หุ่นยนต์เข้ามามีส่วนในชีวิตมนุษย์ยาวนานหลายทศวรรษ และหลายด้าน รวมถึงสุขภาพและการแพทย์ด้วย หุ่นยนต์ผ่าตัด หรือที่จริงควรจะเรียกว่า ‘หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด’ มีส่วนสำคัญในการแพทย์ทั่วทั้งโลก

เพราะความแม่นยำที่สามารถลดความผิดพลาดทางการแพทย์ในการผ่าตัดแบบเดิม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการรักษาได้มหาศาล

แต่คุณเคยสงสัยไหมว่าเทคโนโลยีที่แสนจะไซไฟอย่างหุ่นยนต์ผ่าตัด กลายมาเป็นเทคโนโลยีที่จับต้องได้จริง ๆ ในแบบทุกวันนี้ได้อย่างไร BT ขอแบไต๋ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของหุ่นยนต์ผ่าตัดที่พลิกโฉมวงการแพทย์ให้ทุกคนได้อ่านกัน

หุ่นยนต์ผ่าตัดในภาพยนต์ Ender’s Game เป็นหุ่นยนต์สมองของทีมวิศวกรไฟฟ้า มหาวิทยาลัยวอชิงตัน

หุ่นยนต์ผ่าตัด ความคิดฟุ้งฝัน สู่นวัตกรรมทางการแพทย์

หากย้อนกลับไป 100 ปีก่อน แนวคิดของหุ่นยนต์ที่สามารถผ่าตัดมนุษย์ หรือแม้แต่เครื่องมือทางการแพทย์ที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้คงเป็นเพียงจินตนาการที่ล้ำยุค และน่าตื่นเต้นของนักเขียนนิยายไซไฟสักเรื่อง

ใช่แล้ว แนวคิดเรื่องหุ่นยนต์ที่มีการจดบันทึกไว้ครั้งแรกมาจากบทละครแนววิทยาศาสตร์ของ Czech Robota ในปี 1921 และเป็นที่มาของคำว่า Robot ที่ใช้กันในทุกวันนี้ ซึ่งในเวลานั้นหมายถึงสิ่งประดิษฐ์ที่มีรูปร่าง และความรู้สึกนึกคิดคล้ายมนุษย์ แต่อยู่ในฐานะของหุ่นยนต์รับใช้ โดยคำว่า Robota มีความหมายว่าแรงงาน

ยุคเริ่มต้นของหุ่นยนต์ผ่าตัด

หลายทศวรรษหลังจากคำว่า Robot ได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งในปี 1985 ได้มีการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดขึ้นครั้งแรกของโลก หุ่นยนต์ตัวนี้มีชื่อว่า PUMA560 แม้จะเรียกว่าหุ่นยนต์ แต่ก็ไม่ได้มีรูปร่างไซไฟแบบที่เราคิด

หุ่นยนต์ PUMA560 หุ่นยนต์ผ่าตัดตัวแรกของโลก

หุ่นยนต์ตัวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองแทนมือของศัลยแพทย์ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ไม่จำเป็นให้กับสมองจากการสั่นของมือมนุษย์

ปี 1988 มหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนได้ใช้หุ่นยนต์ PROBOT ในการผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านท่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ต้องมีการตัดเนื้อเยื่อหลายครั้ง

หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน แม้จะคลุกคลีกับวงการคอมพิวเตอร์มานาน บริษัทคอมพิวเตอร์ระดับโลกอย่าง IBM ก็เคยสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้ในการปรับแต่งหัวกระดูกต้นขาในการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกในปี 1992 ร่วมกับบริษัท Integrated Surgical Systems ในชื่อ ROBODOC

หุ่นยนต์ ROBODOC

สรุปความโดดเด่นของหุ่นยนต์ผ่าตัดยุคเริ่มต้น

  • แนวคิดหุ่นยนต์เริ่มต้นมาจากบทละคร
  • หุ่นยนต์ผ่าตัดตัวแรก PUMA560 ถูกออกแบบมาเพื่อลดความผิดพลาดจากการสั่นของมือมนุษย์
  • การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดเป็นไปเพื่อศึกษา ทดลอง และวิจัย ไม่ใช่การรักษาทั่วไป

ยุคเปลี่ยนผ่านของหุ่นยนต์ผ่าตัด

ช่วงปลายยุค 1900 และต้น 2000 หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จากการร่วมกันของหุ่นยนต์ผ่าตัด กับเทคนิคการส่องกล้องในช่องท้อง (Laparoscopic Technology) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1910 หรือก่อนโลกจะรู้จักกับคำว่าหุ่นยนต์ด้วยซ้ำ แต่ไม่เคยถูกนำมาผสานเข้าด้วยกันมาก่อน

การหลอมรวมกันของสองเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้กำเนิดหุ่นยนต์ผ่าตัดถึง 3 รุ่น The AESOP, ZEUS และ da Vinci ซึ่งเป็นต้นแบบของหุ่นยนต์ผ่าตัดยุคปัจจุบัน ในช่วงแรกถูกนำไปใช้รักษาโรคหลายชนิด เช่น การผ่าตัดแก้หมันท่อนำไข่ของผู้หญิง การผ่าตัดเปิดหลอดเลือดหัวใจขณะที่หัวใจยังเต้นโดยไม่เปิดหน้าอก

หุ่นยนต์ da Vinci Xi

ซึ่งการผ่าตัดที่ใช้แขนกลหุ่นยนต์สอดเข้าไปในร่างกายแทนการผ่าเปิด รู้จักกันในอีกชื่อว่า ‘การผ่าตัดแผลเล็ก’ หรือ Minimal Invasive Surgery และกลายมาเป็นการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน เพราะสามารถผ่าตัดในพื้นที่ที่มือของศัลยแพทย์เข้าไม่ถึง ผ่าตัดได้แม่นยำกว่า เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา แผลเล็กลง ลดภาวะแทรกซ้อน และลดเวลาพักฟื้นลดลงเมื่อเทียบกับการผ่าตัดปกติ

ในปี 1997 da Vinci เป็นหุ่นยนต์ผ่าตัดตัวแรกที่ผ่าน อย. ของสหรัฐอเมริกา และได้ใช้ในการรักษาจริงครั้งแรกปี 2000 ต่อมาในปี 2003 บริษัท Intuitive Surgical เจ้าของ da Vinci ได้ซื้อบริษัท Computer Motion ที่เป็นเจ้าของ The AESOP และ ZEUS

สรุปความโดดเด่นของหุ่นยนต์ผ่าตัดยุคเปลี่ยนผ่าน

  • เกิดการผสานกันของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ผ่าตัดกับเทคนิคการส่องกล้อง
  • เกิดการควบกิจการบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดรายใหญ่ของโลก
  • หุ่นยนต์ผ่าตัดที่เคยใช้เพื่อการทดลองเป็นหลัก ถูกนำมาใช้ในการรักษาในโรงพยาบาล

หุ่นยนต์ผ่าตัดยุคปัจจุบัน

ความแม่นยำ และความปลอดภัยย่อมเพิ่มขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป ซึ่งปัจจุบันหุ่นยนต์ผ่าตัดพัฒนาระบบที่หลากหลายสำหรับการผ่าตัดแต่ละชนิด อย่างการเพิ่มความคมชัดของภาพที่แพทย์เห็น การใช้เทคนิคไฟส่องสำหรับการวิเคราะห์มะเร็ง การผ่าตัดแบบนำวิถีสำหรับแก้กระดูกสันหลังคด การติดตามบอลลูนหัวใจแบบเรียลไทม์ขณะวิ่งไปที่หัวใจ และการผ่าตัดแบบกำหนดองศาเฉพาะสำหรับการผ่าตัดเข่า

