ประเทศไทยประสบความสำเร็จในเรื่องอวกาศไปอีกขั้น หลังจากได้มีการปล่อยดาวเทียมธีออส-2 (THEOS-2) หรือดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติโลก ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่เมืองคูรู (Kourou) ในเฟรนช์เกียนา (French Guiana) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเช้าวันที่ 9 ตุลาคม 2023 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดาวเทียมธีออส-2 ผลิตโดยบริษัทแอร์บัส (Airbus) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) ที่แบไต๋เคยไปถ่ายทำการทดสอบดาวเทียมธี-ออส 2A มาแล้ว
นายฌอง-มาร์ค นาซร์ (Jean-Marc Nasr) หัวหน้าฝ่ายระบบอวกาศของแอร์บัสกล่าวว่า “ดาวเทียมธีออส-2 เป็นดาวเทียมที่มีความสามารถในการถ่ายภาพความละเอียดสูงถึง 50 เซนติเมตร/พิกเซล (ดาวเทียมธีออส-2A ถ่ายภาพความละเอียด 100 เซนติเมตร/พิกเซล) ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงยุทธภูมิยุทธศาสตร์แบบความละเอียดสูงได้”
ดาวเทียมธีออส-2 สร้างขึ้นตามแบบของดาวเทียมธีออส-1 หรือดาวเทียมไทยโชตที่คนไทยรู้จัก และปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งใช้งานภาพถ่ายดาวเทียมมานานกว่า 10 ปี แต่โครงการธีออส-2 นี้จะทำให้ไทยได้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมแบบออฟติคคอล (Optical) และเรดาร์ (Radar) รวมถึงข้อมูลทางภูมิศาสตร์มากขึ้น
นอกจากนี้ภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออส-2 จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับระบบการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติโลกของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งช่วยซัพพอร์ตการทำงานทางสังคม การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ไปจนถึงความมั่นคงของประเทศได้ แบไต๋ขอยินดีกับความสำเร็จของคนไทยในครั้งนี้ด้วยครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส