ประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤติการขาดแคลนด้านอาหารและพลังงานกลายมาเป็นจุดสนใจบนโลกโซเชียลอีกครั้ง หลังจากที่มีนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและโลกร้อน บุกเข้าไปสาดมันฝรั่งบดใส่ภาพวาดงานศิลปะของศิลปินชื่อดังกลางพิพิธภัณฑ์ในเยอรมนี
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีคลิปวิดีโอที่ปรากฏให้เห็นภาพของชายหญิงคู่หนึ่งที่ใส่เสื้อกั๊กสีส้ม ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ประท้วงที่มีชื่อว่า รุ่นสุดท้าย หรือ ‘Last Generations’ (Letzte Generation) กลุ่มนักเคลื่อนไหวประท้วงด้านสภาวะสิ่งแวดล้อมของเยอรมนี ได้ก่อการอุกอาจเข้าไปสาดมันฝรั่งบดกระป๋องใส่งานศิลปะภาพวาดกองธัญพืช (Grainstacks – Les Meules) อายุ 130 ปี ผลงานของจิตรกรแนวอิมเพรสชันนิสต์ชาวฝรั่งเศส โกลด โมเน (Claude Monet) ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์บาเบลินี (Barberini Museum) เมืองพอตสดัม (Potsdam) รัฐบรันเดินบวร์ก (Brandenburg) เยอรมนี
โดยก่อนที่นักเคลื่อนไหวคู่นี้บุกเข้าไปสาดมันฝรั่งบดกระป๋อง พวกเขาได้ลักลอบกดกริ่งสัญญาณเตือนเพื่อหันเหความสนใจจากเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะลงมือสาดมันฝรั่งบดไปที่ชิ้นงานศิลปะนั้น และหลังจากก่อการแล้ว พวกเขาก็นั่งคุกเข่าลง ก่อนจะเทกาวใส่ที่ฝ่ามือแล้วแปะมือติดกับผนังด้านล่างของชิ้นงานภาพวาดที่เปรอะไปด้วยสีเหลืองของมันฝรั่งบด ก่อนที่พวกเขาจะกล่าวขึ้นว่า :-
“ผู้คนกำลังหิวโหย หนาวเหน็บ และตายลงอย่างช้า ๆ พวกเรากำลังเผชิญวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ แต่สิ่งที่พวกคุณกลัวกันคือซุปมะเขือเทศกับมันฝรั่งบดบนรูปภาพงั้นน่ะเหรอ คุณรู้ไหมว่าฉันกลัวอะไร ฉันกลัวสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า เมื่อถึงปี 2050 เราจะไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวให้อิ่มท้องได้อีกต่อไป การที่ฉันสาดมันฝรั่งบดใส่ภาพแบบนี้มันทำให้พวกคุณหันมาฟังพวกเราบ้างไหม ? รูปภาพนี้มันจะไม่ได้มีค่าอะไรเลย ถ้าเรายังคงต้องดิ้นรนแย่งชิงอาหารกันเพื่อให้ท้องอิ่ม เมื่อไหร่พวกคุณจะเข้าใจและเลิกทำตัวเหมือนกำลังมีชีวิตปกติสักที”
หลังจากนั้น ทางกลุ่ม Last Generations ก็ได้เผยแพร่วิดีโอผ่านทางทวิตเตอร์ของพวกเขา โดยกล่าวว่าต้องการจะใช้ภาพวาดของโมเนต์เป็นเหมือนเวทีและให้สาธารณชนรับรู้สารของพวกเขา ถ้าภาพวาดหนึ่งภาพเท่ากับมันฝรั่งบด หรือซุปมะเขือเทศจะทำให้สังคมตระหนักได้ว่า ฟอสซิลกำลังคร่าชีวิตพวกเรา ฉะนั้น เราก็จะขอมอบมันฝรั่งบดให้กับภาพนี้ และในอีกทวีตหนึ่ง พวกเขากล่าวว่า “อะไรมีค่ามากกว่ากัน ศิลปะหรือชีวิต ? โมเนต์รักธรรมชาติ และเก็บภาพความงามอันเปราะบางเหล่านี้ไว้ในผลงานของเขา แต่ทำไมเราจึงกลัวภาพเหล่านี้เสียหาย มากกว่าการที่โลกของเราถูกทำลาย”
ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวทั้งสองออกไปจากพื้นที่ และได้แจ้งความเอาผิดในข้อหาบุกรุก และทำลายทรัพย์สิน ทางด้าน ออร์ทรูด เวสไธเดอร์ (Ortrud Westheider) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพวาดอยู่ภายในกรอบที่มีกระจกใสกั้น จึงทำให้ตัวภาพไม่ได้รับความเสียหาย โดยทางพิพิธภัณฑ์เองก็ได้นำเอารูปเดิมนี้กลับมาจัดแสดงใหม่ตามเดิมแล้วเมื่อวันพุธที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ในขณะที่ผนังที่ทั้งคู่ใช้มือทากาวแปะกับผนังนั้น เธอยืนยันว่าแกะออกได้ไม่ยากนัก
และเวสไธเดอร์ยังได้กล่าวถึงการประท้วงด้วยว่า “ฉันเองก็พอจะเข้าใจเจตนาของนักเคลื่อนไหวที่มองปัญหาวิกฤติด้านสภาพอากาศว่าเป็นเรื่องที่เร่งด่วน แต่ฉันเองก็ตกใจเหมือนกันที่พวกเขาเลือกใช้วิธีนี้ในการเรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจต่อข้อเรียกร้องของพวกเขา”
ภาพกองธัญพืชที่ถูกกลุ่มประท้วงสาดมันฝรั่งบดใส่นี้ เป็นหนึ่งในชิ้นงานซีรีส์ภาพวาดชุด ‘Grainstacks’ (Les Meules) ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบแนวอิมเพรสชันนิสต์ (Impressionism) โดยจิตรกรชื่อดังชาวฝรั่งเศส โกลด โมเน (Claude Monet) ที่วาดขึ้นในช่วงปี 1890 หรือเมื่อ 130 ปีที่แล้ว ในระหว่างที่เขาอาศัยอยู่ในเมืองชนบทที่มีชื่อว่า จิแวร์นี (Giverny) แคว้นนอร์มังดี (Normandy) ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส โดยเขาได้ถ่ายทอดภาพของกองข้าวสาลีที่ชาวนาเก็บเกี่ยวแล้วรวมกันไว้เป็นฟ่อน ๆ ในช่วงเวลาและสภาพแสงที่แตกต่างกันไป ภาพชุดนี้ถูกตั้งราคาขายในตลาดประมูลด้วยมูลค่าสูงถึง 110 ล้านเหรียญ หรือราว 4,147 ล้านบาท
เหตุการณ์การประท้วงสาดมันฝรั่งบดใส่งานศิลปะของกลุ่ม Last Generations นี้ เป็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงและต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่มี 2 นักเคลื่อนไหวหญิงจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน ‘Just Stop Oil’ ได้บุกเอาซุปมะเขือเทศสาดใส่งานศิลปะภาพวาดดอกทานตะวัน (Sunflowers) ผลงานเลื่องชื่อของ วินเซนต์ ฟาน ก็อก (Vincent van Gogh) หรือแวนโก๊ะ ที่จัดแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ (The National Gallery) ของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อแสดงออกต่อต้านการใช้พลังงานฟอสซิลที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศโลก และประท้วงรัฐบาลอังกฤษยุติการอนุมัติสัมปทานการสำรวจและผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซธรรมชาติแก่เอกชน
โดยที่นักเคลื่อนไหวทั้งสองคนนี้ก็ใช้วิธีการทากาวบนมือและแปะกับผนังเช่นเดียวกัน ก่อนที่ทั้งคู่จะถูกดำเนินคดีข้อหาทำลายทรัพย์สิน (ทำให้กรอบรูปเสียหาย) และข้อหาบุกรุก ส่วนตัวชิ้นงานศิลปะไม่ได้รับความเสียหายเพราะมีกระจกป้องกัน
ที่มา: The Guardian, NBC News
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส