ปัจจุบันทีวีเดินทางมาถึงยุค 8K เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในตลาดทีวีมีแบรนด์ผู้เล่นแข่งขันกันอย่างดุเดือดปล่อยทีวีรุ่นใหม่ ๆ มา แข่งขันกันด้วยราคา ดีไซน์ เทคโนโลยี น่าซื้อไปหมดซะทุกรุ่น จนเลือกไม่ถูก แต่ถ้าถามว่าแบรนด์ไหนยืนหนึ่งมาได้ตลอดและเป็นผู้นำด้านทีวีระดับโลกอย่างยาวนานถึง 13 ปีติดต่อกัน ก็คงจะมีแต่ “ซัมซุง” แบรนด์เดียวเท่านั้น
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา #beartai (สื่อไทยเจ้าเดียว) ได้รับเชิญจากบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย ให้ไปที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อเรียนรู้ที่มาของนวัตกรรมทีวีจากซัมซุงในปี 2020 ซึ่งหลังจากได้ประจักษ์กับสุดยอดนวัตกรรมของซัมซุง เราบอกได้เพียงสั้น ๆ ว่ารอติดตามกันได้เลย เพราะซัมซุงจะมีโชว์เคสเปิดตัวซึ่งจะเป็นหมัดเด็ดในงาน CES 2020แน่นอน
ซึ่งการเดินทางของเราในแดนกิมจิกับซัมซุงครั้งนี้ เราได้มีโอกาสนั่งฟังเลคเชอร์ที่น่าสนใจว่าด้วยเรื่องของสีจาก ดร. YungKyung Park อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Ewha Womans ดังนั้น เราจึงอยากถ่ายทอดสิ่งที่อาจารย์เล่าให้เล่าฟังผ่านบทความ Made in Korea ฉบับนี้ เพื่อหาคำตอบว่า “ทำไมต้อง 8K ในเมื่อ 4K ทุกวันนี้ มันก็ชัดมากอยู่แล้ว?”
หลาย ๆ คน คงยังจำได้ว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อนตาเราเบิกกว้างตื่นตาตื่นใจไปกับความชัดของ 4Kบนทีวี ทั้งสีที่สดขึ้น รายละเอียดภาพที่เนียนตาขึ้น สีที่ดำขึ้น และถ้าเป็นภาพจากทีวีซัมซุง QLED 8K เตรียมตัวตาโตอีกครั้งได้เลย ดร. YungKyung Park ได้อธิบายคลายความสงสัยนี้ด้วยการยกตัวอย่างภาพวาดสไตล์ “Hyper Realism” ซึ่งเป็นภาพวาดที่มีรายละเอียดชัดเจนสวยงามมากจนเหมือนภาพถ่าย เพื่อเทียบให้เราเห็นว่าขนาดภาพวาดยังดูเหมือนภาพถ่ายได้ แล้วทำไมภาพบนทีวีจะถูกยกระดับให้เหนือขั้นและสมจริงไม่ได้? โดยความคมชัดของภาพบนทีวีสามารถพัฒนาไปจนถึงขั้น “Hyper Realness” คือสมจริงมากและสร้างให้เกิดความรู้สึกเมื่อมองภาพนั้นได้ คล้ายกับการที่เรามองภาพวาดที่สมจริงจนนึกว่าเป็นภาพถ่ายนั่นเอง
?ทำไมต้อง 8K?
เป็นที่ทราบกันดีว่าภาพบนจอทีวีจำเป็นต้องพัฒนาไปจนถึงระดับ 8K สืบเนื่องมาจากการแข่งขันในเรื่องขนาดของจอภาพ ยิ่งขนาดจอใหญ่ขึ้น resolution ก็ต้องเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การแสดงผลภาพดูสมจริงที่สุด ในทางตรงกันข้าม หากค่า resolution ไม่ถูกปรับเพิ่มตามขนาดของจอที่ใหญ่ขึ้น ผลของภาพที่จะได้ก็คือ ภาพที่แสดงผลบนหน้าจอจะดูไม่สมจริง (ดูปลอม) ฉะนั้น การปรับเพิ่ม resolution จึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อขนาดของทีวี
“เวลาดูภาพแบบ 8K จะให้ความรู้สึกเหมือนจริง เฉกเช่นเราไปยืนอยู่ตรงนั้น”
– ดร. YungKyung Park
ผลพลอยได้ที่ตามมาจากเรื่องความคมชัดระดับ 8K คือ เรื่องของความสมจริง (Hyper Realness) ชนิดเหมือนเราไปอยู่ตรงนั้น มองภาพวัตถุแล้วเกิด Illusion จนรับรู้ได้ถึงความรู้สึกนั้น ๆ เรียกว่า “Realness Synesthesia” คือ รู้สึกถึงความสมจริงที่มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสามมิติ ความแน่นหนักของภาพ อุณหภูมิ ขณะที่ 4K เราจะรับรู้ได้แต่เพียงเรื่องความคมชัดเท่านั้น
เช่น เมื่อเราเห็นภาพทุ่งลาเวนเดอร์บนทีวี 8K เราจะนึกถึงกลิ่นของดอกลาเวนเดอร์ หรือเมื่อเราดูรายการอาหารเห็นเนื้อย่างบนตะแกรงเราจะรู้สึกน้ำลายสอขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ถึง 8K จะชัดและสมจริงมากจนเกิดความรู้สึก แต่ไม่สามารถเทียบได้กับสายตามนุษย์ที่มองและประมวลภาพได้แบบ infinity ดังนั้น การที่แบรนด์ต่าง ๆ หันมาพัฒนาเรื่อง 8K นอกจากเรื่องทางเทคนิคที่ต้องปรับขยายตามขนาดความใหญ่ของหน้าจอแล้ว ยังเป็นเรื่องของการมอบประสบการณ์การรับชมภาพที่ดีขึ้นบนหน้าจอทีวีอีกด้วย
ดร. YungKyung Park กล่าวว่า “ความคมชัดจากระดับ 2K ไป 4K เราจะเห็นจำนวนพิกเซลที่มากขึ้น เห็นความแตกต่างของภาพค่อนข้างชัดเจน แต่จากระดับ 4K ไป 8K ถึงแม้ชัดกว่า 4 เท่า แต่จะไม่ค่อยเห็นความแตกต่างแบบจาก 2K ไป 4K โดยเน้นไปที่เรื่องของรายละเอียดที่แฝงอยู่ภายในมากกว่า เช่น ค่าความสว่าง (brightness)ที่สูงขึ้น ค่าความละเอียด (contrast) ที่สูงขึ้น และขอบภาพที่คมกริบ” โดยถ้าจะให้นึกภาพความคมชัดของ 8K ในแบบง่าย ๆ ให้คิดซะว่า 8K เหมือนตรงกลางระหว่าง 2D และ 3D โดยคุณสมบัติภาพพื้นฐานยังเป็น 2D แต่กลับให้ความรู้สึกสมจริงมากคล้าย 3D นั่นเอง
สำหรับการถ่ายทอดความคมชัดเสมือนจริงระดับ 8K ของ “Samsung QLED 8K TV” ในรุ่นปี 2019 ทางซัมซุงเลือกพัฒนาและใช้ชิปเซต Quantum Processor 8K และ เทคโนโลยี 8K AI Upscaling ในการ upscale ภาพจาก 4K, HD หรือแม้แต่ SD ให้เป็น 8K และ upscale เสียงให้ออกมาเป๊ะตามภาพบนจอได้ด้วย ซึ่งในปี 2020 ที่จะมานี้ ทางซัมซุงจะมีการเพิ่มเทคโนโลยีอื่น ๆ อะไรอีกบ้างให้รอติดตามจากงาน CES 2020 ที่กำลังจะมาถึง 7-10 มกราคม 2563 นี้ เพราะจะมีโชว์เคสเปิดตัวให้ได้เห็นกัน
?จะหาดูคอนเทนต์ 8K ได้ที่ไหน?
ต้องยอมรับว่า ถึงแม้ภาพของทีวี 8K จะดูเย้ายวนแค่ไหน แต่ก็ยังติดปัญหาเรื่องการหาชมคอนเทนต์เนื้อหาในรูปแบบของ 8K อยู่ดี ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ จริงอยู่ที่เราพอจะหาชมคอนเทนต์ 8K ได้ผ่าน Youtube, Vimeo และช่อง NHK ของญี่ปุ่น แต่เรายังไม่มีหนังภาพยนตร์แบบ 8K ให้ได้ดูเท่าไรนัก แม้กระทั่ง Netflix ก็ยังไม่มี จะมีให้ได้เห็นกันจริง ๆ ก็จากภาพตัวอย่างบนทีวี 8K และในช่วงกีฬาโอลิมปิกปี 2020 ที่โตเกียว เราจะได้รับชมการถ่ายทอดภาพสัญญาณแบบ 8K รวมถึงบนเกมคอนโซลต่าง ๆ ที่รองรับ HDMI 2.1 มาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนคงเข้าใจภาพรวมของความเป็น 8K กันบ้างแล้ว ที่นี้เราลองมาดูเรื่องของความแตกต่างระกว่าง QLED กับ OLED กันบ้าง เพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่าทำไมซัมซุงถึงมุ่งหน้าพัฒนา QLED 8K TV
?QLED vs OLED
ทีวีถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ จากหน้าจอขาว-ดำไปเป็นทีวีสี และพัฒนาต่อไปเป็นจอ LCD ที่เน้นเรื่องความแบนเป็นหลัก จากนั้นก็พัฒนาต่อมาเป็นหน้าจอ LED ที่มีขนาดบางกว่าและสีสดกว่าอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า OLED จะเป็นหนึ่งในหน้าจอแสดงผลที่ได้รับความนิยมในตลาด มีข้อดีมากมาย เช่น พิกเซลกำเนิดแสงได้เองไม่จำเป็นต้องพึ่งหลอดไฟเหมือนหน้าจอ LCD หรือ LED กินไฟน้อย บาง และยืดหยุ่นมากจนนำไปทำเป็นจอโค้งได้ แต่ก้มีข้อเสียในเรื่อง “เบิร์นอิน” (Burn In) หรืออาการรอยภาพไหม้ค้างติดหน้าจอ เนื่องจากขณะใช้งานตัวเม็ดพิกเซลที่กำเนิดแสง เกิดความร้อนมาก เมื่อมีการเปิดหน้าจอทิ้งไว้ก็จะมีอาการรอยภาพไหม้ค้างติดหน้าจอ ส่วนมากจะเกิดขึ้นกับโลโก้หรือตัวอักษรในหน้าจอที่สว่างอยู่ที่เดิมป็นระยะเวลานานนั่นเอง
หลังจากที่ซัมซุงได้ลองผลิตและขายทีวี OLED ได้เพียง 1 ปี ก็พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงได้ปิดไลน์การผลิตทีวี OLED ด้วยความเชื่อที่ว่าหน้าจอแสดงผลแบบ OLED นั้นเหมาะกับการนำมาใช้กับหน้าจอขนาดเล็กอย่างสมาร์ตโฟนมากกว่า เพราะมีอายุการใช้งานสั้นและใช้พลังงานน้อยกว่า และหันไปพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมดอท (Quantum Dot) จนเกิดเป็นทีวีในชื่อ SUHD TV ในปี 2016 และต่อยอดจนเปลี่ยนชื่อเป็น QLED หรือเวอร์ชันอัปเกรดของ LED TV โดยหลักการกำเนิดภาพพื้นฐานยังเป็น LED TV ซึ่งไม่มีจุดพิกเซลที่ส่องสว่างเองและให้ระดับความร้อนที่ต่ำมาก จึงมีโอกาสเกิด Burn–In น้อย ส่วนคนที่สนใจอยากซื้อ QLED TV แต่ยังกังวลเรื่องนี้อยู่ แนะนำให้สอบถามทางซัมซุง เพราะเขามี Burn-in Free Warranty รับประกันซ่อมฟรี หากเกิดปัญหาหน้าจอไหม้ให้ด้วย
?THE WALL LUXURY
