พลังงานฟอสซิล (Fossil fuel) เป็นเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนโลกของเรามาอย่างยาวนาน ทั้งน้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ แต่พลังงานจากเศษซากของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่สะสมหลายล้านปีเหล่านี้ถูกใช้มากขึ้นเป็นเท่าทวีเมื่อโลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมช่วงปี 1800 และถูกใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสัดส่วน 4 ใน 5 ของพลังงานทั้งหมดที่มนุษย์ใช้ในปัจจุบัน

ปัจจุบันมวลมนุษยชาติได้รับรู้ถึงผลกระทบจากการใช้พลังงานฟอสซิลปริมาณมหาศาลที่มาพร้อมกับความเจริญที่รุดหน้าอย่างรวดเร็วในรูปแบบของภาวะโลกรวน และความหวั่นวิตกต่อวิกฤตพลังงานโลก

แม้มนุษย์จะรู้ว่าหนทางที่กำลังมุ่งหน้าไปจะนำไปสู่อะไร แต่จากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิต ดูเหมือนว่าโลกของเรายังคงกระหายในพลังงานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงเกิดการพัฒนาพลังงานทางเลือกมากมายเพื่อรับมือในวันที่พลังงานฟอสซิลหมดโลก จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า อีกกี่ปีพลังงานฟอสซิลจะหมดไปจากโลกนี้ และจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ?

อีกกี่ปีพลังงานฟอสซิลจะหมดไปจากโลกนี้ ?

ข้อมูลงานวิจัยในปี 2019 จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ได้คาดการณ์ว่าพลังงานฟอสซิลทั้ง 3 รูปแบบจะหมดไปในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า โดยน้ำมันดิบจะหมดไปจากโลกในปี 2052 ส่วนก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินจะหมดไปในปี 2060

หากคุณอ่านบทความนี้ในปี 2025 อีกเพียงไม่ถึง 40 ปี พลังงานเหล่านี้จะหมดไป แต่ถึงอย่างนั้นข้อมูลทางสถิติจาก Statista ชี้ว่าโลกของเราจะยังคงดึงพลังงานฟอสซิลมาใช้ในสัดส่วนใกล้เคียงกันจนกระทั่งปี 2050

Primary energy demand worldwide in 2023, with a forecast until 2050, by fuel type(in million barrels of oil equivalent per day) – Statista

โดยพลังงานจากน้ำมันดิบถูกนำมาใช้มากที่ เฉลี่ย 100 ล้านบาร์เรล/วัน (16,000 ล้านลิตร) รองลงมาด้วยพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ (81 ล้านบาร์เรล/วัน) และถ่านหิน (63 ล้านบาร์เรล/วัน) หากดูจากการคาดการณ์นี้ มีความเป็นไปได้สูงว่ามนุษย์ยังคงใช้พลังงานฟอสซิลต่อไปแม้รู้ว่าแหล่งพลังงานธรรมชาติเหล่านี้กำลังจะเหือดหายไป

แล้วอะไรจะเกิดขึ้นหลังพลังงานฟอสซิลหมดโลก ?

ถ้าคิดแบบง่าย ๆ เลย คือ เราจะไม่มีพลังงานใช้ หรือไม่มีพลังงานเพียงพอที่จะสูบฉีดโลกใบนี้ได้เหมือนเคย เพราะจากข้อมูลสถิติของชุดเดียวกันจาก Statista สัดส่วนของแหล่งพลังงานเกินกว่าครึ่งยังคงเป็นพลังงานฟอสซิล

โดยที่พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) อย่างพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ก็มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้จากการคาดการณ์ในปี 2050 จะมีการใช้งานพลังงานทางเลือกเหล่านี้มากขึ้น แต่จะถูกไปใช้ไปกับความต้องที่เพิ่มมากขึ้นไม่ได้ทดแทนหรือชดเชยพลังงานจากฟอสซิล

นอกจากนี้ โลกของเรายังมีพลังงานรูปแบบอื่น อย่างพลังงานชีวมวล (Biomass energy) ที่ได้จากอินทรีย์สารจากพืช และสัตว์ รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ที่สามารถสร้างพลังงานได้มหาศาล แต่ต้องอาศัยการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลด้วยเช่นกัน หากต้องสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพื่อนำมาทดแทนพลังงานฟอสซิล

หรือแม้กระทั่ง หากโลกของเราค้นพบแหล่งพลังงานฟอสซิลแหล่งใหม่ การเข้าถึงพลังงานเหล่านั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเดิมหลายเท่า หรืออาจนำไปสู่ข้อพิพาทพื้นที่ในการครอบครองแหล่งพลังงานที่ถูกค้นพบ เกิดเป็นสงครามแย่งชิงทรัพยากร

เมื่อโลกของเราเดินทางไปถึงวันที่พลังงานฟอสซิลหมดโลก คนทั่วโลก แม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้ว ผู้คนอาจต้องประสบกับวิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจจากระบบอุตสาหกรรมการผลิตที่ชะลอตัวจากการขาดแคลนพลังงาน คนตกงาน ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณสุขที่มีคุณภาพต่ำลง การพัฒนาประเทศ และประชากรที่หยุดชะงัก

เพราะแม้ว่าโลกของเรายังมีการใช้พลังงานรูปแบบอื่น แต่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้พลังงานในปริมาณเท่าเดิม รวมถึงแหล่งพลังงานอื่นก็จะเข้าถึงยากขึ้น ราคาสูงขึ้น เพราะถูกนำไปใช้กับส่วนที่จำเป็นในการดำรงชีวิตมากกว่าการใช้เพื่อความบันเทิง

หากลองจินตนาการดูแล้ว หลายคนอาจนึกถึงภาพในหนังแนวดิสโทเปีย (Dystopia) หลายเรื่องที่ว่ากันด้วยเรื่องของโลกที่ไร้ซึ่งทรัพยากร ไม่นับรวมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานสะอาดที่นอกจากจะสามารถนำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะต้องไม่สร้างมลพิษจากการใช้พลังงานเหล่านั้นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่มวลมนุษยชาติให้การจับตามอง

กระแสสังคมในช่วงหลายปีที่ผ่านเริ่มมีการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนใช้พลังงานฟอสซิลลดลง อย่างงานประชุม COP28 ที่ตัวแทนผู้นำประเทศเห็นชอบในการหยุดใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050

ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจช่วยยืดระยะเวลาของวิกฤตพลังงานฟอสซิลหมดโลกได้ไปอีกสักหน่อย รวมถึงลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ หรือจนกว่ามนุษย์จะหาหนทางที่ดึงพลังงานธรรมชาติมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือใกล้เคียงมากที่สุด