ปัจจุบันมีแบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ตโฟน Android หลากหลาย ส่วนใหญ่มักจะไม่ใช่ Pure Android หรือ Stock Android แต่มักจะใช้การแต่งซอฟต์แวร์หน้าตาทับหรือที่เรียกว่าสกิน (Skin) หากไม่ใช่ซอฟต์แวร์ที่เป็น Stock Android หรือใกล้เคียงแล้วก็มักจะได้ของแถมหรือที่เรียกว่า Bloatware โดยขึ้นอยู่กับผู้ผลิตว่าจะได้มาเยอะขนาดไหน
Bloatware คืออะไร?
Bloatware หมายถึงแอปพลิเคชันที่ถูกติดตั้งไว้ล่วงหน้าบนอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต โดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นแอปที่ไม่จำเป็น เช่น แอปพลิเคชันเวอร์ชันทดลอง แอปพลิเคชันจากผู้ผลิต แอปโปรโมชันต่าง ๆ รวมถึงแอปที่ซ้ำซ้อนกับที่มีในระบบอยู่แล้ว เป็นต้น
ส่วนใหญ่แล้ว Bloatware มักเป็นแอปของผู้ผลิตที่พัฒนาขึ้นเพื่อมอบประสบการณ์เสริมให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งแอปเหล่านี้มักจะใช้ทรัพยากรระบบ เช่น แรมและ CPU และอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบรวมถึงการใช้งานแบตเตอรี่โดยไม่จำเป็นด้วย
6 ระบบที่จัดว่ามี Bloatware สูง
- HyperOS (MIUI): ใครที่ใช้สมาร์ตโฟนของ Xiaomi, Redmi รวมถึง POCO ก็น่าจะพอทราบกันดีว่า Xiaomi เป็นบริษัทที่เน้นทำฮาร์ดแวร์สเปกสูง ราคาถูก ทำเงินจากโฆษณาและแอป Bloatware ในระบบแทน ปัจจุบัน Xiaomi ยังคงใช้แผนนี้ในการทำตลาดอยู่จนปัจจุบัน โดยเฉลี่ยแล้ว HyperOS หรือ MIUI มักจะมีแอปที่ติดตั้งไว้ล่วงหน้า 49-51 รายการ โดย 6-8 แอปเป็นแอปที่พัฒนาโดย Xiaomi แะ 6-7 แอปมาจากนักพัฒนาบริษัทอื่น (Bloatware)
- HiOS: เป็นสกินจากทาง Tecno ที่มีผลตอบรับว่าเป็นซอฟต์แวร์ที่ช้า มีอาการแล็กเยอะ ในแง่ของ Bloatware นั้นก็มีการติดตั้งแอปล่วงหน้าไว้มาก เฉลี่ยถึง 51 แอปเลยเหมือนกันอยู่ที่ 51 แอป โดย 6-7 แอปเป็นแอปจากนักพัฒนาบริษัทอื่น (Bloatware)
- XOS: สกินจากทาง Infinix นั้น ก็มรผลตอบรับคล้าย ๆ กับ HiOS ของ Tecno ที่มีการประมวลผลช้าหน่อย มีแอปติดเครื่อง 55 แอป โดยมีแอปจากผู้ผลิตเอง 16 แอป และ 2-3 แอปมาจากนักพัฒนารายอื่น (Bloatware)
- realme UI: สกินจากทาง realme ที่มีแอปทั้งหมด 58 แอป โดยมีแอปจากบริษัทเอง 12 แอป และจากนักพัฒนาบริษัทอื่น 2-3
- FuntouchOS: สกินจากทาง vivo ที่มีแอปติดเครื่องมาแต่แรก 55-60 แอป โดย 10-11 แอปมาจาก vivo และอีกราว 5-10 แอปจะมาจากผู้ผลิตรายอื่น โดยรุ่นที่ราคาถูกมักจะมีแอป Bloatware มากกว่า
- ColorOS: สกินจากทาง OPPO ที่ถือว่ามี Bloatware ในระดับที่มากเหมือนกัน แอปติดเครื่องมากที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 63 รายการ โดย 11 แอปมาจาก OPPO เอง และ 12-14 มาจากนักพัฒนารายอื่น
หากเทียบแบรนด์สมาร์ตโฟนที่จำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการแล้วก็คงไม่พ้น NothingOS และ One UI ที่มี Bloatware ติดตั้งมาน้อยที่สุด โดย NothingOS จะมีความใกล้เคียงกับ Pure Android มากที่สุด ส่วน One UI ของ Samsung จะมีแอปพลิเคชันติดเครื่องเฉลี่ย 31-32 แอป มี 5 แอปมาจาก Samsung เอง และอีก 2 แอปมาจากนักพัฒนาอื่น (Bloatware) อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ One UI ต้องตั้งค่าตอนเริ่มใช้เครื่องดี ๆ เพราะจะมีการขออนุญาตติดตั้งแอปจากที่อื่นด้วย
สำหรับใครที่ต้องการเครื่องที่คลีน ๆ เลยคงไม่พ้น Pixel ของ Google แต่เนื่องจากไม่มีจำหน่ายผ่านศูนย์ไทยอย่างเป็นทางการก็อาจจะทำให้เข้าถึงยากทั้งตัวเครื่องและบริการหลังการขายครับ