ระหว่างการเดินทางและเข้ารับฟังกลยุทธ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ของซัมซุงที่จะนำมาเผยโฉมในปีหน้า คณะสื่อมวลชนได้มีโอกาสเห็นจอ Visual Display ในกลุ่มของ The Wall รุ่น The Wall Luxury เป็นจอแบบ Micro LED โดยสามารถเลือกขนาดของตัวจอได้ค่อนข้างยืดหยุ่น เนื่องจากจอ The Wall หนึ่งจอเกิดจากการวางเรียงหน้าจอขนาดเล็ก ๆ ต่อ ๆ กัน ทำให้จะเสริมเติมเพิ่มลดขนาดทำได้ง่ายตั้งแต่ 73 นิ้วไปจนถึง 292 นิ้ว ด้วยความคมชัดระดับ 8K ตามรายงานของ Hardwarezone ถึงแม้ว่า The Wall จะมีขนาดใหญ่ แต่สามารถนำไปใช้ได้เฉพาะภายในอาคารเป็น Home Usage เท่านั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการวางไว้ภายนอก และจากการสัมผัสในวันนั้นรู้สึกได้ว่า เมื่อเปิดจอไว้สัก 2-3 ชั่วโมง จะมีไอร้อนแผดออกมาจนรู้สึกได้
นอกจากนั้น ในกลุ่มของ The Wall ยังมี The Wall Pro ซึ่งให้ค่าความสว่างมากขึ้นถึง 2 เท่า หนา 90 มิลลิเมตร ซึ่งเหมาะกับ Commercial Usage
สำหรับ The Wall Luxury ที่เราได้เห็นกันในครั้งนี้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้ภายในบ้าน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมแบบ home theatre เล่นเกมได้แบบเต็มจอ มี 2 โหมดให้เลือก คือ โหมดเอนเตอร์เทน (สำหรับดูคอนเทนต์ต่าง ๆ หนัง ทีวี) และ โหมดแอมเบียน (สำหรับเปิดทิ้งไว้ตกตกแต่งห้อง ภาพวาดศิลปินดัง อัลบั้มรูป) และแน่นอนว่าด้วยขนาด ด้วยราคา มันถูกออกแบบมาเพื่อเจาะตลาดพรีเมียม เน้นความหรูหราไฮเอนด์ เหมาะกับคนที่มีพื้นที่บ้านกว้าง ๆ และต้องมีทรัพย์ด้วย
The Wall Luxury เปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าในบ้านเราน่าจะตามมาติด ๆ เร็ว ๆ นี้ ซึ่งภายในงาน CES 2020 เดือนมกราคม เราจะได้เห็นรุ่นเดียวกันแต่มีขนาดใหญ่กว่าถึง 4 เท่า (146 นิ้ว x 4) และมีความคมชัดระดับ 8K
เอาล่ะก็ต้องมาลุ้นกันอีกทีในปีหน้า 2020 นะว่า Samsung จะงัดไม้เด็ดอะไรออกมา เพื่อแสดงศักยภาพในสมกับการยืนหนึ่งในตลาดทีวีมาอย่างยาวนาน แต่อย่างน้อยจากการได้เดินทางไปถึงสำนักงานใหญ่ของซัมซุงที่ประเทศเกาหลีใต้ก็ทำให้เราได้เห็นถึงความพยายามในการพัฒนา Micro LED Technology ถึงแม้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ทำยาก แต่ซัมซุงก็ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป และก็ต้องมาดูอีกเช่นกันว่าหลาย ๆ แบรนด์ที่ทำทีวี 8K ออกมาจะแก้ปัญหาเรื่องคอนเทนต์ 8K ที่ยังหาชมไม่ค่อยได้กันอย่างไร ส่วนเทรนด์ทีวีที่จะมาในอีก 5-10 ปี คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าแบรนด์ทีวีใหญ่ ๆ ระดับโลกคงจะเลือกผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี AI, 5G, Cloud และความเป็น IoT ไว้ในทีวี เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชีวิตดิจิทัลของผู้คนในยุคปัจจุบันอย่างแน่นอน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส