ไม่กี่วันที่ผ่านมาเราคงได้เห็นข่าวว่าสิงคโปร์ได้ส่ง “แมลงสาบไซบอร์ก”​ ไปทำภารกิจกู้ภัยที่พม่า จนพาให้หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องเป็นแมลงสาบ ?​ แล้วจะบังคับมันได้ยังไง ใช้เทคโนโลยีอะไรเปลี่ยนสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวอยู่รอดมาเป็นล้านปีตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ ให้เดินทำงานกู้ภัยได้เหมือนกับรถบังคับ

ทำไมต้องเป็นแมลงสาบล่ะ ?

คำถามชวนสงสัยที่หลายคนน่าจะอยากรู้ว่า สัตว์ที่ถูกฝึกมาก็มีตั้งเยอะแยะ หุ่นยนต์ก็มีตั้งหลายแบบ แต่ทำไมต้องเป็นแมลงสาบ มันจะเวิร์กเหรอ ? ต้องอธิบายแบบนี้ว่างานกู้ภัยจากแผ่นดินไหว เป็นงานที่ต้องทำแข่งกับเวลา โดยเฉพาะ 48 ชั่วโมงแรกที่ต้องรีบช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต นอกจากแข่งกับเวลาแล้ว ยังมีความเสี่ยงสูงต่อผู้ปฏิบัติงานและสัตว์กู้ภัย เพราะเราไม่รู้ว่าสิ่งก่อสร้างที่ถล่มลงมาจะถล่มซ้ำหรือไม่

การใช้สัตว์กู้ภัยจึงมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บและเสียชีวิต และมีเรื่องจริยธรรมมาเกี่ยว กลับกันหากใช้หุ่นยนต์ก็ต้องเจอกับปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูง ข้อจำกัดเรื่องพลังงาน และความทนทานที่ลดลงไปพร้อม ๆ กับขนาดของหุ่น (ยิ่งเล็ก ความทนทานและแบตฯ ยิ่งน้อย)​ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดจากเศษหิน เศษปูน และฝุ่น ที่ทำให้สัตว์และหุ่นยนต์ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ 

แนวคิดเรื่องการใช้แมลงมาทำงานกู้ภัย จึงถูกคิดค้นขึ้นมา โดยศาสตราจารย์ฮิโรทากะ ซาโต (Hirotaka Sato)​ ที่เริ่มจากการเอาด้วงมาควบคุมการบิน จากนั้นก็มาใช้แมลงสาบกับงานกู้ภัย ซึ่งสายพันธุ์ที่เลือกคือ แมลงสาบมาดากัสการ์ เพราะมีขนาดตัวเล็ก มุดตามที่แคบ ๆ ได้ดี, ทนทานต่อสภาพแวดล้อมหลากหลายรูปแบบ ทั้งอุณหภูมิสูง-ต่ำ หรือพื้นที่ที่มีสารพิษ, ร่างกายทนทานและแบกน้ำหนักของอุปกรณ์กู้ภัยเล็ก ๆ ได้, เดินได้อย่างเดียว เพราะไม่มีปีก,​ เดินได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่, ควบคุมด้วยสัญญาณไฟฟ้าได้ง่าย ที่สำคัญคือต้นทุนต่ำและแพร่พันธุ์ได้ง่าย รวมถึงมีผลกระทบเรื่องจริยธรรมที่มีน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงที่ถูกฝึกมา เช่น หมา หนู หรือแมว​ ฯลฯ

ฝึกแมลงสาบยังไง หรือเทคโนโลยีอะไรใช้ควบคุม ?

ปกติแล้วสัตว์กู้ภัยอย่าง น้องหมา ต้องฝึกฝนเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ทำตามคำสั่งและปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการฝึกทำไม่ง่าย แต่ทำได้เพราะน้องหมามีความฉลาด และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนเด็ก 2-3 ขวบ ส่วนแมลงสาบแม้จะมีความฉลาด หากเทียบกับแมลงด้วยกัน แต่ก็ยังน้อยกว่าหมาอยู่มาก ทำให้การฝึกให้ทำตามคำสั่งไม่ได้ 

การควบคุมแมลงสาบเลยต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย ฮิโรทากะ ซาโต พบว่าหากส่งสัญญาณไฟฟ้าไปทางไหนแมลงสาบจะหันไปทางตรงข้าม เช่น หากส่งสัญญาณไปทางซ้ายมันจะหันไปทางขวา ในขณะเดียวกันถ้าส่งไปทางขวามันก็จะหันไปทางซ้าย และถ้าส่งสัญญาณไปที่ก้น มันจะวิ่งไปด้านหน้าอย่างรวดเร็ว จึงมีการเอาแผงวงจรมาแปะไว้บนหลัง เพื่อรับคำสั่งและส่งสัญญาณ​ควบคุม ซึ่งจะเปลี่ยนจากแมลงสาบธรรมดามาเป็น แมลงสาบไซบอร์ก

แบกเป้ขึ้นหลัง แล้วไปกู้ภัย

นอกจากแผงวงจรที่ใช้ควบคุมทิศทางการเดินของแมลงสาบแล้ว ฮิโรทากะ ซาโต ยังใส่อุปกรณ์ค้นหาผู้ประสบภัยขนาดเล็กไว้ด้วย ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า เป้ (Backpack) ที่ประกอบด้วย กล้องอินฟาเรด สำหรับจับความร้อนของผู้รอดชีวิต เซนเซอร์ระบุตำแหน่ง หรือเซนเซอร์จับแรงสั่นสะเทือนเข้าไปด้วย ซึ่งการใช้กู้ภัยจะส่งแมลงสาบไปเป็นฝูงในการค้นหา สร้างแผนที่ และกลับออกมา เพื่อวางแผนในการกู้ภัย

กำลังพัฒนาด้วงและปูกู้ภัย

นอกจากการกู้ภัยด้วยแมลงสาบ ทาง ฮิโรทากะ ซาโต ยังทำวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมการบินจากด้วง รวมถึงพัฒนาการนำทางแบบสะเทินน้ำสะเทินบกอย่างปูได้อีกด้วย

เรื่องจริยธรรม ที่ยังต้องหาข้อสรุป

แม้ว่าแมลงสาบจะเป็นที่รังเกียจของใครหลายคน แต่มันคือหนึ่งในสิ่งมีชีวิต การจับมาดัดแปลงเป็นแมลงสาบไซบอร์กด้วยการติดอุปกรณ์ หรือฝังชิปไว้ในตัวเพื่อควบคุม อาจถูกมองว่าเป็นการทรมานสัตว์ และอาจจะมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตในระยะยาว รวมถึงความเจ็บปวดที่แมลงสาบได้รับจากไฟฟ้าที่ใช้ควบคุม นี่คือเรื่องจริยธรรมที่ยังต้องหาข้อสรุป แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้แมลงสาบเป็นตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพสูง ในขณะที่ใช้ต้นทุนต่ำ และมีข้อจำกัดน้อย