หากใครเชื่อในทฤษฎีที่ว่า เมื่อธรรมชาติถูกทำลายจนไม่อาจรับไหว ธรรมชาติก็จะหาวิถีทางในการคืนสมดุลให้ตัวเองและให้โลกใบนี้ แม้ว่านั่นอาจหมายถึงการทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ถูกทำลาย แต่นั้นก็เป็นวิถีที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ถ้าเราไม่หลงลืมว่า มนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ที่มีอายุขัยน้อยนักหากเทียบกับโลกใบนี้ที่อยู่มานับล้านปี (พูด ๆ ไปก็จะคิดว่าตัวเองเป็นธานอสในหนังเรื่อง Avengers ที่อยากดีดนิ้วให้ประชากรของจักรวาลหายไปครึ่งหนึ่งเพื่อสร้างสมดุล)
วันนี้รายงานทางวิทยาศาสตร์อีกชิ้นหนึ่งนอกจากรูโหว่ของโอโซนที่ลดขนาดลงในรอบ 30 ปีที่ Beartai เคยนำเสนอไปแล้ว ก็ได้เปิดเผยหลักฐานของการคืนกลับสู่สมดุลของธรรมชาติ ในภาวะที่มนุษย์กำลังเผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงชีวิตของเรา นักวิทยาศาสตร์เผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ทำให้มนุษย์ต้องหยุดเกือบทุกกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ได้ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกลดมากที่สุดในรอบ 70 ปี หรือนับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว
ศาสตราจารย์ Rob Jackson ประธานโครงการ Global Carbon Project ที่เป็นโครงการทำหน้าที่วัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยในทุกปี กล่าวว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อสิ้นสุดในปี 2020 นี้ อาจลดลงมากกว่า 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สถิติการปล่อยก๊าซลดลงต่อปีมากขนาดนี้ นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 ซึ่งในปีนั้นมีการปล่อยก๊าซลดลง 1.4%
ศาสตราจารย์ Jackson จากมหาวิทยาลัย Stanford ยังกล่าวต่อว่า สถิตินี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นมานับตั้งแต่สงครามโลกที่ 2 สิ้นสุด เมื่ออ้างอิงจากสถติตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในรอบ 50 ปี จะเห็นว่า เหตุการณ์ใหญ่ ๆ หรือวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบระดับโลก ล้วนส่งผลต่อการลดลงของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การล่มสลายของสหภาพโซเวียต วิกฤตสงครามน้ำมัน หรือวิกฤตสินเชื่อ ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงอย่างมากในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการปิดเมือง การหยุดการสัญจร และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ปล่อยก๊าซพิษออกมา
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวนี้ยังระบุอีกด้วยว่า การลดลงของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ได้เกิดจากการตระหนักถึงปัญหาเรื่องโลกร้อน หรือมาตรการใด ๆ ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสแต่อย่างใด จึงหมายความว่า ปริมาณก๊าซการปล่อยก๊าซที่ลดลง เกิดจากมาตราการฉุกเฉินที่ทำให้คนอยู่แต่ในบ้านล้วน ๆ ผู้เชี่ยวชาญก็ยังได้เตือนอีกว่า การลดลงที่เกิดจากการระบาดของไวรัสนี้ถ้าเกิดแค่เพียงระยะสั้นย่อมส่งผลต่อชั้นบรรยากาศที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สะสมมานานปี และอาจทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาสูงตามปกติเหมือนเดิม
โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณของก๊าซที่ถูกปล่อย หลังการฟื้นตัวของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกพุ่งสูงกลับมาที่ 5.1% เช่นเดียวกับในประเทศจีนที่หลังจากลดการปล่อยก๊าซลดลงไปได้ 25% ในช่วงของการประกาศปิดประเทศและหยุดทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ในตอนนี้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาเท่าเดิมแล้วเหมือนตอนยังไม่เกิดสถานการณ์ Covid-19 เรียบร้อยแล้ว
รายงานจาก UN เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2019 ระบุว่า ทุกประเทศควรร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำลงเฉลี่ยปีละ 7.6% เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาต่อปี ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของโลกที่ตอบสนองต่อการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ หากมวลมนุษยชาติต้องการบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่กำหนดแนวทางร่วมกันในรัฐบาลระดับโลกเพื่อยุติการเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายที่สุดได้ ปัจจุบันโลกของเราขับเคลื่อนด้วยพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมากถึง 80%
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส