วันที่ 16 มิถุนายน 2022 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ขึ้นสู่ระดับ 1.5%-1.75% เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยเป็นการปรับขึ้นที่สูงสุดในรอบ 28 ปี หรือตั้งแต่ปี 1994 ตั้งเป้าดึงเงินเฟ้อลงมาแตะ 2% ให้ได้
นายเจอโรม พาวเวล (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า ในการประชุมเดือนกรกฎาคมอาจจะยังมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.5% – 0.75% และจะยังปรับขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะดูดีขึ้น
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นผลมาจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมที่สูงถึง 8.6% และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง โดยเฟดตั้งเป้าหมายที่จะดึงตัวเลขเงินเฟ้อให้ลดลงมาอยู่ที่ 2% เพื่อทำให้ตลาดแรงงานแข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้ เฟดยังบอกอีกด้วยว่าจะใช้ทุกเครื่องมือที่มีเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้ได้
ทั้งนี้ เฟดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในสิ้นปีนี้ จะอยู่ที่ 3.4% และอาจเพิ่มถึงไปถึง 3.8% ในปี 2023 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ 1.9% ในปี 2022 และ 2.8% ในปี 2023 นอกจากนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจก็อาจจะเติบโตช้าลงจนเหลือเพียง 1.7% ซึ่งต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เช่นกัน
ความแข้มงวดที่มากขึ้นของนโยบายการเงิน การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมไปถึงราคาสินค้าที่ยังคงสูงขึ้น ต่อเนื่อง เป็นสัญญาณของภาวะที่เรียกว่า ‘ภาวะซบเซา’ หรือ ‘Stagflation’
อย่างไรก็ตาม คำแถลงการณ์ของเฟดโดยรวมก็ยังคงมองโลกในแง่ดี โดยมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจกำลังฟื้นฟูขึ้นจากไตรมาสแรก มีอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้น เป็นผลกระทบจากโรคระบาดที่คลี่คลาย ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่สงครามเป็นปัจจัยกดดันอุปทานน้ำมัน นอกจากนี้ เฟดยังคาดการณ์อีกว่าอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าจะลดลงอย่างรวดเร็วไปถึง 2.6%
ที่มา: CNBC
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส