19 พฤษภาคม นาซาประกาศบนหน้าเว็บไซต์ว่าได้เลือกบลูออริจิน (Blue Origin) โดยมีเพื่อนร่วมทีม ได้แก่ Lockheed Martin, Draper, Boeing, Astrobotic และ Honeybee Robotics เป็นผู้ออกแบบและพัฒนาระบบลงจอดบนดวงจันทร์เป็นรายที่ 2 ในโครงการอาร์เทมิส (Artemis) ตามติดสเปซเอ็กซ์ (SapceX) เพื่อสนับสนุนภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ในระยะยาว ซึ่งได้เข้าร่วมการประมูลรอบใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 2022 หลังจากได้แพ้การประมูลในรอบแรกให้แก่สเปซเอ็กซ์
นาซามีเป้าหมายใช้สตาร์ชิปยานลงจอดของสเปซเอ็กซ์ และยานลงจอดของบลูออริจินในการขนส่งนักบินอวกาศระหว่างสถานีเกตเวย์ (ที่กำลังพัฒนา) กับพื้นผิวบนดวงจันทร์ เพื่อต้องการไปตั้งฐานถาวรบนดวงจันทร์
สัญญาที่บลูออริจินได้รับจะต้องออกแบบ พัฒนา ทดสอบ และพิสูจน์ว่ายานลงจอดเป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งจะต้องมีการสาธิตการลงจอดที่ไร้ผู้โดยสารลงบนดวงจันทร์ 1 ภารกิจ และจะต้องสาธิตการลงจอดโดยมีผู้โดยสารในภารกิจ Artemis V ในปี 2029 ซึ่งมูลค่าในสัญญาทั้งหมด 3,400 ล้านเหรียญ (116,728 ล้านบาท)
โครงการอาร์เทมิสมีเป้าหมายเพื่อนำนักบินอวกาศสหรัฐฯ กลับไปเหยียบพื้นผิวบนดวงจันทร์อีกครั้ง และจะตั้งฐานบนดวงจันทร์เพื่อขยายการสำรวจไปยังดาวอังคาร โดยได้ทำภารกิจ Artemis I ทดสอบปล่อยจรวด SLS ขับเคลื่อนแคปซูล Orion ที่ไร้นักบินอวกาศควบคุมไปโคจรรอบดวงจันทร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 ได้สำเร็จ และไม่เกินปี 2024 จะทำภารกิจ Artemis II ในการส่งนักบินอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ด้วยแคปซูลอวกาศ Orion
ภารกิจ Artemis III แคปซูลอวกาศ Orion จะนำ 4 นักบินอวกาศไปจอดเทียบท่าบนสถานีเกตเวย์ที่โคจรรอบดวงจันทร์และยานสตาร์ชิปของสเปซเอ็กซ์จะพานักบินอวกาศลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปี 2025 และภารกิจ Artemis IV ยานสตาร์ชิปจะได้ส่งนักบินอวกาศชุดที่ 2 ลงไปเหยียบบนดวงจันทร์ในปี 2027
ทั้งนี้ก่อนที่นาซาจะเลือกบลูออริจินพัฒนายานลงจอดบนดวงจันทร์และทำภารกิจ Artemis V เมื่อเดือนเมษายน 2021 นาซาได้เลือกสเปซเอ็กซ์พัฒนายานลงจอดบนดวงจันทร์ มูลค่าสัญญาประมาณ 2,900 ล้านเหรียญ (99,652 ล้านบาท) เพียงรายเดียว จนถูกคู่แข่งคือ บลูออริจิน และไดนาติกส์ ประท้วงว่าไม่เป็นธรรม แม้ศาลจะตัดสินว่านาซาทำถูกต้อง แต่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศที่ควรจะมีบริษัทรายที่ 2 เป็นทางเลือก นาซาจึงประกาศเปิดประมูลตัวเลือก B เมื่อเดือนเมษายน 2022
นาซาเผยว่าการออกแบบยานลงจอดบนดวงจันทร์ที่แตกต่างกัน 2 ตัว จะช่วยตอบสนองความต้องการในภารกิจที่ต่างกันได้ ทำให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น (คือถ้าตัวหนึ่งมีปัญหาก็ยังมีอีกตัวทำภารกิจแทนได้) และทำให้มั่นใจได้ว่ามีการลงจอดบนดวงจันทร์ได้อย่างสม่ำเสมอ
ที่มา : techcrunch.com และ nasa.gov
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส