นักวิจัยในอิสราเอลได้ค้นพบวิธีการตัดต่อพันธุกรรมไก่ให้ออกไข่มาเป็นไข่ที่จะฟักออกมาเป็นไก่ตัวเมียเท่านั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมไก่ทั่วโลก และยังหวังลดอัตราการฆ่าไก่ตัวผู้ที่สูงมากในอดีตที่ผ่านมา
เนื่องจากไก่ตัวผู้นั้นไม่สามารถวางไข่ได้ แถมยังมีเนื้อน้อยกว่าไก่ตัวเมียมาก ไก่เหล่านี้เลยไม่เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่นัก และนำไปสู่การฆ่าไก่ตัวผู้ปีละหลายพันล้านตัวทั่วโลก เพราะฉะนั้น เมื่อมองในมุมมองการผลิตแล้ว ถ้าเกิดเราสามารถลดอัตราการเกิดของไก่ตัวผู้ลงได้ และมีไก่ตัวเมียมากขึ้น ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตได้อย่างมาก แถมยังลดอัตราการฆ่าไก่ตัวผู้จำนวนมหาศาลลงได้อีกด้วย
ยูวาลล์ ซินนามอน (Yuval Cinnamon) หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยวอลคานี (Volcani) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยการเกษตรในอิสราเอล ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ไก่ที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมนี้มีชื่อว่า ‘แม่ไก่โกลดา’ (Golda Hens) และมันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสวัสดิภาพของไก่ทั่วโลก
เขากล่าวว่าไก่พันธุ์นี้เป็นการปฎิวัติอุตสาหกรรมไก่ โดยมันไม่ได้เพียงมีประโยชน์ต่อไก่หลายพันล้านตัวทั่วโลก แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อทุกคนบนโลกอีกด้วย ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคจะได้ไก่และไข่เหมือนกับที่กินกันปกติทุกอย่าง เพียงแต่ว่าไข่เหล่านั้นจะต้องผ่านการฉายแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นขั้นตอนในการทำให้ไข่ไม่ฟักออกมาเป็นตัวผู้เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังไม่ถูกตีพิมพ์อย่างเป็นทางการเนื่องจากซินนามอนและทีมต้องการจะจดลิขสิทธิ์เทคโนโลยีนี้ก่อน หมายความว่าเทคโนโลยีนี้ยังไม่ได้ถูกตรวจสอบจากนักวิทยาศาสตร์อิสระจากภายนอก แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสวัสดิภาพสัตว์แห่งอังกฤษ (CIWF) ที่ปกติแล้วจะต่อต้านการตัดต่อพันธุกรรมสัตว์ในฟาร์ม แต่พวกเขาเห็นด้วยกับเทคโนโลยีใหม่นี้
สำหรับคนที่ต่อต้านความโหดร้ายของการทำฟาร์มสัตว์ วิธีนี้อาจไม่ได้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนเท่าไรนัก แต่อย่างน้อยก็น่าจะยังดีกว่าการฆ่าลูกไก่ตัวผู้หลายล้านตัวที่เพิ่งฟักออกจากไข่อย่างแน่นอน และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำฟาร์มไก่อยากมากอีกด้วย
ที่มา: Futurism
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส