะถูกล็อก ส่วนถ้าต้องการปลดล็อกให้กดปุ่ม M ที่เป็นไฟสีม่วงอยู่ แล้วปุ่ม + และ – จะมีไฟสีม่วงขึ้นมา ก็ให้กด 2 ปุ่มนี้พร้อมกันอีกครั้งก็จะปลดล็อกครับ
แม้หลังจากใช้งานไปแล้วจะจำวิธีใช้ปุ่มได้ไม่ยาก แต่เราก็ยังไม่สามารถดูภาพรวมของการตั้งค่าได้อยู่ดี เราก็ต้องกดปุ่ม Mode ไปเรื่อย ๆ เพื่อดูว่าตอนนี้การเซ็ต Crossfeed และ EQ ทั้ง 4 ย่านเป็นอย่างไรครับ
ส่วนถ้าใครอ่านแล้วยังงง ๆ ลองดูวิดีโอวิธีใช้ภาษาไทยประกอบได้ครับ
ว่าด้วยสเปกคุณภาพเสียง, DSD และ MQA
Chord Mojo 2 นั้นเป็น DAC ที่ออกแบบมารองรับเสียงคุณภาพสูงโดยเฉพาะนะครับ โดยในแง่สเปกนั้นสามารถรองรับข้อมูลเสียงดิจิทัลที่มี Sampling Rate สูงถึง 768 kHz และสามารถรองรับสัญญาณเสียง Native DSD ได้ถึงระดับ DSD256 ใครที่มีไฟล์เพลงแบบนี้ก็สามารถส่งข้อมูลไปที่ Mojo 2 ได้โดยตรง ไม่ต้องแปลงเป็น PCM ก่อนเหมือน DAC ที่ไม่รองรับ DSD ครับ
โดยระหว่างเล่นเพลง ไฟที่ปุ่มเปิด-ปิด (Power) จะแสดงสีเพื่อบอกให้รู้ว่าเพลงที่กำลังเล่นนั้นมี Sampling Rate มาเท่าไหร่ ที่เห็นบ่อย ๆ คือไฟสีแดงที่หมายถึง 44.1 kHz หรือเพลงคุณภาพระดับแผ่น CD ส่วนถ้าเล่นเพลงในระดับ Hi-Res ก็จะเห็นไฟสีเหลือง (88.2 kHz) และสีเขียว (96 kHz) กันบ่อยๆ ครับ ซึ่งสีทั้งหมดหมายความว่าอะไรบ้าง ก็ดูตารางข้างล่างนี้ได้เลย
แต่ Mojo 2 นั้นไม่รองรับการถอดรหัสไฟล์เสียงแบบ MQA โดยตรงนะครับ เพราะแนวคิดของผู้ออกแบบนั้นไม่ตรงกับแนวคิดของ MQA (แม้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากอังกฤษเหมือนกันก็เถอะ) เพราะฉะนั้นเลิกหวังว่า Mojo 2 จะสามารถเล่น MQA ด้วยคุณภาพสูงสุดได้เลย แต่ก็สามารถรับสัญญาณเสียงระดับ 88.2 kHz หรือ 96 kHz จากแอป Tidal ที่ถอดรหัส MQA ขั้นแรก (ถอดรหัสผ่าน MQA Core) มาเล่นได้ปกติครับ
คุณภาพเสียงของ Mojo 2
มาถึงเรื่องสำคัญคือคุณภาพเสียงจาก Chord Mojo 2 กันบ้างครับ เราทดสอบ Mojo 2 ร่วมกับหูฟัง Sennheiser IE900 เป็นหลักนะครับ โดยใช้โปรแกรม Audirvana Studio ในคอมพิวเตอร์เปิดเพลงคุณภาพสูงจาก Tidal เพื่อส่งเข้า Mojo 2 ครับ (แต่ก็สามารถต่อสาย USB จากมือถือ ฟังเพลงผ่านแอปอย่าง Spotify หรือ Tidal เพื่อเล่นผ่าน Mojo 2 ได้ตามปกตินะครับ ไม่จำเป็นต้องฟังผ่านคอมพิวเตอร์อย่างเดียว)
ต้องบอกว่าเสียงจาก Mojo 2 นั้นให้เสียงที่สะอาด เป็นธรรมชาติและรายละเอียดดีมาก เป็นเสียงแบบ Energetic คือฟังแล้วสนุก ทั้งจังหวะลงเบสที่กระชับ ฉับไว จังหวะเสียงแหลมที่แม่นยำ แต่ไม่ได้เยอะเกินไปจนฟังเป็นเสียงแบบดิจิตอล เสียงยังมีโทนนวล ๆ เหมือนเครื่องเสียงแอนาล็อกอยู่ด้วย ให้มิติของเสียงกว้างและชัดเจน ถ้าเอาไปฟังเพลงที่เน้นเสียงร้องก็ให้เสียงได้หวานเลย
แต่เรื่องแบบนี้บรรยายไปยังไงก็ไม่เหมือนได้ลองฟังเองนะครับ เพราะเสียงที่ได้ยินก็ขึ้นอยู่กับหูฟังหรือลำโพงที่ต่อออกมาจาก Mojo 2 ด้วย เอาอุปกรณ์ฟังเพลงที่ฟังอยู่ประจำไปฟังเทียบกับ Mojo 2 ด้วยก็ได้ ว่าถ้าต่อแบบเดิม กับต่อผ่าน Mojo 2 ให้เสียงต่างกันจนเราพอใจหรือเปล่า ถ้ารู้สึกว่า Mojo 2 ทำให้เสียงดีขึ้นเยอะก็จัดได้เลยครับ!
ส่วนระบบ Crossfeed ที่เพิ่มมาใหม่ใน Mojo 2 ที่เอาเสียงจากช่องซ้ายและขวามาผสมกัน เลียนแบบเสียงจากลำโพงที่เสียงจากลำโพงซ้ายกับขวาจะมีการผสมกัน บอกตรง ๆ ว่าฟังยาก ถ้าปรับ Crossfeed เป็นระดับสูง จะรู้สึกถึงความแตกต่างในช่วงเสียงแหลมอยู่บ้าง อันนี้ก็ต้องลองฟังกันดูว่าชอบเสียงแบบไหน แต่ส่วนตัวจะฟังโดยปิด Crossfeed ตลอดครับ
และ EQ ที่เป็นของใหม่ใน Mojo 2 เช่นกัน Chord ดีไซน์มาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับแก้เสียงจากหูฟังให้ถูกใจมากขึ้น เช่นหูฟังตัวนี้เบสน้อยเกินไปสำหรับเรา ก็สามารถจูนให้เบสหนาขึ้นได้ ซึ่ง Chord เคลมว่าระบบ ‘UHD’ DSP ที่พัฒนามาอย่างละเอียดจะช่วยให้ปรับ EQ แล้วไม่กระทบกับคุณภาพเสียง โดยเมื่อกดปุ่ม M จนกลายเป็นสีแดง (20 Hz), เหลือง (125 Hz), เขียว (3 kHz), ฟ้า (20 kHz) จะส่งผลกับความถี่เสียงตามสีกราฟนี้ครับ
แล้วถ้าเราปรับ EQ ทั้ง 4 Band ผสมกันผลจะเป็นยังไง คำตอบคือผลของเสียงก็จะรวมกันไปครับ เช่นกราฟด้านล่างนี้เราปรับ EQ 4 Band จากเสียงต่ำไปถึงเสียงสูงดังนี้ +6 , +4 , -3 , +6 ผลลัพธ์ของเสียงที่จะได้จาก Mojo 2 คือเส้นประสีม่วง เช่นเสียงย่าน 20 Hz จะถูกปรับให้ดังขึ้น +10 dB เพราะ EQ ช่วงเสียงเบสถูกปรับ +6 , +4
ซึ่งการปรับ EQ ของ Mojo 2 นี้เห็นผลกับเสียงได้ชัดเจนกว่า Crossfeed เยอะครับ ก็เลือกจูนให้เหมาะกับหูฟังและสไตล์การฟังเพลงของตัวเองได้เลย
สรุป Chord Mojo 2 คุ้มค่าไหม
Chord Mojo 2 ตั้งราคาขายในไทยไว้ 36,000 บาท (ราคาเดิมก่อนปรับคือ 29,800 บาท) แต่ก็ตั้งราคาพิเศษไว้ 29,400 บาท ถามว่าคุ้มไหม ถ้ามองในแง่คุณภาพและวัสดุ ก็คุ้มครับ มันเหมือนเครื่องประดับเสริมมูลค่าสำหรับคนฟังเพลงได้ แต่สุดท้ายก็ต้องทดลองฟังด้วยหูของตัวเองก่อนอยู่ดี คือ Mojo 2 ให้เสียงที่ดีขึ้นกว่าการฟังผ่านมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือ DAC ในเรตราคาหลักพันแน่นอนอยู่แล้ว แต่เสียงที่ดีขึ้นนี้ ดีพอสำหรับการจ่ายเงินมากกว่า 2 หมื่นรึเปล่า อันนี้ต้องตัดสินใจกันด้วยตัวเองนะครับ
ส่วนถ้าใครอยากให้ Mojo 2 สามารถฟังเพลงแบบไร้สายได้ ยิงเพลงผ่าน Wifi มาจาก roon เล่นผ่าน Bluetooth หรือใส่ MicroSD เพื่อเล่นเพลงได้โดยตรง ก็สามารถซื้อ Chord Poly มาเสริมได้อีกในราคา 26,800 บาทครับ (แพงกว่า Mojo 2 อีก) แล้วก็มีเคสหนังสำหรับ Mojo 2 อย่างเดียวขายในราคา 4,400 บาท และเคสหนังที่สามารถใส่ได้ทั้ง Mojo 2 และ Poly ในราคา 6,900 บาทครับ ก็เลือกเอาตามกำลังทรัพย์ได้เลย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส