อย่างที่ทราบกันดีว่า เมื่อปลายปี 2022 ที่ผ่านมา แฟน ๆ ของซีรีส์ไซไฟสุดล้ำลึกอย่าง ‘1899’ ผลงานใหม่จากทีมงานผู้สร้างซีรีส์หนักสมองอย่าง ‘Dark’ ที่เผยแพร่บน Netflix เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา ต่างต้องช็อกไปตาม ๆ กัน เมื่อครีเอเตอร์ของซีรีส์อย่าง บารัน โบ โอดาร์ (Baran bo Odar) และ ยันท์เย ฟรีเซอ (Jantje Freise) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ซีซันที่ 2 ของซีรีส์ ‘1899’ จะไม่ได้รับการสร้างต่อ แม้ว่าจะมียอดผู้ชมและคำวิจารณ์ที่อยู่ในระดับที่ดีก็ตาม
สิ่งเหล่านี้ย่อมเกิดคำถามต่อบรรดาแฟน ๆ และก็เรียกได้ว่าเป็นข้อสงสัยของผู้ที่เป็นสมาชิก Netflix มาตั้งแต่ที่บริษัทเริ่มดำเนินการว่า พวกเขาใช้เกณฑ์อะไรบ้างในการตัดสินว่า ออริจินัลซีรีส์ของ Netflix เรื่องใดจะได้ไปต่อ ได้อนุมัติสร้างซีซันต่อ แม้ว่าคำวิจารณ์และอาจค่อนไปทางกลาง ๆ ไม่ได้เด่นในแง่ของกระแสชื่นชม และซีรีส์เรื่องใดที่อาจไม่ได้ไปต่อ ทั้งที่ซีรีส์เรื่องนั้นอาจได้รับคำชมทั้งจากผู้ชมและนักวิจารณ์ว่าดีมาก ๆ ซึ่งหลายครั้งซีรีส์บางเรื่องก็โดนตัดจบ เล่นเอาคนดูต้องผิดหวังเพราะเนื้อเรื่องที่ถูกตัดไปแบบห้วน ๆ
ซึ่งถ้าย้อนดูเมื่อช่วงปี 2022 ที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า Netflix ได้ทำการตัดจบซีรีส์ ประกาศว่าจะไม่มีการสร้างซีซันต่อไปแล้วหลายเรื่อง อาทิ ‘Resident Evil‘, ‘First Kill’, ‘Warrior Nun‘, ‘The Midnight Club’ และ ‘Blockbuster’ โดย Forbes ได้ยกกรณีตัวอย่างในการยกเลิกซีรีส์วัยรุ่น ‘First Kill’ ที่สตรีมซีซันแรกบน Netflix เมื่อเดือนมิถุนายน 2022 จนเมื่อเดือนสิงหาคม ก็มีประกาศว่าซีรีส์เรื่องนี้ถูกยกเลิกการสร้างภาคต่อ หลังจากที่สตรีมไปได้เพียงซีซันดียว ทำให้หลายคนอาจสงสัยและตั้งคำถามว่า ทำไมซีรีส์รอมคอมชื่อดังอีกเรื่องที่มียอดการรับชม (หน่วยเป็นชั่วโมง) น้อยกว่าอย่าง ‘Heartstopper’ กลับได้รับการต่ออายุไปอีก 2 ซีซัน*
โดยมาตรวัดดังกล่าวที่ Forbes อ้างถึงนี้ถูกเรียกว่า อัตราการดูจนจบ (Completion Rate) ซึ่งเป็นอัตราที่วัดจากยอดการดูจนจบซีซันของซีรีส์แต่ละเรื่องที่ผู้ชมเปิดดู หากซีรีส์เรื่องใดมีอัตราการดูจบทั้งซีซันสูงกว่า 50% ก็จะถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าซีรีส์เรื่องใดมียอดอัตราการดูจนจบของผู้ชมในระดับที่ต่ำกว่า 50% แม้ว่าจะมีอัตราการเปิดเข้ามาดูเป็นจำนวนมากก็ตาม ก็อาจวิเคราะห์ในเชิงสถิติได้ว่า ซีรีส์เรื่องนั้น ๆ เป็นซีรีส์ที่คนส่วนใหญ่ดูไม่จบ ทำให้ยอดของผู้ชมที่ชื่นชอบซีรีส์ อาจมีตัวเลขต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น โดย Forbes ยังได้เปิดเผยอัตราการดูจนจบของซีรีส์ Netflix เรื่องต่าง ๆ เปรียบเทียบกันดังนี้
ซีรีส์ที่ ‘ได้รับการสร้างซีซันต่อ’ :-
‘Heartstopper’ (อัตราการดูจบ 73%)
‘The Lincoln Lawyer’ (อัตราการดูจบ 56%)
‘Squid Game’ (อัตราการดูจบ 87%)
‘Arcane’ (อัตราการดูจบ 60%)
‘Love Death + Robots’ (อัตราการดูจบ 67%)
ซีรีส์ที่ถูก ‘ยกเลิก’ การสร้างซีซันต่อ :-
‘Resident Evil’ (อัตราการดูจบ 45%) (เคยติดอันดับ 1 ใน Top 10)
‘First Kill’ (อัตราการดูจบ 44%)
‘The Irregulars’ (อัตราการดูจบ 41%)
‘1899’ (อัตราการดูจบ 32%) (ติดอันดับ 2 ผู้ชมมากที่สุดบน Netflix/ขึ้นอันดับ 1 หลายประเทศ)
ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อัตราการดูจนจบของซีรีส์ที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้สร้างภาคต่อโดยเฉลี่ย จะมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 30-40% อย่างกรณีของซีรีส์ ‘1899‘ แม้จะมียอดผู้ชม ตามที่รายงานบนเว็บไซต์ FlixPatrol สูงถึง 87,890,000 ชั่วโมง (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2022) และสร้างสถิติยอดผู้ชม 79,270,000 ชั่วโมงภายใน 4 วัน แต่กลับมีอัตราผู้ชมซีรีส์ที่ดูจนจบครบทั้ง 8 ตอนเพียง 32% เท่านั้น
ซึ่งสามารถวิเคราะห์เบื้องต้นได้ว่า เมื่อซีรีส์เหล่านี้มีคนดูจบต่ำกว่า 50% และโดยปกติ หากซีรีส์เรื่องใดมีสร้างภาคต่อ แนวโน้มอัตราการดูจนจบก็จะลดลงไปอีก ทำให้ Netflix มองว่า อาจจะไม่คุ้มทุนนักหากจะฝืนลงทุนสร้างภาคต่อเพื่อคนดูจำนวนเพียง 30-40% เหล่านั้น ซึ่งตรงกับรายงานที่เปิดเผยว่า แผนสร้างซีซันที่ 2 ของซีรีส์ ‘1899’ ต้องล่มกลางคัน เนื่องจากเป็นซีรีส์ที่ใช้ทุนด้านโปรดักชันสูงมาก แต่กลับมียอดจำนวนคนดูน้อยกว่าที่คาด แม้วว่าจะมีกระแสผู้ชม และกระแสจากนักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับดี
แน่นอนว่า เกณฑ์การชี้วัดจากอัตราการดูจนจบนี้ คงไม่ใช่เพียงปัจจัยหลักปัจจัยเดียวที่จะชี้วัดได้ว่า ซีรีส์เรื่องใดควรจะได้ไปต่อ หรือซีรีสเรื่องใดไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนสร้างภาคต่ออีก เพราะรายงานของ Forbes ยังได้เปิดเผยอีก 2 ปัจจัยที่จะทำให้ซีรีส์ได้ไปต่อหรือไม่ นั่นก็คือ ความยาวของเนื้อหาในแต่ละตอน เพราะถ้าเปรียบเทียบกัน ซึรีส์ ‘First Kill’ นั้นจะมีความยาวต่อตอนที่ประมาณ 45-50 นาที ในขณะที่ซีรีส์ ‘Heartstopper’ มีความยาวต่อตอนเฉลี่ยที่ตอนละ 30 นาที ซึ่งความยาวต่อตอนที่สั้นกว่า ก็ทำให้มีแนวโน้มที่ผู้ชมจะดูติดต่อกันแบบยาว ๆ (Binge Watching) จนจบได้ง่ายกว่าซีรีส์ที่มีความยาวต่อตอนมากกว่า
และอีกปัจจัยที่สำคัญก็คือเรื่องของงบประมาณ เพราะซีรีส์ที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่า ก็จะมีแนวโน้มในการอนุมัติสร้างซีรีส์ต่อได้ง่ายกว่าซีรีส์ที่ใช้ทุนสูง ยกตัวอย่างเช่น ซีรีส์ ‘The Lincoln Lawyer’ ที่ใช้ทุนสร้างน้อยกว่า ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการอนุมัติซีซันต่อมากกว่าซีรีส์ที่ลงทุนด้านโปรดักชันและสเปเชียลเอฟเฟกต์ด้วยเม็ดเงินมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น ‘Resident Evil‘ และ ‘1899‘ ที่ใช้ทุนสร้างมหาศาลถึง 60 ล้านยูโร (64 ล้านเหรียญ)
แน่นอนว่า ทั้งสามปัจจัยก็ยังถือว่าไม่ใช่ปัจจัยกลุ่มเดียวที่จะชี้วัดถึงการอนุมัติสร้างภาคต่อของซีรีส์แต่ละเรื่อง (และไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดในเชิงคุณภาพของคอนเทนต์ซีรีส์เรื่องนั้น ๆ ได้ด้วย) แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า Netflix เป็นบริษัทที่ตัดสินใจโดยอ้างอิงจากการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้ (Data-Driven) เป็นหลักอยู่แล้ว
และรวมทั้งการที่ Netflix ต้องการผลักดันให้ผู้ชมเกิดการดูแบบต่อเนื่อง (Binge Watching) ด้วยการปล่อยซีรีส์ทุกตอนทั้งซีซันออกมาให้ดูต่อกันแบบยาว ๆ แต่อย่างไรก็ตาม หากซีรีส์เรื่องนั้น ๆ มียอดการชมที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งใช้เงินลงทุนที่สูง หรือแม้แต่การมีกระแสคำวิจารณ์ของซีรีส์ที่อยู่ในขั้นย่ำแย่มาก ๆ การลงทุนสร้างซีซันต่อก็ย่อมไม่คุ้มค่านัก การลงทุนสร้างคอนเทนต์ใหม่ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนดู และเพื่อกระตุ้นยอดสมาชิกใหม่ ๆ จึงน่าจะตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจมากกว่า
*หมายเหตุ:
ซีรีส์ ‘First Kill‘ มียอดการรับชมสูงสุด 48,770,000 ชั่วโมง (ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2022)
ซีรีส์ ‘Heartstopper‘ มียอดการรับชมสูงสุด 23,940,000 ชั่วโมง (ณ วันที่ 25 เมษายน 2022)
ที่มา: FlixPatrol
ที่มา: Forbes, Unilad, Inverse, What’s on Netflix, What’s on Netflix(2)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส