กรุงเทพฯ 21 เมษายน 2568 – รัฐบาลไทย โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผนึกกำลัง ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ “THAI Academy ขับเคลื่อนอนาคต AI ประเทศไทย” ยกระดับพันธกิจการเสริมทักษะด้าน AI เป้าหมายครอบคลุมคนไทยกว่า 1 ล้านคน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์และรัฐบาลไทย พร้อมพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 35 องค์กร และขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในการขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค AI First
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มองว่า นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมองว่าในฐานะที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นผู้จัดงานเกี่ยวกับ AI ร่วมกับองค์กรยูเนสโก (UNESCO) ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ไทยจะได้เข้ามาเป็นผู้นำเรื่อง AI ในระดับ ASEAN การที่คนไทยมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการใช้ AI จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยได้กล่าวเสริมอีกว่า “AI เป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการนำพาประเทศไทยให้ก้าวเดินและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งบนเวทีโลก รัฐบาลไทยได้วางแผนแม่บท AI แห่งชาติที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพในหลายมิติ รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจด้าน AI ให้กับประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง การร่วมกันเปิดตัวโครงการ THAI Academy ครั้งนี้ สอดคล้องเป็นอย่างดีกับแผนงานของภาครัฐในการจับมือกับผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยเร็วที่สุด”

“The most successful companies in the age of AI will win because of their people”
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวภายในงานว่าเพราะ AI จะมาช่วยสร้าง “S-curve” ให้ดีขึ้น เพราะเล็งเห็นว่า AI ได้เข้ามาช่วยทำให้ความท้าทายกลายเป็นโอกาส เพราะ AI ไม่ใช่แค่จะผันให้เราเป็นแค่ผู้ใช้งานแต่ยังเป็นนักพัฒนาได้ด้วย ดังนั้นนี่คือโอกาสที่เราจะได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกระดับ และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้นายธนวัฒน์ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ AI ไว้ว่า “AI ได้เข้ามาเปลี่ยนการทำงานแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน” นั่นคือ 10% ของคนทำงานในปัจจุบันมีตำแหน่งงานที่ไม่เคยมีมาก่อนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว นั่นเป็นเพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโอกาสการทำงานในตำแหน่งใหม่ ๆ มากขึ้น และ 70% ของทักษะการทำงานในปัจจุบันก็จะเปลี่ยนไปภายในปี 2030 จากการเข้ามาของ AI โดยสามารถดูได้ในปัจจุบันที่ทักษะเกี่ยวกับ AI ใน LinkedIn นั้นเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นมากถึง 6 เท่า ดังนั้นการที่คนไทยมีทักษะในการใช้ AI และความเข้าใจที่ลึกซึ้งเชื่อว่านอกจากจะพัฒนาตัวบุคคลแล้วจะช่วยพัฒนาประเทศไปในทางที่ดีมากขึ้นได้ เพื่อสร้าง ‘Competitive advantage’ หรือการได้เปรียบในการแข่งขัน
“ขอขอบคุณรัฐบาลไทย ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะ AI ให้กับคนไทย ภายใต้โครงการ THAI Academy ไมโครซอฟท์ มุ่งมั่นทำงานประสานกับหลากหลายหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เปิดโอกาสการเรียนรู้ทักษะ AI ให้กับคนไทยได้อย่างกว้างขวาง ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทยมากกว่า 1 ล้านคน ภายในปี 2568 นี้”

AI Skills Navigator : แพลตฟอร์มเรียนรู้ AI สำหรับคนไทย
AI Skills Navigator คือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวมหลักสูตร AI กว่า 200 คอร์สจากไมโครซอฟท์และพันธมิตร ช่วยพัฒนาทักษะ AI ให้เหมาะกับทุกคน ตั้งแต่ผู้เริ่มต้น บุคคลทั่วไป มืออาชีพ ไปจนถึงนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้เข้าใจและใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตและการทำงาน หลักสูตรแบ่งเป็น 3 ระดับ
- AI Basics
ปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับ AI ที่มาและประวัติ พร้อมเริ่มต้นใช้งานอย่างง่าย - AI Skills for Everyone
เรียนรู้การใช้เครื่องมือ AI ของไมโครซอฟท์ในชีวิตประจำวันอย่างถูกต้องและได้ผล - Azure AI: Zero to Hero
สำหรับนักพัฒนาและนักศึกษา เรียนรู้การสร้างโซลูชัน AI บนคลาวด์เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพ
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า “ทักษะ AI คือกุญแจสู่ความก้าวหน้าของประเทศ หากไม่เริ่มพัฒนาตอนนี้ เราจะเสียโอกาสและถูกทิ้งห่าง ทักษะ AI ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ยังขับเคลื่อนนวัตกรรมในทุกวงการ การลงทุนใน AI วันนี้คือการเตรียมพร้อมสู่อนาคต”
ผู้สนใจสามารถเริ่มเรียนรู้ทักษะ AI ด้วยตนเองผ่าน AI Skills Navigator ได้แล้ววันนี้ที่ https://aiskillsnavigator.microsoft.com/th-th โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากเนื้อหาทั้ง 200 หลักสูตรที่รวบรวมไว้ในที่เดียวแล้ว แพลตฟอร์มนี้ยังสามารถแนะนำหลักสูตรที่เหมาะสม ตรงตามเป้าหมายและความสนใจที่แตกต่างกันไปของผู้เรียนแต่ละคน
ประสานพลังหน่วยงานภาครัฐ อัปสกิล AI ให้ทั่วถึง
นอกเหนือจากแพลตฟอร์ม AI Skills Navigator แล้ว โครงการ THAI Academy ยังครอบคลุมความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในหลายมิติ โดยมีตัวอย่างโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
ขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐให้ใช้ประโยชน์จาก AI
- จับมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบรายการ (กพร.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร. / DGA) เพื่อพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับข้าราชการไทยกว่า 100,000 คน พร้อมร่วมกับ สพร. ในการจัดกิจกรรม “GovAI Hackathon” ที่เปิดให้บุคลากรภาครัฐจากทุกหน่วยงานมาร่วมแชร์แนวคิดการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย โดยกิจกรรมนี้เปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2568
- จับมือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เสริมทักษะ AI ให้แรงงานไทยและผู้ที่กำลังมองหางานทั่วประเทศ รวมกว่า 100,000 คน
- ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ฝึกอบรมทักษะเฉพาะทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับบุคลากรของ สกมช. และตัวแทนจากองค์กรที่ดูแลโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศรวมกว่า 300 คน ควบคู่ไปกับการจัดอบรมทักษะด้าน AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่นักเรียน-นักศึกษากว่า 10,000 คน
ปลดล็อกศักยภาพ AI เพื่อภาคการศึกษา
- ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพัฒนาทักษะ AI แก่บุคลากรครู 4,500 คน โดยถ่ายทอดความรู้
ความเข้าใจต่อไปยังนักเรียนอีกกว่า 400,000 คนทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ แห่งชาติ (เนคเทค) บรรจุเนื้อหาจากหลักสูตรพื้นฐานด้าน AI ของไมโครซอฟท์ไว้ในหลักสูตร AI Literacy หรือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI ตามโครงการขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในโรงเรียน ซึ่งมุ่งเป้าไปที่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 - ร่วมสร้างทักษะ AI ให้กับนักศึกษา ผ่านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักศึกษาในสายวิชาด้านเทคโนโลยี เพื่อปั้นนักพัฒนารุ่นใหม่ เสริมตลาดแรงงานสาย AI ในไทยด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถกว่า 50,000 คน
เติมพลังให้ผู้ประกอบการเติบโตแบบติดปีกด้วย AI
- ร่วมมือกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตลาดหลักทรัพย์ ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการขับเคลื่อนการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยกว่า 20,000 คน
เสริมโอกาสการเรียนรู้และทำงานให้ทั่วถึงและเท่าเทียม
- ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝึกทักษะ AI ให้กับทีมงานผู้ดูแลศูนย์ ICT Learning Center 1,722 แห่งทั่วประเทศ เพื่อกระจายความรู้ต่อไปยังประชาชนอีกกว่า 250,000 คน
- และล่าสุดกับการเปิดตัวหลักสูตรทักษะ AI ผ่าน AI Skills Navigator พร้อมสนับสนุนให้แรงงานไทยที่อยู่นอกระบบการจ้างงาน เช่น ผู้ที่ไม่มีงานประจำ หรือคนทำงานฟรีแลนซ์ ได้เสริมทักษะ AI ด้วยตนเอง
ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ THAI Academy ได้ที่เว็บไซต์ https://thai-academy.com/th/ หรือเริ่มเรียนรู้ทักษะ AI ด้วยตนเองได้ที่ AISkillsNavigator