สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เตรียมนัดรวมตัวกันในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ เพื่อทำการยื่นหนังสือต่อ กสทช.ให้ชี้แจงรายละเอียดการประมูลทีวีดิจิตอล คาดผู้ประกอบการกว่าครึ่งไปไม่รอดภายใน 5 ปี
นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. จะนัดรวมตัวกันวันที่ 19 พ.ค.นี้ เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดประมูล ทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง และผลวิจัยต่างๆ ในการกำหนดราคาคูปองเพื่อสนับสนุนการรับชมทีวีดิจิตอล ซึ่งส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์
ประธาน สรส. กล่าวต่อว่า ล่าสุดมีความชัดเจนแล้วว่าผู้ประกอบการทีวีที่ประมูลไปนั้น มากกว่าร้อยละ 50 อาจจะไปไม่รอดในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี เพราะ กสทช. ไม่มีความพร้อมในการกระจายการรับชม ส่งผลให้เอเจนซี่ไม่ซื้อโฆษณา เพราะไม่มั่นใจช่องใหม่ และไม่มีใครกล้าลงทุนกับคอนเทนต์ใหม่ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องออกอากาศตามประกาศหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ที่เรียกว่า ‘มัสต์แครี่’ โดยก่อนหน้านี้ในปีที่แล้ว สรส. เคยเข้ายื่นหนังสือต่อ กสทช. เพื่อคัดค้านการเปิดประมูลทีวีดิจิตอล และให้ใช้วิธีคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม หรือ บิวตี้ คอนเทสต์ พร้อมทั้งแสดงความกังวลว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ หาก กสทช. ยังเปิดประมูล อย่างไรก็ตาม กสทช. กลับมองว่าการเปิดประมูลครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของวงการโทรทัศน์จากการที่ผู้ชมมีทางเลือกในการรับชมฟรีทีวีเพิ่มมากขึ้น
นายสุวิทย์ ระบเพิ่มเติมว่า ตนจะขอข้อมูลจากคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาที่เคยเรียกทุกฝ่ายไปชี้แจงเกี่ยวกับการประมูล โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีการเปิดประมูล ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะนำไปยื่นต่อศาลปกครอง หากมีการฟ้องร้องในภายหลัง
ขณะเดียวกัน น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสท. กล่าวว่า การประมูลให้เกิดการแข่งขันมากกว่าฟรีทีวี 6 ช่องเดิมถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ซึ่ง กสท. มีประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล ผ่านการรับฟังความเห็นสาธารณะหรือประชาพิจารณ์ มาแล้ว แต่สิ่งที่ กสท. ต้องเร่งทำคือ กระจายการรับชมให้เข้าถึงโดยเร็ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แต่ละช่องมีคนดูเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งยอมรับว่ามีความกังวลว่าการดำเนินการต่างๆ เช่น การไม่ประชาพิจารณ์ราคาคูปอง รวมทั้งกระบวนการอีกหลายอย่างที่เป็นเพียงมติบอร์ด กสท. ไม่ใช่ประกาศ จะทำให้ กสท. ถูกฟ้องได้ จึงต้องการให้ทางสำนักงาน กสทช. เปิดประชาพิจารณ์ระหว่างที่รอคณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยจะสรุปราคาในวันที่ 27 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
ที่มา : thairath