ถ้าพูดถึงกิจกรรมลดโลกร้อน หลายคนน่าจะเคยได้ยินแคมเปญ “60+ Earth Hour” หรือกิจกรรม ปิดไฟ 1 ชั่วโมง ที่จัดขึ้นทุกปี โดยมีเป้าหมายให้คนทั่วโลกช่วยกันลดการใช้พลังงาน ด้วยการปิดไฟและถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น อย่างไฟประดับ ป้ายโฆษณา หรือสายชาร์จต่าง ๆ
หลายคนอาจสงสัยว่า การปิดไฟเพียง 1 ชั่วโมง ในแต่ละปีจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากแค่ไหน ? ในเมื่อทุกวันโลกยังคงใช้พลังงานมหาศาล และ CO₂ ก็ยังถูกปล่อยออกมาไม่หยุด
แต่จริง ๆ แล้ว เป้าหมายของ Earth Hour ไม่ได้หยุดอยู่แค่การปิดไฟ แล้วมันคืออะไร ? แล้วเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงจากเรื่องเล็ก ๆ นี้ได้อย่างไร ?

‘Earth Hour’ จัดขึ้นช่วงไหน ?
โดยปกติแล้ว Earth Hour จะจัดขึ้นในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคมของทุกปี และในปีนี้กิจกรรมเกิดขึ้นเมื่อ วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่ง 5 แลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ ได้ร่วม ปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ ตั้งแต่เวลา 20.30 – 21.30 น. ได้แก่
- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
- พระบรมมหาราชวัง
- วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
- เสาชิงช้า
- สะพานพระราม 8 และ ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
เช่นเดียวกับเมืองต่าง ๆ กว่า 7,000 เมืองใน 190 ประเทศทั่วโลก
แล้วการปิดไฟแค่ 1 ชั่วโมงมันช่วยโลกเราได้แค่ไหนกัน ?
หากดูจากครั้งล่าสุด (22 มีนาคม 2568) ผลการคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างเวลา 20.30 – 21.30 น. ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2567 ระหว่างเวลา 20.30 – 21.30 น. พบว่า
- ลดความต้องการการใช้ไฟฟ้าลงได้ 134 เมกะวัตต์
- ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลงได้ถึง 58.6 ตัน
- ลดค่าไฟฟ้าลงได้ 620,000 บาท
- เทียบเท่าการดูดซับของต้นไม้ 5,860 ต้น ใน 1 ปี
- หรือเทียบกับการปิดไฟครัวเรือน 263,700 ครัวเรือน
หากย้อนไปดูผลจากการจัดกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour) ย้อนหลัง 3 ปีล่าสุดแล้วนั้น เฉพาะกรุงเทพฯ จังหวัดเดียวสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ รวม 138.65 เมกะวัตต์ และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 36.2 ตัน !

หมุดหมายสำคัญจริง ๆ ของ ‘Earth Hour’
แม้การปิดไฟเพียง 1 ชั่วโมงจะดูเป็นเพียงหยดน้ำเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับปริมาณพลังงานที่เราใช้กันตลอดทั้งปี หรือปริมาณ CO₂ ที่โลกยังคงปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ ‘Earth Hour’ ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่การลดใช้ไฟฟ้าเพียงชั่วครู่
แต่สิ่งสำคัญคือ การปลูกฝังแนวคิดและสร้างพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในชีวิตประจำวัน ให้เราได้ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนที่บางครั้งเราอาจมองข้ามไป เพราะทุกพฤติกรรมเล็ก ๆ ล้วนมีผล เช่น การเสียบปลั๊กชาร์จมือถือทิ้งไว้ทั้งที่ไม่ได้ชาร์จ หรือ การเปิดไฟทิ้งไว้ในห้องที่ไม่มีคนอยู่

ไฟก็ปิดไปแล้ว เราจะทำอะไรได้บ้างล่ะในช่วง Earth Hour ?
เมื่อปิดไฟแล้ว นี่อาจเป็นโอกาสดีที่เราจะให้เวลากับตัวเอง ปล่อยวางจากความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน และปล่อยใจให้ซึมซับช่วงเวลาที่เรียบง่ายตามสไตล์เรา
- หันไปใส่ใจธรรมชาติ – ลองปั่นจักรยาน เดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือออกไปรับลมทะเล ฟังเสียงคลื่น
- ใช้เวลากับคนสำคัญ – พูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราวกับคนใกล้ตัว อาจเป็นบทสนทนาที่เราลืมให้ความสำคัญไปนานแล้ว
- ดื่มด่ำกับบรรยากาศรอบตัว – ฟังเพลงเพราะ ๆ นั่งกินของโปรด หรือแหงนหน้าชมดาวที่สว่างกว่าทุกวัน เพราะไม่มีแสงไฟรบกวน
‘เห็นแบบนี้ บางทีแล้ว Earth Hour อาจไม่ได้ช่วยแค่โลก แต่ยังช่วยให้เรากลับมาใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นด้วย’
ไม่ต้องรอแคมเปญ ก็เริ่มเปลี่ยนโลกได้ทุกวัน
แม้กิจกรรมนี้จะผ่านไปแล้ว และกว่าจะวนมาอีกก็ตั้ง 28 มีนาคม 2569 แต่พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ควรหยุดเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงในหนึ่งปี ทุกอย่างเริ่มต้นง่าย ๆ ที่ตัวเรา ลองปิดไฟที่ไม่จำเป็น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น หากไม่ลำบากเกินไป การลดการใช้พลังงานในทุก ๆ สัปดาห์ก็เป็นเรื่องดีที่เราสามารถทำได้
เพราะทุกการกระทำเล็ก ๆ มีความหมาย แม้อาจดูเหมือนไม่ส่งผลอะไรมากมายในทันที แต่เมื่อเราทำอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์อาจยิ่งใหญ่กว่าที่คิด เพราะการช่วยโลก ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนครับ