ทุกคนหรือใครที่เคยไปคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีเคยสงสัยกันไหมว่า ‘แท่งไฟ (Light Stick)’ หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่า ‘บง’ เปลี่ยนสีได้ยังไง ทำงานยังไง โดยที่บางครั้งไม่ต้องเชื่อมต่ออะไร แค่เปิดก็สามารถเปลี่ยนสีได้ มีเทคโนโลยีอะไรอยู่เบื้องหลัง ที่ทำให้แท่งไฟเป็นหมื่น ๆ แท่ง สามารถเปลี่ยนสีได้

แท่งไฟคืออะไร ?

แท่งไฟ (Light Stick) หรือ บง (봉) เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงกลุ่มแฟนคลับของวงใดวงหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะที่เฉพาะตัวตามคอนเซปต์ของวง ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ สี หรือแม้กระทั่งดีไซน์ของแท่งไฟเองก็ตาม ถือเป็นอุปกรณ์ที่แฟนคลับส่วนมากต้องมี โดยเฉพาะเมื่อไปคอนเสิร์ตก็จะใช้แท่งไฟโบกตามจังหวะเพลง โบกเมื่อมีโมเมนต์ที่ประทับใจ หรือโบกเพื่อเป็นการเชียร์อัปศิลปิน ซึ่งสีแท่งไฟจะเปลี่ยนไปตามที่ผู้ควบคุมกำหนด เพื่อเพิ่มอรรถรสให้กับแฟนคลับและศิลปินในคอนเสิร์ต

IG : ohmyohmy._.gor

ความหมายของแท่งไฟ

สำหรับแฟนคลับแล้ว แท่งไฟถือว่าเป็นตัวแทนของการเชื่อมโยงระหว่างศิลปินและแฟนคลับ รวมถึงออกแบบแท่งไฟที่มักจะออกแบบให้สอดคล้องกับคอนเซปต์และโทนสีของวง เพื่อสะท้อนตัวตนของศิลปิน โดยแท่งไฟเองไม่ว่าจะใช้ในคอนเสิร์ต หรือวางโชว์ไว้ที่บ้าน มันก็คือสัญลักษณ์ของการเป็นแฟนคลับ สื่อถึงความชื่นชอบและความรักที่มีต่อศิลปิน

จุดเริ่มต้นของการเชียร์

ในช่วงก่อนที่จะมีแท่งไฟ วง K-POP จะใช้สีเป็นอัตลักษณ์ของวง ทำให้แฟนคลับเลือกใช้เสื้อกันฝน หรือลูกโป่งเป็นอุปกรณ์หลักในการเชียร์และแสดงออกถึงความชื่นชอบ ซึ่งมีความลำบากในการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมไปถึงสภาพอากาศที่อาจไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดเป็นแท่งไฟสีธรรมดาที่มีสีตามสีของวง

ซีนคอนเสิร์ต H.O.T จาก Reply 1997

จุดเปลี่ยนแปลงของการมาเป็นแท่งไฟในปัจจุบัน

ในช่วงปี 2006 “G-Dragon” หนึ่งในสมาชิกวง BIGBANG ได้แนวคิดในการเปลี่ยนแท่งไฟธรรมดาให้กลายเป็นแท่งไฟที่มีลักษณะเฉพาะตัวของวงที่ โดยมีชื่อว่า แบงบง (BANG BONG) มีด้ามจับสีดำ ออกแบบตรงดวงไฟเป็นรูปมงกุฎ หลังจากนั้นแนวคิดนี้ก็เริ่มส่งผลกับวงอื่น ๆ ทำให้มีการออกแบบแท่งไฟตามอัตลักษณ์ของแต่ละวงเช่นเดียวกัน และได้รับความนิยมเรื่อยมา

ปัจจุบันแท่งไฟของแต่ละวงมีการออกเวอร์ชันใหม่มาตลอด เพื่ออัปเกรดการใช้งานในคอนเสิร์ต โดยสามารถเชื่อมต่อบลูทูทผ่านแอปพลิเคชันในมือถือ พร้อมกรอกข้อมูลที่นั่งในคอนเสิร์ต และข้อมูลก็จะถูกส่งต่อให้กับทีมงานที่ควบคุมแผงไฟในคอนเสิร์ต จนทำให้เกิดเป็นแสงสีและลวดลายต่าง ๆ ในคอนเสิร์ตอย่างที่ทุกคนเคยเห็นกัน

Koreaboo.com

ส่วนประกอบของแท่งไฟ

  1. หัวแท่งไฟ
    เป็นส่วนบนของแท่งไฟที่ออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละวง อาจมีโลโก้ของวง สัญลักษณ์ หรือดีไซน์พิเศษ เช่น รูปมงกุฎของวง BIGBANG, หัวค้อนของวง BLACKPINK, หัวเพชรของวง TREASURE และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งผลิตจากพลาสติกโปร่งแสง เพื่อให้แสงไฟจากหลอด LED ส่องผ่านได้
  2. หลอดไฟ LED
    เป็นหลอดไฟที่อยู่ในหัวแท่งไฟ โดยปัจจุบันสามารถเปลี่ยนสีได้หลายเฉด ซึ่งนอกจากช่วยสร้างสีสันแล้วยังมีเอฟเฟกต์กะพริบตามจังหวะเพลงได้อีกด้วย
  3. ด้ามจับ
    เป็นส่วนที่ใช้จับขณะโบกแท่งไฟ มีปุ่มควบคุม เช่น ปุ่มเปิด-ปิด, ปุ่มเปลี่ยนโหมดไฟ-เปลี่ยนสีไฟ บางรุ่นมีช่องใส่สายคล้องข้อมือเพื่อป้องกันการตก
  4. แบตเตอรี่
    แท่งไฟส่วนมากใช้ถ่านขนาด AA, AAA หรือบางรุ่นสามารถชาร์จผ่าน USB Type-C ได้
  5. ชิป Bluetooth, RFID และ RF
    เป็นตัวช่วยบันทึกข้อมูลแท่งไฟ ใช้ควบคุมแท่งไฟ และเชื่อมต่อแท่งไฟกับแอปพลิเคชัน
  6. สายคล้อง
    ใช้คล้องข้อมือ เพื่อป้องกันแท่งไฟหลุดมือ บางวงมีดีไซน์เฉพาะ เช่นมีโลโก้ของวงอยู่บนสาย
  7. แอปพลิเคชัน
    เมื่อซื้อแท่งไฟมา ผู้ใช้จะต้องโหลดแอปพลิเคชันของแท่งไฟนั้น ๆ เพื่อใช้เชื่อมต่อ ตั้งค่าแท่งไฟ อัปเดตเฟิร์มแวร์ หรือลงทะเบียนที่นั่งในคอนเสิร์ต เพื่อให้แท่งไฟซิงก์กับระบบของทีมงาน

การควบคุมแท่งไฟในคอนเสิร์ต

"OP shared how Nachimbongs are synced during a lightsticks and the colors are changed manually according to the songs in real-time!" caption ©️ straykidsindiaa (on ig) OP > pinksoulll #nachimbong #straykidsconcert #straykids
"OP shared how Nachimbongs are synced during a lightsticks and the colors are changed manually according to the songs in real-time!" caption ©️ straykidsindiaa (on ig) OP > pinksoulll #nachimbong #straykidsconcert #straykids
@changbinnoona

"OP shared how Nachimbongs are synced during a lightsticks and the colors are changed manually according to the songs in real-time!" caption ©️ straykidsindiaa (on ig) OP > pinksoulll #nachimbong #straykidsconcert #straykids


บางคนอาจเคยเห็นคลิปวิดีโอที่ทีมงานกำลังควบคุมการทำงานของแท่งไฟในคอนเสิร์ต นั่นคือตำแหน่ง Operation Manager, Fanlight ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดการและควบคุมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้แท่งไฟ ต้องมีความสามารถในการวางแผน การจัดการ และการประสานงานที่ดี โดยจะใช้โปรแกรม Centralized Light Control ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์สำหรับการควบคุมแท่งไฟในคอนเสิร์ต เพื่อให้แท่งไฟสามารถเปลี่ยนสี กะพริบ หรือแสดงเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ได้อย่างพร้อมเพรียงแบบเรียลไทม์

การทำงานของแท่งไฟ มีด้วยกัน 2 แบบ

  1. แบบอัตโนมัติ
    คือเมื่อเข้าคอนเสิร์ต แฟนคลับจะต้องเปิดการใช้งานของแท่งไฟ หลังจากนั้นแท่งไฟจะซิงก์กับแผงควบคุมไฟแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องเชื่อมต่อผ่านบลูทูทในมือถือ เพราะในแท่งไฟจะมีสิ่งที่เรียกว่า RFID (Radio Frequency Indentification) หรือการระบุเอกลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุ ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมต่อไร้สายที่จะทำงานก็ต่อเมื่ออยู่ในบริเวณที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งก็คือภายในฮอลล์คอนเสิร์ตนั่นเอง
  2. แบบเชื่อมต่อบลูทูทผ่านแอปพลิเคชันในมือถือล่วงหน้า
    คือการเชื่อมต่อแท่งไฟกับแอปฯ และกรอกข้อมูลที่นั่งในคอนเสิร์ตให้ครบถ้วน เมื่ออยู่ในบริเวณคอนเสิร์ตแล้วให้เปิดการใช้งานของแท่งไฟในโหมดคอนเสิร์ต เพื่อซิงก์ข้อมูลกับแผงควบคุมไฟ เนื่องจากในแท่งไฟมี RF (Radio Frequency) หรือความถี่วิทยุ เป็นตัวส่งข้อมูลแบบไร้สายไปยังเครื่องควบคุมแผงไฟของทีมงาน ทำให้ควบคุมแท่งไฟของแฟนคลับทุกคนที่ลงทะเบียนไว้และอยู่ในบริเวณที่กำหนดได้ โดยจะมีความแม่นยำมากกว่าการใช้ RFID สามารถเปลี่ยนเอฟเฟกต์แบบเรียลไทม์ได้ และมีลูกเล่นหลากหลายแบบ

สมัยนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ศิลปิน K-POP เท่านั้นที่มีแท่งไฟประจำวง แต่ศิลปินไทยเองก็มีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น เจฟ ซาเตอร์, บิวกิ้น พุฒิพงศ์, พีพี กฤษฏ์ หรือแม้กระทั่งนักแสดงซีรีส์ อย่าง เจมิไนน์-โฟร์ท, จิมมี่-ซี, ฟอส-บุ๊ค และอีกหลาย ๆ คน ซึ่งถือว่าแท่งไฟเป็นอุปกรณ์ยอดนิยมในการเชียร์ศิลปินหรือนักแสดงเลยก็ว่าได้

แต่นอกจากแท่งไฟแล้ว ยังมีคอนเสิร์ตอีกมากมายที่ใช้อุปกรณ์อื่นเพื่อสร้างอรรถรสในการรับชมให้กับแฟน ๆ ไม่ว่าจะเป็นริสแบนด์เรืองแสง กระบองลม หรือแท่งไฟธรรมดาที่แจกฟรีให้กับแฟน ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกแล้วว่า นอกจากระบบแสง สี เสียงของโปรดักชันแล้ว การที่มีแสงสีจากแท่งไฟ หรืออุปกรณ์เชียร์ของแฟนคลับในคอนเสิร์ต สามารถสร้างบรรยากาศ สร้างความสุข และความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับแฟน ๆ และศิลปินที่อยู่ในคอนเสิร์ตได้เป็นอย่างดี