เมื่อช่วงหลังงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา มีประเด็นหนึ่งที่คนพูดถึงกันอย่างมากที่ว่าคนไทยรุ่นใหม่ Gen Z ชอบอ่านหนังสือเป็นเล่ม ส่วนคนสูงวัยชอบอ่านหนังสือผ่าน e-Reader (E-book) เพราะมันย่อขยายตัวหนังสือได้

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแค่ที่ไทยเท่านั้น ดูเหมือนว่า Gen Z ในหลาย ๆ ประเทศก็เริ่มหันกลับมารักการอ่านมากขึ้น และเลือกหยิบจับแบบเป็นเล่มมากกว่าด้วย เพราะอะไรกัน?

ทั้ง ๆ ที่ Gen Z (คนที่เกิดระหว่างปี 1997-2015) เป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่ชีวิตเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี เห็นโทรศัพท์สมาร์ตโฟนในชีวิตประจำวัน หลายคนใช้ชีวิตติดกับหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน หรือแม้แต่เพื่อความบันเทิง แต่พอเป็นเรื่องการอ่านหนังสือ กลับเลือกหยิบหนังสือเล่มมากกว่าหนังสือดิจิทัล (E-book)

จากรายงานของ McKinsey บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการที่มีชื่อเสียงในอเมริกา พบว่ายอดขายหนังสือในปี 2021 เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 843 ล้านเล่ม แม้ปี 2022-2023 ตัวเลขจะลดลงมาเล็กน้อยที่ 789 ล้านเล่ม และ 767 ล้านเล่ม แต่ก็ถือว่าสูงกว่ายอดขายในช่วง 2010-2020 อยู่ดี

โดย McKinsey อธิบายว่าสิ่งที่ทำให้ยอดขายมันเพิ่มขึ้นแบบนี้ เพราะหนังสือเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ ตามโซเชียลมีเดียมีการแชร์เรื่องหนังสือกันเยอะขึ้น รวมถึงยังมีกระแสหนังสือดัง ๆ ที่มีคนเอามาพูดถึงบน TikTok และติดแฮชแท็ก ‘BookTok’ อีกด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ Gen Z จะเป็นเจเนอเรชันที่ชอบใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และใช้หน้าจอเป็นส่วนใหญ่ในช่วงเวลาว่าง แต่พวกเขากลับเลือกอ่านหนังสือแบบเล่มมากกว่าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาดหนังสือ Nielsen BookData ในสหราชอาณาจักร ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2021 ถึงพฤศจิกายน 2022 พบว่ากลุ่มผู้ซื้อหนังสือวัย 13-24 ปี ถึง 80% เลือกซื้อหนังสือแบบเล่ม ขณะที่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มีเพียง 14% เท่านั้น

“ไม่มีอะไรมีเสน่ห์เหมือนการเปิดหนังสือเล่มบนโซฟาหรือชายหาด” เมดาลิน บอยด์ (Madalyn Boyd) วัย 23 ปี จากรัฐมิชิแกนให้สัมภาษณ์กับสื่อ Business Insider เธอบอกว่า แม้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะราคาถูกและสะดวกในการพกพา แต่ก็ยังชอบอ่านหนังสือแบบเล่มมากกว่า “กลิ่นของหนังสือเล่มทำให้รู้สึกมีความเป็นส่วนตัว” บอยด์กล่าวเสริมพร้อมทั้งบอกว่าเธอรักการไปห้องสมุดและร้านหนังสือ

หวัง ซัม ลัก (Wang Sum Luk) นักศึกษาวัย 21 ปี จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดก็มีความคิดเห็นคล้ายกัน เขาเคยอ่านหนังสือแบบ E-book มาก่อน แต่ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยสะดวก และชอบหนังสือแบบเล่มมากกว่า เพราะอ่านแล้วไม่เมื่อยตา แถมยังสามารถจดจ่อกับการอ่านได้ดีกว่าเมื่อปิดคอมพิวเตอร์

“ผมชอบใช้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเพื่อหาหนังสือในแต่ละสัปดาห์สำหรับการเรียน” ลักกล่าว พร้อมยืนยันว่าในฐานะนักศึกษาที่ต้องอ่านหนังสือประมาณครึ่งโหลต่อสัปดาห์ การอ่านหนังสือแบบเป็นเล่มนั้นมีประโยชน์มากกว่าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับเขาอย่างชัดเจน

การสำรวจของสถาบันวิจัย Pew Research จากคนอายุ 18-29 ปีในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2021 ก็พบว่ากว่า 70% อ่านหนังสือเล่ม ขณะที่เพียง 42% อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ โดยรวมแล้วมากกว่า 80% ของกลุ่มวัยนี้อ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นแบบใด ซึ่งถือเป็นสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่น ๆ

ลิลี่ ดิวแรนซ์ (Lili Dewrance) วัย 23 ปีในลอนดอน บอกกับ Business Insider ว่าการอ่านหนังสือเป็นเล่มเหมือนเป็น ‘Digital Detox’ สำหรับตัวเอง เป็นช่วงจังหวะได้ห่างจอและได้พักสายตา

นอกจากนั้นแล้ว ดิวแรนซ์ยังบอกอีกว่าการไปซื้อหนังสือที่ร้านยังให้ความรู้สึกเหมือนได้สนับสนุนร้านหนังสือในพื้นที่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากการโหลดหนังสือแบบดิจิทัล

ในทางกลับกัน ความนิยมของ E-book กลับเติบโตขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุอย่างเห็นได้ชัด เว็บไซต์ Amazon ผู้ผลิตเครื่องอ่าน E-book อย่าง Kindle บอกว่าตอนนี้ประมาณ 1/3 ของผู้ใช้ Kindle นั้นอายุ 55 ปีหรือสูงกว่านั้น (Baby Boomer)

สื่อ The Wall Street Journal รายงานว่าผู้ใช้งานกลุ่มที่สูงอายุนั้นรู้สึกว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวก ไม่ต้องกังวลเวลามีน้ำมากระเด็นใส่ หรือบางครั้งตื่นขึ้นมากลางดึก ก็สามารถหยิบมาเปิดอ่านได้เพราะหน้าจอมีไฟสว่าง ไม่ต้องเปิดไฟหัวเตียงและรบกวนคนรักของตัวเองที่นอนหลับอยู่

แน่นอนว่าขนาดของตัวหนังสือเองที่ปรับได้ตามความต้องการก็เป็นฟังก์ชันที่ช่วยให้การอ่านนั้นเพลิดเพลินมากยิ่งขึ้นด้วย

อเล็กซานดรา แลงจ์ (Alexandra Lange) นักวิจารณ์และนักเขียนด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบชาวอเมริกัน ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในเว็บไซต์ Bloomberg บอกว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ (รวม Gen Z และ Millennials) ชอบไปร้านหนังสือ เพราะคิดถึงช่วงเวลาดี ๆ สมัยที่ตัวเองโตขึ้นมา (Nostalgia)

เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร สถานะทางสังคม สีผิว หรืออายุเท่าไหร่ก็ตาม ยิ่งในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นคงทางสภาวะทางเศรษฐกิจ การเมือง ความแตกแยก และโลกออนไลน์ที่เร่งรีบกดดัน

สำหรับหลาย ๆ คน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวหรือคนที่ไม่มีตาข่ายการเงินที่มั่นคงในชีวิต ต้องเจอความเครียดด้านการเงิน สังคมมากมาย การได้ย้อนกลับไปสู่ความรู้สึกตอนเป็นเด็กที่ปลอดภัย อบอุ่น และชื่นชอบในอดีต ถือเป็นหลุมหลบภัยที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

ที่มา:
lithub
weforum
twosides
WSJ
McKinsey
Business Insider
Pubat
Bloomberg
ฐานเศรษฐกิจ
Business Insider
Statista
Pew Research
Bloomberg