Lamborghini จะถูกส่งทะยานไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS : International Space Station) เพื่อทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลขนาดย่อมให้กับสถาบันวิจัย Houston Methodist ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำการตรวจสอบผลกระทบในสภาพแวดล้อมของอวกาศที่มีต่อวัสดุคอมโพสิต

รังสีคอสมิกเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ทำให้เกิดโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ รวมทั้งสร้างความเสียหายให้กับไมโครอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งในอวกาศจะได้รับรังสีคอสมิกในปริมาณที่สูงกว่าบนพื้นโลกและมีหลายรูปแบบ

วัสดุคอมโพสิตเกิดจากการนำวัสดุที่มีคุณสมบัติทางกายภาพหรือทางเคมีแตกต่างกันตั้งแต่ 2 ชนิดมาผสมกัน ตัวอย่างเช่น การนำคาร์บอนและแก้วไฟเบอร์มาผสมกันเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ เราจะเห็นการนำวัสดุคอมโพสิตมาใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง สะพาน โครงสร้างของเรือ ตัวถังรถแข่ง ฝักบัวอาบน้ำ อ่างอาบน้ำ ถังเก็บน้ำ หินแกรนิตเทียม อ่างหินอ่อน ยานอวกาศ และเครื่องบิน

โครงการวิจัยนี้จะทำการส่ง Lamborghini พร้อมกับวัสดุคอมโพสิตหลายชนิดด้วยจรวดไร้คนขับไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ จากนั้นจะศึกษาว่าวัสดุแบบใดทนรังสีอะไรได้บ้าง ซึ่งตัวอย่างของคาร์บอนไฟเบอร์แบบต่าง ๆ จะถูกทดสอบที่สถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลาครึ่งปี และช่วงเวลานั้นจะได้สัมผัสกับรังสีคอสมิกที่เลวร้ายทุกชนิด แล้วผลลัพธ์ที่ได้จะถูกนำมาออกแบบซูเปอร์คาร์ในอนาคตและเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น แขนขาเทียม

Stefano Domenicali ซีอีโอของ Lamborghini กล่าวว่าเราภูมิใจมากที่ Lamborghini เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกของโลกที่ได้ร่วมการวิจัยทางวิทยาศาตร์เกี่ยวกับวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์บนสถานีอวกาศนานาชาติ และยังเป็นตัวอย่างสำคัญขององค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ภารกิจนี้สอดคล้องกับปรัชญาและค่านิยมของเราอย่างสมบูรณ์ Lamborghini เป็นแบรนด์ที่มุ่งมั่นอยู่เสมอที่ก้าวข้ามขีดความจำกัดในทุกพื้นที่ของกิจกรรม และเป็นผู้บุกเบิกในอาณาจักรแห่งเทคโนโลยี

อ้างอิง

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส