Windows นั้นเราคุ้นเคยกันดีว่าใช้ติดตั้งบน Partition ที่เป็นระบบไฟล์แบบ NTFS มาอย่างยาวนาน (เริ่มใช้ใน Windows NT 3.1 แต่มาให้งานแพร่หลายมากขึ้นในยุค Windows XP เป็นต้นมา และใช้งานแพร่หลายมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน) อย่างไรก็ตาม Microsoft ก็พยายามพัฒนาระบบไฟล์ขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของ NTFS อย่างเช่น WinFS ที่เคยจะเอามาใช้กับ Windows Vista แต่ก็พบปัญหาในการพัฒนาจนไม่ได้นำมาใช้และใช้ NTFS ต่อไป
ReFS คืออะไร ต่างจาก NTFS อย่างไร
ReFS คือระบบไฟล์ที่ Microsoft พัฒนาใหม่และเริ่มใช้ใน Windows Server 2012 และ Windows Server ตัวถัด ๆ ไป หลังจากนั้น ส่วน Windows ทั่วไปนั้นจริง ๆ รองรับตั้งแต่ Windows 8 ขึ้นไปแล้ว แต่ยังไม่ใช่ระบบไฟล์หลักที่นิยมใช้งาน ทำให้เริ่มใช้งานในระดับ Server และ Workstation ก่อน และใช้ได้เฉพาะ Partition เก็บข้อมูล ยังไม่สามารถใช้งานเป็น Partition ตั้งระบบปฏิบัติการได้ และยังสร้าง Partition ในขั้นตอนติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows ไม่ได้ ต้องไปสร้างหลังติดตั้งแล้ว (การสร้าง Partition ระบบไฟล์ ReFS ถูกนำออกจาก Windows 10 Version 1709 เป็นต้นมา ยกเว้นในรุ่น Enterprise และ Pro for workstations)
แต่หลังจากได้พิสูจน์จากงานระดับ Server และ Workstation แล้ว ข้อดีที่ต่างจาก NTFS ก็มี
- คัดลอกไฟล์ได้รวดเร็วขึ้น ด้วยการออกแบบการทำงานแบบ “Block Cloning”
- มีระบบตรวจจับไฟล์เสียหายอัตโนมัติที่มากกว่า NTFS (แม้ NTFS ก็ทำได้ดีอยู่แล้ว) ใช้ระบบ Checksum มาตรวจสอบไฟล์ในตัว
- รองรับขนาด Partition สูงสุด 35 เพตะไบต์
เพิ่มการสร้าง Partition ตั้งแต่ติดตั้งระบบปฏิบัติการ แต่ยังใช้เป็น Partition บูตไม่ได้ แสดงถึงการพัฒนาและผลักดันในอนาคต
ReFS ณ ปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัดอยู่ทั้งในด้าน
- ใช้ติดตั้งระบบปฏิบัติการบูตไม่ได้
- บีบอัดไม่ได้ ซึ่ง NTFS มีคุณสมบัตินี้
- ไม่รองรับ BitLocker
แม้ยังมีข้อจำกัด Microsoft เคยพยายามนำเทคโนโลยี ReFS มาใส่ใน Windows 11 ก่อนหน้านี้มาแล้ว ในปีที่แล้ว Microsoft ได้นำ ReFS block cloning มาสู่ Windows 11 สำหรับผู้ใช้ทั่วไป ทำให้การคัดลอกไฟล์ขนาดใหญ่ เช่น VHD/VHDX image (ที่มักใช้กับ Hyper-V Virtual Machine) จนล่าสุด Windows 11 Insider Preview เวอร์ชัน build 27823 ทาง Canary Channel ผู้ใช้ X ชื่อ PhantomOfEarth ได้พบการเพิ่มฟีเจอร์ให้สามารถสร้าง Partition ที่ไม่ใช่ Partition บูตระบบ เป็นระบบไฟล์ ReFS ไปพร้อมกับการติดตั้งระบบปฏิบัติการเลย ฟีเจอร์นี้ยังดูเหมือนจะอยู่ในระหว่างการพัฒนา หน้าจอยังไม่สมบูรณ์ สังเกตได้จากเมนู Drop down ที่ยังไม่มีข้อความ แต่เมื่อคลิกเข้าไปก็จะพบหน้าต่าง “Format disk with Flexible Storage”


ทำให้เห็นว่า Microsoft ให้ความสำคัญกับการนำ ReFS มาใช้อย่างแพร่หลายใน Windows 11 รุ่นทั่วไปในอนาคต และอาจมีการพัฒนาจนทดแทน NTFS ได้สมบูรณ์จนกลายเป็นระบบไฟล์หลักได้ในที่สุด ไม่ให้เกิดอุปสรรค์แบบ WinFS ที่เคยจะพัฒนาแทนที่ NTFS