ใครนอนไม่หลับยกมือขึ้น! หลายๆคนที่เคยมีประสบการณ์ การนอนไม่หลับ หรือนอนหลับยาก อาจคุ้นเคยกับคำว่า Insomnia แต่คุณรู้หรือไม่ว่า อาการนอนไม่หลับนั้นยังถูกแบ่งเป็นประเภทย่อยๆได้อีก 5 ประเภท และวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอาการ Insomnia ทั้ง 5 ประเภทกัน
Insomnia เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มอาการนอนไม่หลับ อาการที่เด่นชัดคือการนอนหลับยาก หรือแม้แต่การที่คุณตื่นขึ้นมาแต่เช้าตรู่ แล้วไม่สามารถนอนหลับต่อได้ ก็ถือเป็นอาการ Insomnia เช่นกัน ประชากรประมาน 10% ได้รับผลกระทบจากอาการนี้ ถึงแม้ว่าอาการหลักของ Insomnia คือ การนอนหลับยาก แต่เมือไม่นานมานี้งานวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับอาการ Insomnia จากการให้อาสาสมัครที่มีแนวโน้มมีอาการ Insomnia ตอบแบบสอบถาม Netherlands Sleep Registry (แบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพอารมณ์และพฤติกรรมการนอนหลับ) พบว่าอาการของผู้ป่วยจะมีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพ และอารมณ์ ที่แตกต่างกันออกไปถึง 5 ประเภทด้วยกัน
ประเภทที่ 1 : กลุ่มคนที่มีอารมณ์เชิงลบมาก (ความเครียด ความวิตกกังวล) และมีระดับความสุขที่ต่ำ
ประเภทที่ 2 : เป็นกลุ่มคนที่มีอารมณ์เชิงลบ ความสุข และ ความพึงพอใจในอารมณ์อยู่ในระดับปานกลาง
ประเภทที่ 3 : กลุ่มคนที่มีอารมณ์เชิงลบในระดับปานกลาง แต่ความสุขและความพึงพอใจในอารมณ์ต่างๆ อยู่ในระดับต่ำ
ประเภทที่ 4 : กลุ่มคนที่มีอารมณ์เชิงลบในระดับต่ำ แต่มีประสบการณ์การนอนไม่หลับที่ยาวนานเนื่องจากการตอบสนองต่อเหตุการณ์เครียดที่เคยได้รับมาก่อนหน้านี้
ประเภทที่ 5 : กลุ่มคนที่มีอารมณ์เชิงลบในระดับต่ำ และไม่มีผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เครียดในชีวิต
อย่างไรก็ตามการจำแนกประเภทอาการ Insomnia ออกมาเป็นกลุ่มย่อยนี้ทำให้นักวิจัยสามารถเข้าใจถึงวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเภทได้ อย่างเช่น ในประเภทที่ 2,4 จะมีอาการดีขึ้นหลังได้รับยา benzodiazepine (ยากล่อมประสาทชนิดหนึ่ง) ในขณะที่ใช้กับประเภทที่ 3 ไม่ได้ผล หรือแม้กระทั้งประเภทที่ 2 ตอบสนองต่อการรักษาแบบการพูดคุยกับจิตแพทย์ได้ดี แต่ประเภทที่ 4 ไม่มีการตอบสนองที่ดีขึ้น และประเภทที่ 1 มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุด
การค้นพบนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยหาหนทางการรักษาอาการ Insomnia ให้กับผู้ป่วยในแต่ละประเภทซึ่งมันสามารถตอบคำถามของแพทย์ได้ว่าทำไมผู้ป่วยแต่ละคนถึงตอบสนองต่อการรักษาที่ไม่เหมือนกันทั้งๆที่เมื่อสแกนสมองแล้วไม่พบความแตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทีมวิจัยได้กล่าวว่า การจำแนกประเภทนี้ทำขึ้นมาจากอาสาสมัครเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น นั่นหมายความว่าในโลกของเราอาจมีประเภทย่อยของอาการ Insomnia มากกว่า 5 ชนิดก็เป็นได้ งานวิจัยจึงยังคงต้องพัฒนาและทำการศึกษาเกี่ยวกับอาการ Insomnia ต่อไป เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุการเกิด และหาหนทางรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด