ทุกวันนี้เราอาจคุ้นชินกับการฟังเพลงผ่านสมาร์ตโฟนกันจนเป็นเรื่องปกติ เพราะแค่เปิดแอป แตะหน้าจอ ก็มีเพลงนับล้านให้เลือกฟังได้ทันที

ก่อนที่ดนตรีจะย้ายเข้ามาอยู่ในมือเราแบบทุกวันนี้ โลกเคยผ่านยุคทองของเครื่องเสียงหลากหลายรูปแบบ ทั้งใหญ่เทอะทะ คลาสสิก เท่ และมีสไตล์แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละยุคก็มีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง

ใครที่เคยใช้ของพวกนี้ในยุคนั้น จะรู้ว่าการได้กรอเทปเอง เสียบหูฟัง Walkman แล้วเดินเล่น หรือเปิดแผ่นเสียงในห้องนั่งเล่นช่วงวันหยุด มันไม่ใช่แค่การฟังเพลง แต่มันคือ ‘ช่วงเวลา’ ที่เราสร้างความรู้สึกไปพร้อมกับเสียงดนตรี

แม้วันนี้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปไกลแค่ไหน เพลงต่าง ๆ จะอยู่ในระบบสตรีมมิง หรือจะมี AI แนะนำเพลงให้ทุกวัน แต่เสน่ห์ของการ ‘กรอเทปด้วยปากกา’ หรือ ‘การเลือกฟังเพลงหน้า A หน้า B’ ก็ยังเป็นความรู้สึกเล็ก ๆ ที่ไม่มีแอปฯ ไหนแทนที่ได้เลย

จึงไม่แปลกที่ของเหล่านี้จะกลายเป็นของสะสมยอดฮิต สำหรับคนรักเสียงเพลงและนักสะสมตัวยง หลาย ๆ คนตามล่าหาเครื่องเล่นเก่า ๆ หรือแผ่นเสียงหายากของวงที่ตัวเองชอบมาครอบครอง

ทำให้หลายคนอาจจะเคยเห็นเครื่องฟังเพลงรูปแบบต่าง ๆ ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น Cassette Player หรือ เครื่องเล่นแผ่นเสียง (Record Player) ที่มีกลิ่นอายความคลาสสิกแบบยุคก่อน

แต่รู้ไหมครับว่า กว่าจะกลายเป็นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา ที่สะดวกสบายในยุคดิจิทัล ต้องผ่านมากี่ยุคกี่สมัย มีเทคโนโลยีเด่น ๆ อะไรบ้างที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การฟังเพลงไปตลอดกาล ?

Phonograph

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1877 โธมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) หรือที่รู้จักในฐานะผู้คิดค้นหลอดไฟ เขาได้สร้างเครื่องบันทึกเสียงเครื่องแรกของโลก ซึ่งสามารถบันทึกและเล่นเสียงได้ในเครื่องเดียว เครื่องนี้มีชื่อว่า ‘โฟโนกราฟ’ (Phonograph) โดยใช้กระบอกเสียง (Cylinder record) เป็นสื่อในการบันทึกเสียงนั่นเอง

Phonograph

Gramophone

10 ปีผ่านไป ในปี ค.ศ. 1887 เอมิล เบอร์ลินเนอร์ (Emile Berliner) ได้พัฒนาเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น สิ่งนั้นชื่อว่า แกรโมโฟน (Gramophone) หรือเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบมือหมุน และจดสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 1887 ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ไวนิลในภายหลัง

แกรโมโฟนถือเป็นต้นแบบของเครื่องเล่นแผ่นเสียงในยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้ เพราะมันทำงานผ่านการอ่าน ‘ร่องบนแผ่นเสียง’ และนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่ ‘แผ่นเสียง’ (Disc) จนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการบันทึกและเล่นเสียง จนนำไปสู่เทคโนโลยีการผลิตแผ่นเสียงไวนิลที่นิยมในปัจจุบัน

Gramophone

Cassette Player – เทปเพลงคาสเซ็ตในตำนาน

ขยับมาในปี 1979 Sony ก็ได้เปิดตัวเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตแบบพกพาเครื่องแรกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย นั่นก็คือ ‘Sony Walkman’ อุปกรณ์ฟังเพลงขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และราคาที่จับต้องได้เครื่องนี้ สามารถฟังเทปคาสเซ็ตหรือวิทยุ AM/FM ผ่านหูฟังส่วนตัวได้ทุกที่ทุกเวลา

กลายเป็นว่า Sony Walkman ได้ปฏิวัติวิธีการฟังเพลงของผู้คนในยุคนั้นไปเลย เพราะเป็นครั้งแรกที่เราสามารถฟังเพลงและรายการวิทยุในอุปกรณ์ชิ้นเดียวได้

อีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของการฟังเพลงจาก เทปคาสเซ็ต ที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินกัน นั่นก็คือ ‘การกรอเทป’ เพื่อย้อนกลับไปฟังเพลงเดิม ๆ ที่เราชอบ หรือท่อนที่เราอยากฟังซ้ำ ๆ ซึ่งวิธีของมันก็คือการปุ่มกรอบนอุปกรณ์ หรือใช้ดินสอเสียบลงไปและหมุนเทปกลับด้วยตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์เฉพาะตัวของการฟังเพลงในยุคนั้นเลยก็ว่าได้

Cassette Player

‘ซาวด์เบาท์ ? ’ สแลงไทยจากยุคทองของเครื่องเล่นเพลงพกพา

คำว่า ‘ซาวด์เบาท์’ ที่เราคุ้นหูกันดีในหมู่คนไทยยุค 90s จริงๆ แล้ว มันเป็นสแลงที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า ‘Soundabout’ ซึ่งเคยเป็นชื่อที่ Sony ใช้เรียก Walkman ช่วงแรก ๆ ตอนทำตลาดในสหรัฐอเมริกา

แต่ในที่สุด Sony ก็ตัดสินใจกลับมาใช้ชื่อ Walkman อย่างเป็นทางการทั่วโลก แต่ชื่อ ‘Soundabout’ ดันไปติดหูคนใช้ในหลายประเทศ รวมถึงเมืองไทย ที่เพี้ยนเสียงต่อเป็น ‘ซาวด์เบาท์’ จนกลายเป็นชื่อเรียกสามัญประจำบ้านสำหรับเครื่องเล่นเทปแบบพกพา (หรือบางคนก็ใช้เรียกหูฟังสาย) ไปโดยปริยาย

อิทธิพลวงการ Hip-Hop

อีกหนึ่งนวัตกรรมสำคัญในวัฒนธรรมเทปคาสเซ็ต นั่นก็คือ Boombox เครื่องเล่นเทปแบบพกพาที่มีลำโพงในตัวแม้จะมีขนาดใหญ่กว่า Sony Walkman แต่ก็ยังถือว่าเป็นอุปกรณ์แบบพกพา 

โดยทั่วไปแล้วจะมีช่องใส่เทปหนึ่งหรือสองช่องสำหรับเล่นและบันทึกเสียง พร้อมลำโพงที่มีขนาดใหญ่ที่เป็นจุดเด่น บวกกับดีไซน์ที่เท่เสียเหลือเกิน ทำให้ Boombox กลายเป็นอุปกรณ์ที่สะดุดตา และถูกใจเหล่าสายฮิปฮอปเป็นอย่างมาก

ในยุคนั้น Boombox ถูกใช้เปิดเพลงประกอบการเต้นเบรกแดนซ์ และแร็ปแบตเทิลตามท้องถนน จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมฮิปฮอปไปเลยในตอนนั้น อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือราคาไม่แพงในการทำเทปเดโม สำหรับแร็ปเปอร์และดีเจหน้าใหม่ที่ต้องการแจ้งเกิดในวงการยุคนั้นอีกด้วย

Boombox

Portable CD Players 

เมื่อเขาดีกว่าฉันก็ต้องไป … เพราะในปี 1984 ได้เข้าสู่ยุค Discman หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘CD Walkman’ เมื่อแผ่นซีดีเริ่มเข้าสู่กระแสหลัก อุปกรณ์พกพาสุดล้ำนี้ก็กลายเป็นของฮิตติดกระแสทันที 

นอกจากจะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าเทปคาสเซ็ตแล้ว ยังมาพร้อมฟีเจอร์ที่น่าสนใจมากในยุคนั้น นั่นก็คือการเลือกเล่นเพลงจากอัลบั้มได้ตามใจเราเลย ไม่ต้องมานั่งกรอเทป เพื่ออยากฟังเพลงที่ชอบเพลงเดียวอีกต่อไป !

Discman D-50 ได้รับการยกย่องให้เป็นเครื่องเล่นซีดีแบบพกพาเครื่องแรกของโลก ความนิยมของมันพุ่งทะยานในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อมีการเพิ่มฟีเจอร์ Electronic Skip Protection (เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหา ‘เพลงกระตุก’ หรือ ‘เล่นสะดุด’) ก็ทำให้ในปี 1997 ก็ทำให้ Discman กลายเป็นไอเทมที่ ‘ต้องมี’ แห่งยุคอย่างแท้จริง

ความสำเร็จของ Discman ได้เปิดทางให้แบรนด์อื่น ๆ ออกสินค้าคล้ายกันมาชิงส่วนแบ่งตลาด ทำให้ยุคของเครื่องเล่นซีดีแบบพกพาเต็มไปด้วยการแข่งขันและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ฟังเพลงยุคนั้นอีกด้วย

Portable CD Players 

MP3 Player : การปฏิวัติการฟังเพลงในยุคดิจิทัล

เมื่อเข้าสู่ปลายยุค 90s การฟังเพลงก็ได้เปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้ง เพราะการมาถึงของ MP3 Player อุปกรณ์ขนาดกะทัดรัดที่สามารถเก็บเพลงได้หลายร้อยหรือแม้แต่หลายพันเพลงในเครื่องเดียว โดยไม่ต้องพึ่งพาแผ่นซีดีหรือเทปอีกต่อไป 

การบีบอัดไฟล์เสียงในรูปแบบ MP3 ช่วยลดขนาดไฟล์โดยไม่สูญเสียคุณภาพมากนัก ทำให้ผู้ใช้งานสามารถพกพาคลังเพลงติดตัวไปได้ทุกที่ ​

ในปี 1998 บริษัท SaeHan จากเกาหลีใต้ได้เปิดตัว MPMan F10 ซึ่งถือเป็นเครื่องเล่น MP3 แบบพกพาเครื่องแรกของโลก โดยมีหน่วยความจำภายใน 32MB สามารถเก็บเพลงได้ประมาณ 8 เพลงMP3 ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ของอุปกรณ์ฟังเพลงแบบพกพา เป็นรากฐานของนามสกุลไฟล์เสียงมาจนถึงทุกวันนี้

MPMan F10

ด้วยเทคโนโลยีการบีบอัดข้อมูลเสียงที่สามารถลดขนาดไฟล์ลงได้ โดยไม่สูญเสียคุณภาพที่มากเกินไปของ MP3 ทำให้ นี่คือจุดเปลี่ยนของการฟังเพลงในสมัยนั้น ให้เป็นเรื่องที่สะดวก ฟังได้ง่ายมากกว่าที่เคย

Apple iPod – ราชาแห่งอุปกรณ์ฟังเพลงดิจิทัล


ในบรรดาเทคโนโลยีทั้งหมดของยุค MP3 คงไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่า Apple iPod ที่เปิดตัวในปี 2001 อุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่เพียงแค่เข้ามาเปลี่ยนวิธีฟังเพลงของผู้คน แต่ยัง ‘วิ่งแซง’ คู่แข่งรายอื่น ๆ อย่างขาดลอยตั้งแต่วันแรกที่วางจำหน่าย

ด้วยดีไซน์เรียบง่ายแต่ล้ำสมัย ความสามารถในการเก็บเพลงได้มากถึง 1,000 เพลง และการใช้งานที่ลื่นไหลผ่าน iTunes  แพลตฟอร์มที่ Apple พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อ จัดการ และซิงก์เพลงได้

มองอีกมุมหนึ่ง มันไม่ใช่แค่เครื่องเล่นเพลงธรรมดา แต่คือไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย พกพาง่าย ฟังเพลงได้ทุกที่ทุกเวลา และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Ecosystem) ของ Apple ที่เราเห็นในปัจจุบัน

Apple iPod

ก่อน iPod จะเกิด  พี่เปิดมาก่อน โทรศัพท์เครื่องแรกที่เล่น MP3 ได้

จริง ๆ แล้ว โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกที่เล่นไฟล์ MP3 ได้ มีมาก่อน iPod อีกนะ

ย้อนกลับไปในปี 1999 บริษัท Samsung จากเกาหลีใต้ได้พัฒนาโทรศัพท์รุ่น SPH-M2100 ซึ่งเป็นมือถือรุ่นแรกที่มาพร้อม เครื่องเล่นเพลง MP3 ในตัว ก่อนที่จะเปิดตัวสู่ตลาดสหรัฐฯ ในปีถัดมา (2000) ในนาม SPH-M100 หรือ UpRoar

แม้ความจุจะยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ฟังเพลงในภายหลัง แต่ความสามารถในการรวมการสื่อสารกับความบันเทิงไว้ในเครื่องเดียว ถือเป็นก้าวแรกของแนวคิด ‘All-in-One Device’ ที่สมาร์ตโฟนยุคหลังนำมาต่อยอดอย่างเต็มที่

SPH-M2100

ความคลาสสิกที่กลายเป็น Pop Culture ของยุค 90s–2000s

ยุค 90s ถึงต้น 2000s คือช่วงเวลาที่เครื่องเล่นเพลงอย่าง Cassette Player, Boombox, Walkman, Discman หรือแม้แต่ MP3 Player รุ่นแรก ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของ ไลฟ์สไตล์ และ Pop Culture อย่างเต็มตัว

เพราะเรามักจะเห็นแร็ปเปอร์ เดินเปิด Boombox อยู่กลางถนนอย่างในเรื่อง Step Up, ตัวละครในซีรีส์ฝรั่งเสียบหูฟัง Walkman ตอนนั่งเหงา ๆ ในรถเมล์ หรือแม้แต่ฉากในหนังรักที่พระเอกมอบเทปให้คนที่แอบชอบ พร้อมเพลงที่เลือกมาเองทุกเพลงหรือนั่นก็คือการ ‘บอกความในใจ’ แบบยุคอะนาล็อก

และไม่ต้องพูดถึง MP3 Player รุ่นแรก ๆ ที่ทำให้เด็กยุคนั้นอินกับเพลงมากสุด ๆ  เพราะเพลงที่เราโหลดมาฟังนั่นคือเพลงที่เราชอบและ ‘เลือกเอง’ ทุกเพลง

จากกระแสหลักสู่ของสะสม ‘จุดเริ่มต้นของการเลือนหาย’

แม้ว่าเครื่องเล่นเพลงพกพาจะเคยได้รับความนิยมถล่มทลาย แต่ไม่นานนัก ก็เริ่มถูกจัดอยู่ใน ‘บัญชีรายชื่อเทคโนลียีที่ตกยุค’ เพราะเทคโนโลยีย่อมทำให้โลกเราก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ

การมาถึงของ สมาร์ตโฟน ที่รวมทุกอย่างไว้ในเครื่องเดียว ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ กล้อง อินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชัน และแน่นอนว่า เครื่องเล่นเพลง ทำให้ผู้คนเริ่มลดการพกพาอุปกรณ์หลายชิ้นลง iPod และเพื่อนร่วมยุคจึงเริ่มถูกมองว่า ‘เกินความจำเป็น’

ในขณะเดียวกัน การสตรีมมิงเพลง ก็เริ่มเข้ามามีบทบาท แทนที่การดาวน์โหลดหรือซื้อเพลงเป็นไฟล์ ผู้ใช้งานก็สามารถเข้าถึงเพลงได้หลายล้านเพลง ไม่ต้องกังวลเรื่องพื้นที่จัดเก็บอีกต่อไป

แม้จะสิ่งของเหล่านี้จะเป็นที่รักและยังคงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน เครื่องเล่นเพลงพกพายุคก่อนจึงค่อย ๆ ก้าวลงจากเวที จนกลายเป็นของสะสม หรืออาจถูกหยิบมาใช้งานเพื่อความวินเทจในหมู่คนรักเสียงเพลงยุคใหม่เพียงเท่านั้นเอง