AI และระบบวิเคราะห์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งสามารถใช้เพื่อผ่าตัดรักษา และเพื่อการวินิจฉัย ครอบคลุมการผ่าตัดที่เพิ่มมากขึ้น โดยอัตราการความสำเร็จในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัดเฉลี่ยอยู่ที่ 94–100 เปอร์เซ็นต์ขึ้นอยู่ชนิด และลักษณะของโรค

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดแบบดั้งเดิมยังจำเป็นสำหรับการเจ็บป่วยบางเคส รวมถึงหุ่นยนต์ผ่าตัดเองก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง เคยมีเคสที่หุ่นยนต์ผ่าตัดขัดข้องระหว่างการใช้งาน แต่ก็พบได้ยากมาก

หุ่นยนต์ผ่าตัดในอนาคตจะผ่าตัดแทนหมอ ?

อาจจะใช่ และอาจจะไม่ใช่ เพราะหากอ้างอิงจากที่เราเห็นในปัจจุบัน แม้ว่าเราจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นหุ่นยนต์ผ่าตัด แต่หุ่นยนต์เหล่านี้ไม่สามารถผ่าตัดได้เอง ต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ และไหวพริบของศัลยแพทย์ในการควบคุม และดำเนินการผ่าตัด ซึ่งตามหลักแล้วเราควรจะเรียกว่าหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมากกว่า

สำหรับในอนาคตที่ทุกอย่างกลายเป็นระบบอัตโนมัติ และมีการคิดเป็นของตัวเอง หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แพทย์ได้ไหม ?

เป็นคำถามที่น่าสนใจ แต่อย่าลืมว่าแม้เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่โรคแต่ละโรค คนแต่ละคนมีความแตกต่าง และความเสี่ยงในการผ่าตัดแตกต่างกัน ซึ่งวนกลับไปที่ดุลยพินิจของแพทย์ในการผ่าตัดนั้นสำคัญกว่าระบบอัตโนมัติ

แต่ถ้าหากจะคิดแบบไซไฟในโลกอนาคตที่หุ่นยนต์กับมนุษย์มีความรู้สึกนึกคิด และสติปัญญาแบบเดียวกันเป็นไปได้ที่หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในการทำสิ่งต่าง ๆ รวมถึงการรักษาโรค

ฉากหุ่นยนต์ผ่าตัดอัตโนมัติในภาพยนต์ Prometheus

ซึ่งทั้งหมดนี้ วิวัฒนาการของหุ่นยนต์ผ่าตัดก็นับว่ามาไกล จากจิตนาการของนักประพันธ์ สู่การเผยแพร่แนวคิดหุ่นยนต์ กลายมาเป็นหุ่นยนต์ผ่าตัดขนาดเล็ก จนกระทั่งกลายมาเป็นหุ่นยนต์ผ่าตัดผสานเทคโนโลยีหลายอย่างเข้าด้วยกันอย่างในทุกวันนี้

วงการหุ่นยนต์ผ่าตัด รวมถึงหุ่นยนต์ทางการแพทย์ในทุกวันนี้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ในแต่ละปีมีการทุนด้านกว่าหลายพันล้านเหรียญ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งน่าติดตามต่อไปว่าจะมีเทคโนโลยีแบบไหนบ้าง

ประเด็นสุดท้ายที่ผู้เขียนอยากฝากไว้ก่อนจบบทความ ปัจจุบันแม้การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จะมีข้อดี และแพร่หลาย แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องค่าใช่จ่ายที่สูง รวมถึงความยากลำบากในการเข้าถึงการรักษารูปแบบนี้ ซึ่งการวางแผนทางการเงินอาจเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงการรักษาที่ราคาสูง แต่มีประสิทธิภาพนี้ได้ ในขณะเดียวกันการเข้าถึงการรักษาที่ดี ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน