หากพูดถึง Boeing บริษัทอากาศยานที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเป็นศตวรรษ เชื่อว่าไม่มากก็น้อยมักจะเคยได้ยินทั้งความรุ่งโรจน์และความล้มเหลวของ Boeing แบบขึ้นสุดลงสุด และเหตุการณ์การเผชิญความล้มเหลวจากนโยบายธุรกิจที่หลงทิศหลงทางที่ยังคงมีผลต่อชื่อเสียงของ Boeing มาจนถึงปัจจุบัน บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นของความสวยงามและจุดที่ต่ำที่สุดของ Boeing อะไรที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้กับ Bookmark รายการของ BT original โดยประภาส อยู่เย็น
William E. Boeing จากนักธุรกิจเจ้าของโรงงานไม้ สู่ผู้อยู่เบื้องหลังเครื่องบินในสงคราม
ปี 1909 ณ เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา วิลเลียม เอ็ดเวิร์ด โบอิง (William E. Boeing) ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักธุรกิจโรงงานไม้ ได้เห็นเครื่องบินในงานแสดงและตัดสินใจก่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องบินในปีถัดมาโดยซื้อโรงงานเรือไม้
ในปี 1916 โรงงานผลิตเครื่องบิน Sea Plane รุ่นแรกในชื่อ ‘Boeing Model 1’ หรือ ‘B&W’ และในอีก 1 เดือน Boeing ก่อตั้ง Pacific Aero Products Company ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Boeing Airplane Company บริษัทมีบทบาทสำคัญในการผลิตเครื่องบินทหารตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 โดยผลิต Boeing Model 2 จำนวน 50 ลำให้กองทัพเรือสหรัฐฯ และในสงครามโลกครั้งที่ 2 Boeing ผลิตเครื่องบิน B-29 Superfortress ซึ่งถือว่ามีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์เพราะเป็นเครื่องใช้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ
หลังช่วงสงคราม Boeing ได้หันมาพัฒนาเครื่องบินเชิงพาณิชย์มากขึ้น ตั้งแต่เครื่องบินสำหรับการขนส่งไปรษณีย์ทางอากาศ และเริ่มบุกเบิกการผลิตเครื่องบินขนส่งผู้โดยสาร ไล่ไปตั้งแต่โมเดล Model 40A เครื่องบินไปรษณีย์ทางอากาศที่บรรจุผู้โดยสารได้ 2 คน แต่ก้าวสำคัญที่ทำให้ Boeing เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมการบินสู่สมัยใหม่ก็คือโมเดล Boeing 247 ที่เริ่มทำการบินครั้งแรกในปี 1933 ที่มาพร้อมกับวิทยุสื่อสารและอุปกรณ์ความปลอดภัย สามารถบินข้ามประเทศ และบินในเวลากลางคืนได้ รวมทั้ง Boeing 307 Stratoliner เครื่องบินที่มีระบบควบคุมแรงดันห้องโดยสารลำแรก ทำให้สามารถไต่เพดานบินได้ในระดับความสูงถึง 20,000 ฟุต โมเดล Boeing 707 เครื่องบินโดยสารเครื่องยนต์เจ็ต 4 ตัวลำแรกที่เปิดยุคสมัยเครื่องบินโดยสารที่ใช้เครื่องยนต์แบบเจ็ต
Boeing 747 : จากราชินีแห่งฟากฟ้า สู่การปิดฉากอย่างน่าเสียดาย
โมเดลที่ปฏิวัติวงการอย่างแท้จริงคงหนีไม่พ้น Boeing 747 เครื่องบินเจ็ตลำตัวกว้างลำแรกที่เริ่มผลิตสำหรับ Pan American World Airways ในปี 1966 มีขนาดใหญ่ ด้วยพิสัยบินข้ามทวีป และส่วนหัวป่องสำหรับที่นั่งชั้นบน ทำให้ได้ฉายา Jumbo Jet สามารถบรรจุผู้โดยสารจำนวนมาก เปลี่ยนการเดินทางโดยเครื่องบินให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แล้วด้วยขนาดมหาศาล Boeing ได้สร้างโรงงาน Everett Factory ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกด้วยปริมาตร 13 ล้านตารางเมตร เพื่อผลิตโมเดลนี้โดยเฉพาะ
ตลอด 57 ปี Boeing 747 ครองใจสายการบินชั้นนำทั่วโลก ถูกใช้เป็น Air Force One และมียอดผลิต 1,574 ลำ คว้าตำแหน่ง Queen of the Skies และพา Boeing ขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมการบิน อย่างไรก็ตาม การมาของ Airbus A380 และความนิยมเครื่องบินขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมันมากกว่า ทำให้ความต้องการเครื่องบินยักษ์ลดลง สุดท้าย Boeing 747 ลำสุดท้ายผลิตในปี 2022 และส่งมอบให้ Atlas Air เป็นเครื่องบินขนส่งในปี 2023 ปิดฉากราชินีแห่งฟากฟ้าอย่างสมบูรณ์
ความวินาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการสูญเสียความไว้ใจที่ยากจะกู้คืน
ในปี 1997 Boeing ได้ควบรวมกิจการกับ McDonnell Douglas (บริษัทผลิตเครื่องบินการทหาร) ด้วยมูลค่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้เปลี่ยนจากเน้นวิศวกรรมเป็นมุ่งกำไรสูงสุด ลดต้นทุนโดยจ้างซัปพลายเออร์หลายรายผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เมื่อ Airbus เปิดตัว A320 Neo ที่ประหยัดเชื้อเพลิงและได้รับคำสั่งซื้อจำนวนมาก Boeing จึงรีบแก้เกมโดยอัปเกรด Boeing 737 เป็น 737-MAX ด้วยเครื่องยนต์ใหญ่ขึ้น แต่การย้ายตำแหน่งเครื่องยนต์ทำให้เครื่องเสียสมดุล วิศวกรจึงต้องแก้ปัญหาด้วยระบบ MCAS แต่ Boeing ไม่ได้ระบุเรื่องนี้ในคู่มือและไม่ได้ฝึกอบรมนักบิน
ความผิดพลาดใหญ่คือตัวระบบ MCAS นี้เอง เพราะระบบ MCAS นำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงถึง 2 ครั้งในเวลาไม่ถึง 6 เดือน ปี 2018 เครื่องบิน 737-MAX ของ Lion Air ตกในอินโดนีเซีย เสียชีวิต 189 คน และปี 2019 เครื่องของ Ethiopian Airlines ตกในเอธิโอเปีย เสียชีวิต 157 คน สาเหตุมาจาก MCAS ที่ Boeing พยายามปกปิด ผลกระทบรุนแรงถึงขั้น FAA (องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา) ต้องสั่งระงับบิน 737-MAX ทั่วโลก 20 เดือน Boeing ต้องจ่ายค่าชดเชย 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คำสั่งซื้อ 183 รายถูกยกเลิก CEO ถูกปลด บริษัทถูกสอบสวน ซัปพลายเออร์ล้มละลาย หุ้นตกหนัก ความเชื่อมั่นจากสายการบิน นักลงทุน และผู้โดยสารต่อ Boeing ในฐานะผู้นำวงการเครื่องบินพังทลาย และแน่นอนว่าชื่อของ Boing จะไม่ใช่เครื่องบินที่ดีที่สุดในโลกอีกต่อไป และถ้าคุณคิดว่านี่คือทั้งหมดแล้ว คุณคิดผิด เพราะวิกฤติของ Boeing ยังไม่จบสิ้นเพียงเท่านี้
เมื่อวันที่ 5 มกราคม ปี 2024 ผนังเครื่องบิน Boeing 737-MAX 9 ของสายการบิน Alaska Airlines หลุดออกจากตัวเครื่องขณะเทกออฟ เนื่องจากความผิดพลาดจากการขันสลักเกลียวยึดผนังที่ใช้อุดปิดประตูฉุกเฉินไม่แน่นหนาพอ ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมบรรดาข่าวอุบัติเหตุเครื่องบินของ Boeing ที่เกิดขึ้นซ้ำซากบ่อยครั้ง ตั้งแต่การพบชิ้นส่วนหลุด ล้อหลุด ลดระดับความสูงกลางอากาศแบบฉับพลัน ไปจนถึงการลื่นไถลออกนอกรันเวย์และเครื่องบินตก ยิ่งส่งผลร้ายซ้ำเติมให้ภาพลักษณ์ของบริษัทแย่ลงไปกว่าเดิม
ไม่ใช่เพียงแค่นั้น มีรายงานเปิดเผยว่า ผู้บริหารกลับทุ่มเงินกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปซื้อหุ้น Boeing ในตลาดคืนมาเพื่อหวังทำกำไร แทนที่จะนำงบไปพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ แต่ที่ฉาวโฉ่ยิ่งกว่าก็คือ การที่พนักงานของ Boeing หลายคนออกมาเปิดโปงปัญหาการผลิตและวัฒนธรรมองค์กร ปี 2019 จอห์น บาร์เน็ตต์ (John Barnett) อดีตผู้จัดการฝ่ายควบคุมคุณภาพที่ทำงานกับบริษัทมากว่า 30 ปี ได้ออกมาเปิดโปงปัญหาความเร่งรีบจนละเลยปัญหาด้านความปลอดภัยในการผลิต ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำในปี 2024 และ โจชัว ดีน (Joshua Dean) อดีตซัปพลายเออร์ที่ทำงานให้กับ Boeing ได้ออกมาเปิดเผยปัญหาในการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินรุ่น 737 MAX จนทำให้เขาถูกไล่ออก แต่สุดท้ายกลับเสียชีวิตอย่างกะทันหันในเวลาต่อมา
ความท้าทายของ Boeing กับโครงการอวกาศ
Boeing มีประวัติยาวนานในการร่วมงานกับ NASA ตั้งแต่ภารกิจ Apollo ไปจนถึงการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โครงการยานอวกาศ CST-100 Starliner กลับเผชิญปัญหามากมาย
ในปี 2014 NASA มอบหมายให้ Boeing และ SpaceX พัฒนายานอวกาศเพื่อขนส่งนักบินอวกาศไป-กลับ ISS หลังจากกระสวยอวกาศปลดประจำการ ทำให้สหรัฐฯ ต้องพึ่งพายาน Soyuz ของรัสเซีย
Boeing ได้รับงบ 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับ Starliner ขณะที่ SpaceX ได้รับ 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับยาน Crew Dragon
อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Starliner ล่าช้ากว่ากำหนดหลายปี SpaceX ส่งยาน Crew Dragon ได้ก่อนตั้งแต่ปี 2020 ส่วน Starliner ต้องรอจนถึงปี 2019 เพื่อทดสอบบินยานเปล่า และยังพบปัญหาทางเทคนิค ทำให้ต้องเลื่อนการทดสอบไปถึงปี 2022 การทดสอบบินพร้อมลูกเรือถูกกำหนดไว้ในปี 2024 แต่ก็ต้องยกเลิกในนาทีสุดท้ายเนื่องจากปัญหาใหม่
ในที่สุด วันที่ 5 มิถุนายน 2024 ยาน Starliner พร้อมนักบินอวกาศแบร์รี วิลมอร์ (Barry Wilmore) และ สุนิตา วิลเลียมส์ (Sunita Williams) ออกเดินทางไป ISS ได้สำเร็จ แต่ระหว่างภารกิจ พบปัญหาการรั่วไหลของก๊าซฮีเลียม 5 จุด และปัญหาอื่น ๆ ทำให้ NASA และ Boeing ต้องเลื่อนการส่งทั้งคู่กลับโลก เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของยาน
สองเดือนต่อมา NASA ตัดสินใจว่า Starliner ไม่พร้อมสำหรับการเดินทางกลับ และให้วิลมอร์ กับ วิลเลียมส์ กลับโลกด้วยยาน Crew Dragon ของ SpaceX แทน ยาน Starliner กลับสู่โลกแบบไร้นักบินในวันที่ 7 กันยายน 2024 ส่วนนักบินทั้งสองกลับถึงพื้นโลกอย่างปลอดภัยด้วยยาน Crew Dragon ในวันที่ 18 มีนาคม 2025
บทบาทของการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ
นอกจากเครื่องบินพาณิชย์ การทหาร และยานอวกาศ Boeing ยังมุ่งพัฒนาอากาศยานไร้คนขับสำหรับการทหารและการขนส่ง โดยในปี 2002 ได้เปิดตัวเครื่องบินรบไร้คนขับ X-45A และพัฒนารุ่นอื่น ๆ ต่อมา จนในปี 2019 เปิดตัวเครื่องบินขับไล่ไร้คนขับต้นแบบในออสเตรเลียผ่าน Boeing Airpower Teaming System ซึ่งมีรัศมีปฏิบัติการ 2,000 ไมล์ทะเล ออกแบบให้บินร่วมกับเครื่องบินขับไล่ทั่วไป
ในปีเดียวกัน Boeing ทดสอบ Passenger Air Vehicle (PAV) อากาศยานไฟฟ้าไร้คนขับที่บินได้ 50 ไมล์ทะเล รองรับการบินและลงจอดแนวตั้งอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เผชิญความไม่แน่นอนเมื่อ Boeing ปิดหน่วยงาน Boeing NeXt ในปี 2020 ซึ่งดูแล PAV เนื่องจากวิกฤติการเงินจากปัญหา Boeing 737 MAX และการแพร่ระบาดของ COVID-19
แม้ Boeing ยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการบิน แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นจากผู้โดยสารและอุตสาหกรรมอย่างรุนแรงจนยากที่จะกอบกู้คืนกลับมาภายในเร็ววัน
รับชมเพิ่มเติมได้ที่