จากกรณีข่าว ครม. อนุมัติ ปลดล็อก ‘โซลาร์รูฟท็อป’ ทุกกำลังการผลิต ไม่ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2567 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการร้านค้า และธุรกิจขนาดกลางถึงใหญ่ สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้สะดวกและไม่เสียเวลาในการขอใบอนุญาตโรงงาน ถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ น.ส. พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากเดิมที ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ร้านค้า ภาคอุตสาหกรรม ภาคอสังหาริมทรัพย์ ศูนย์การค้า โรงแรม และภาคบริการ ตอนนี้ต่างมีความต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น ซึ่งตามข้อกำหนด พ.ร บ. โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 (รง. 4) กำหนดว่าการติดตั้ง ‘โซลาร์รูฟท็อป’ ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ หรือ 1 เมกะวัตต์ ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต (รง. 4) ทั้งหมดไม่มีข้อยกเว้น แม้ว่าจะเป็นโรงแรม หรือมหาวิทยาลัย ก็ตาม
( ปกติการติดตั้ง ‘โซลาร์รูฟท็อป’ ตามบ้านเรือนทั่วไปจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์อยู่ในช่วง 3-5 กิโลวัตต์ ขึ้นอยู่กับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนนั้น ๆ และพื้นที่หลังคาที่สามารถติดตั้งแผงโซลาร์ เต็มที่อย่างมากที่สุดคือ 5-10 กิโลวัตต์ )
พอมีกฎต้องขอใบอนุญาต (รง. 4) ทำให้ปัญหาที่ตามมาคือทางหน่วยงานราชการค้างการออกใบอนุญาต (รง. 4) ให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก บางเดือนค้างมากถึง 200 ราย หนักสุดขอมา 2 ปี ยังไม่ได้ใบอนุญาตเลยก็มี โดยผู้ประกอบการบางรายให้สัมภาษณ์ว่า
ก่อนหน้านี้ปัญหาใบ รง. 4 เริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ปัญหานี้เริ่มกลับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ อยากให้เร่งแก้ปัญหาโดยด่วน บางรายเอกสารครบถ้วน รอแค่เซ็นใบอนุญาตจากผู้บริหาร รอมาเป็นปีแล้ว แต่ทุกอย่างดูติด ๆ ขัด ๆ ล่าช้าไปหมด ไม่รู้ว่าติดปัญหาอะไร อยากให้เร่งแก้ ไม่อยากให้ถูกมองเรื่องต้องจ่ายใต้โต๊ะ
ส่วนทางฝั่ง นางสาว พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนอำลาตำแหน่ง ก็ไม่นิ่งนอนใจ ได้สั่งให้แก้ปัญหาโดยด่วนจนเเล้วเสร็จ และจึงเป็นที่มาถึงการส่งเรื่องต่อไปยัง นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนปัจจุบัน จับมือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผลักดันเรื่องต่อถึง ครม. เพื่อปลดล็อกแก้ปัญหานี้
โดยในปี 2566 มีผู้ประกอบการระดับอุตสาหกรรม มาขอจดทะเบียนเพิ่มขึ้นกว่า 90% เมื่อเทียบกับปีก่อน และในปี 2567 คาดว่าจะมีการมาขอจดทะเบียนเพิ่มขึ้นกว่า 100% ซึ่งแน่นอนการปลดล็อกแก้ปัญหาในครั้งนี้ คนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชน ภาคธุรกิจ เพราะปัจจุบันมีการมีการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเยอะมาก และนี่ถือว่าเป็นการปลดล็อกเพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในทุกภาคส่วน
ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนปัจจุบัน กล่าวว่า มีความตั้งใจส่งเสริมและผลักดันให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเอกชนรายย่อยเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าสะอาดจากพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งได้ดำเนินการขับเคลื่อนต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยอดีตรัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้มีความเป็นมิตร ยั่งยืน กับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะตอบสนองกติกาสากลและช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแบบ ‘ซีโรคาร์บอน’ และนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่ “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” ที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างบรรยากาศในการลงทุน และเน้นย้ำเรื่องการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนให้มากที่สุด
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างพิจารณาขยายกรอบการปลดล็อกโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) และ โซลาร์ โฟลตติง (Solar Floating) โดยได้ประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานอย่างใช้ชิด เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับของพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป