หมาป่าไดร์วูล์ฟ (Direwolf) เจ้าหมาป่าโลกันตร์ ถ้าใครที่เคยดูซีรีส์ Game of Thrones ก็อาจจะเคยเห็นมาบ้าง ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของตระกูลสตาร์ก (Stark) โดยเจ้าไดร์วูล์ฟมีอยู่จริง ๆ นะ เดิมทีแล้วเป็นหมาป่าที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่กว้างใหญ่ของอเมริกา ตั้งแต่ทางใต้สุดจนถึงเวเนซุเอลา และทางเหนือสุดถึงแคนาดา และเป็นเวลามากกว่า 12,000 ปีแล้วที่สัตว์ชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไป อย่างไรก็ตาม มีการค้นพบซากของไดร์วูล์ฟมากมายทั่วทั้งทวีปอเมริกา Colossal Biosciences จึงเห็นโอกาสนี้และได้ริเริ่มโครงการที่ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้

หมาป่าโลกันตร์ จาก Game of Thrones

เพราะพวกเขาสามารถสร้างไดร์วูล์ฟ หรือหมาป่าดึกดำบรรพ์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งได้สำเร็จ หมาป่าที่เกิดใหม่มีชื่อว่า โรมูลัส (Romulus) และ รีมัส (Remus) ซึ่งเกิดเมื่อ 1 ตุลาคม 2567 อายุ 6 เดือน และในวันที่ 30 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา พวกเขาก็ได้ให้กำเนิดลูกหมาป่าตัวที่สามชื่อ คาลีซี (Khaleesi) รวมทั้งหมดเป็น 3 ตัว กำลังเติบโตในสถานที่ปลอดภัยที่ไม่เปิดเผยในสหรัฐฯ 

โรมูลัส (Romulus) และ รีมัส (Remus) ขณะที่อายุได้ 1 เดือน
น้องเล็กคนสุดท้อง คาลีซี (Khaleesi)

พฤติกรรมดั้งเดิมฉบับหมาป่าที่แตกต่างจากหมาบ้าน !

ทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่า หมาป่าที่สร้างขึ้นมาไม่เหมือนกับลูกหมาทั่วไป เพราะถึงแม้จะอายุแค่ 6 เดือน แต่พวกมันหนักกว่า 36 กิโลกรัม มีความยาวเกิน 1.2 เมตรเลยทีเดียว โดยมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักถึง 63 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มวัย  อีกหนึ่งลักษณะที่ทำให้หมาป่าแตกต่างจากหมาบ้านคือพฤติกรรมของพวกมัน เพราะพวกมันมักจะรักษาระยะห่างจากมนุษย์เสมอ แม้แต่ผู้ดูแลก็ไม่สามารถเข้าใกล้มันได้มากนัก ซึ่งจริง ๆ นี่แหละ คือพฤติกรรมที่แท้จริงของหมาป่า และยังคล้ายกับพฤติกรรมของไดร์วูล์ฟในยุคโบราณอีกด้วย

ใช้เทคโนโลยีหรือวิธีอะไรให้คืนชีพมาได้อีกครั้ง ?

หลัก ๆ แล้ว นักวิทยาศาสตร์ใช้เทคโนโลยี CRISPR (Clustered Regularly Interspaced Short Palindromic Repeats) หรือเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งใช้ในการเปลี่ยนแปลงหรือปรับแต่ง DNA ของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะในการศึกษาหรือการรักษาโรคทางพันธุกรรม ด้วยวิธีที่ทำให้สามารถเพิ่มหรือลบยีนบางตัวใน DNA ได้ ในการตัดต่อพันธุกรรมของหมาป่าสีเทา (Gray wolf) 

วิธีการนี้เริ่มจากการถอดรหัสจีโนมของหมาป่าไดร์วูล์ฟ โดยนักวิทยาศาสตร์จาก Colossal ได้ศึกษาจีโนมของไดร์วูล์ฟจากกะโหลกอายุ 72,000 ปี และฟันอายุ 13,000 ปี หลังจากนั้นพวกเขาก็ทดลองเขียนรหัสพันธุกรรมของหมาป่าสีเทาธรรมดาให้ตรงกับรหัสพันธุกรรมของไดร์วูล์ฟและใช้สุนัขบ้านเป็นแม่อุ้มบุญ

ซึ่งการสร้างไดร์วูล์ฟนั้น เขาได้ทำการปรับแต่ง 14 ยีนเพื่อให้ได้คุณลักษณะของไดร์วูล์ฟ 20 อย่าง ซึ่งการปรับแต่งเพียงเล็กน้อยเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความแตกต่างที่ชัดเจนหลายอย่าง เช่น ขนสีขาวของโรมูลัสและรีมัส ขนาดที่ใหญ่ขึ้น ไหล่ที่แข็งแรงขึ้น หัวที่กว้างขึ้น ฟันและกรามที่ใหญ่ขึ้น ขาที่มีกล้ามเนื้อมากขึ้น และเสียงร้องที่มีเอกลักษณ์อย่างเช่น เสียงหอน หรือเสียงร้อง

กะโหลกไดร์วูล์ฟอายุ 72,000 ปี และฟันอายุ 13,000 ปี

แม้จะไม่ใช่ไดร์วูล์ฟจริง ๆ แต่นี่ก็ถือว่าใกล้เคียงที่สุดแล้ว ?

ต้องบอกว่าถึงจะไม่ใช่ไดร์วูล์ฟจริง ๆ แต่ก็ใกล้เคียง เพราะการที่เปลี่ยนแปลงยีนแค่ 14 ยีน จากทั้งหมด 19,000 ยีนในหมาป่าสีเทานั้น มันคงเป็นข้อสรุปได้ยากว่ามันคือการคืนชีพให้ไดร์วูล์ฟอย่างแท้จริง อาจจะต้องใช้คำว่า ตัดแต่งพันธุกรรมให้ใกล้เคียงและโคลนนิงออกมาให้เหมือนไดร์วูล์ฟซะมากกว่า

ง่าย ๆ ก็คือ สิ่งที่ Colossal Biosciences ทำคือการนำ DNA ของหมาป่าสีเทา (Gray wolf) ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันมาทำการ ‘ตัดแต่งยีน’ ให้บางลักษณะคล้ายกับหมาป่าไดร์วูล์ฟ (ลองนึกภาพหมาป่าใส่สกินไดร์วูล์ฟ) เพราะในพันธุกรรมของหมาป่าสีเทาเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนของไดร์วูล์ฟที่แท้จริงอยู่เลย แต่ทาง Colossal Biosciences ก็กำลังมีงานวิจัยเพิ่มเติมที่คาดว่าจะออกมาให้ได้อ่านเร็ว ๆ นี้

โรมูลัส และ รีมัส อายุ 6 เดือน

ความเป็นไปได้ของการคืนชีพเหล่าไดโนเสาร์ล่ะ ?

ยังคงเป็นเรื่องยากในตอนนี้ เพราะยังไม่มีใครสามารถสกัด DNA จากกระดูกของไดโนเสาร์ได้เลย แม้กระทั่งกระดูกที่เราพบในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็แทบจะไม่เหลือสสารเดิมไว้แล้ว เพราะมันถูกแทนที่ด้วยตะกอนหินในช่วงเวลานานหลายล้านปี

กระดูกที่พบของไดโนเสาร์ในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ผ่านไปนานมาก ตะกอนหินจะเข้ามาแทนที่เซลล์ที่เป็นเนื้อเยื่อดั้งเดิม จนทำให้โครงสร้างกระดูกเหล่านั้นไม่สามารถใช้ในการสกัด DNA ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก

แม้จะมีความหวังจากการค้นคว้าเกี่ยวกับการสกัด DNA จากฟอสซิลบางชนิด อย่างเช่นจากการศึกษาแมมมอท หรือหมาป่าไดร์วูล์ฟ แต่วิธีเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถนำไปใช้กับไดโนเสาร์ได้ เพราะฟอสซิลของไดโนเสาร์มีอายุหลายสิบล้านปี ซึ่งทำให้โอกาสในการหาหลักฐานทางพันธุกรรมที่สมบูรณ์มีน้อยมาก

ถือเป็นก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีที่ไม่ธรรมดา

การนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในความพยายามทางพันธุวิศวกรรมนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ รวมถึงการรักษาชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว มันแสดงให้เห็นถึงพลังของเทคโนโลยีชีวภาพในการปกป้องและรักษาสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันหรือสายพันธุ์ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้ว

การพัฒนาเหล่านี้ไม่ได้แค่ช่วยฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตในอดีตเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการอนุรักษ์และดูแลโลกธรรมชาติให้คงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย