‘การหนีโควิดออกไปกักตัวนอกโลก’ ฟังดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในยามนี้ และนักบินอวกาศ 3 คน ก็เป็นผู้โชคดีได้รับสิทธิ์นั้น เมื่อนาซามีแผนส่งมนุษย์ทั้งสามไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในวันที่ 9 เมษายน 2563 เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสถานีอวกาศเป็นเวลานาน 6 เดือน ระหว่างนี้ พวกเขาคงเฝ้ามองการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) บนโลกจากอวกาศแทน หากไม่ได้พกเชื้อไวรัสติดขึ้นไปด้วยหนะนะ

การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่รุนแรงทั่วโลก ทำให้นาซาตระหนักถึงความปลอดภัยในการส่งมนุษย์อวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ด้วยกังวลว่า พวกเขาเหล่านั้นอาจเป็น ‘พาหะ’ นำเชื้อไวรัสไปแพร่บนสถานีอวกาศนานาชาติด้วย แม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะจัดการได้ยาก เพราะบนสถานีอวกาศนานาชาติมีเวชภัณฑ์จำกัด ทั้งการเดินทางกลับโลกเพื่อรักษาตัวก็มีความเสี่ยง ดังนั้น นาซาและรอสคอสมอส (Roscosmos) องค์การอวกาศของรัสเซียจึงได้เพิ่มมาตรการป้องกันให้มั่นใจว่า นักบินอวกาศทั้งสาม คริส แคสซิดี (Chris Cassidy) อะนาโตลี อีวานีชิน (Anatoly Ivanishin) และ อีวาน วักเนียร์ (Ivan Vagner) จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างราบรื่นปราศจากเชื้อโรค

คริส แคสซิดี นักบินอวกาศนาซา ออกกำลังกายบนสถานทีอวกาศนานาชาติ ในภารกิจเมื่อปี 2556

นอกจากนี้ นาซายังมีแผนจะส่งนักบินอวกาศอีก 2 คน ได้แก่ ดักลาส เฮอร์ลีย์ (Doug Hurley) และ โรเบิร์ต เบนเคน (Robert Behnken) ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยใช้จรวดฟอนคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัทสเปซเอกซ์ (SpaceX) บรรทุกยานดรากอน 2  (Dragon 2) ส่งขึ้นไป หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน พวกเขาจะเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่นั่งยานอวกาศจากภาคเอกชนขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก ซึ่งตามรายงานของสำนักข่าวซีบีเอส (CBS) ระบุว่า เฮอร์ลีย์และเบนเคนได้เตรียมพร้อมตัวเองอย่างมากเพื่อให้ปราศจากเชื้อไวรัส

 

มาตรการรับมือกับไวรัส เพื่อการเดินทางสู่อวกาศ

ลำพังแค่การส่งนักบินอวกาศทั้ง 5 คนขึ้นสู่อวกาศนั้น ก็ถือเป็นความท้าทายอยู่แล้วในสถานการณ์ปกติ แต่เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น ก็ยิ่งซ้ำเติมเพิ่มความยากในการจัดการขึ้นไปอีก แม้แต่พนักงานของนาซาหลายคนก็ยังติดเชื้อไวรัสนี้ นาซาจึงเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง ทำความสะอาดพื้นที่ และการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) รวมทั้งกำหนดให้พนักงานหลายคนทำงานจากที่บ้าน (Work From Home)

เพื่อดูแลนักบินอวกาศให้ปลอดภัยจากโควิด นาซาและรอสคอสมอส ให้นักบินอวกาศทุกคนกักตัวหลายสัปดาห์ก่อนออกเดินทาง พร้อมฆ่าเชื้อโรคถุงบรรจุภัณฑ์ทุกชิ้น

กระบวนการกักตัวครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ นับเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ที่นาซาใช้มาตรการกักตัวนักบินอวกาศ ทั้งก่อนและหลังส่งขึ้นสู่อวกาศ จะเห็นได้จากภารกิจอะพอลโล 11 ที่ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) บัซซ์ อัลดริน (Buzz Aldrin) และ ไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) ต้องกักตัวเป็นเวลาหลายสัปดาห์หลังกลับมาจากดวงจันทร์ ด้วยเหตุผลที่ตรงกันข้ามกัน คือ หลีกเลี่ยงการนำเอาเชื้อโรคจากดวงจันทร์กลับมายังโลก

แดน ฮูโอ (Dan Huot) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ขององค์การนาซากล่าวว่า “โปรแกรมการเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติของนักบินอวกาศนั้น มีข้อควรปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้นักบินอวกาศนำเชื้อโรคขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติอยู่แล้ว และเราก็มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากในเรื่องนี้”

สำหรับครั้งนี้ การกักตัวนักบินอวกาศเข้มงวดยิ่งกว่าเดิม เพราะเพิ่มระยะเวลาการกักตัวอีก 2 สัปดาห์ รวมถึงยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่าง เช่น การเดินทางไปวางดอกไม้หน้าสุสานของยูริ กาการิน มนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนด้านเทคนิคจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันและถุงมือขณะขนสิ่งของ หรือเตรียมชุดและยานให้กับนักบินอวกาศด้วย ส่วนพนักงานทุกคนก็ต้องกักตัวอยู่ในสถานกักตัว ซึ่งมาตรการเหล่านี้ได้รับการตรวจสอบและรับรองโดยแพทย์ขององค์การอวกาศ และมีการติดตามทีมปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด

ลูกเรือภารกิจอะพอลโล 11 ขณะกักตัวหลังจบภารกิจเดินทางกลับจากดวงจันทร์เมื่อปี พ.ศ. 2512

 

การป่วยในอวกาศ

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยของนาซาระบุว่า การอาศัยในอวกาศส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ผนังหลอดเลือดแดงหนาขึ้น และเกิดความเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้นักบินอวกาศ บางงานวิจัยยังระบุว่า นักบินอวกาศมากกว่าครึ่งมีอาการไม่สบาย เมื่อเดินทางไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ  คือ มีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย และอาจรุนแรงถึงขั้นอาเจียน อาการเหล่านี้คล้ายกับอาการเริ่มต้นของผู้ป่วยโควิด ซึ่งวินิจฉัยได้ยาก ดังนั้น นักบินอวกาศต้องทดสอบกับชุดตรวจหาโควิดเท่านั้น

ในอดีต เมื่อปี พ.ศ. 2511 เคยมีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสบางชนิดไปสู่อวกาศในภารกิจอะพอลโล 7 (Apollo 7) นักบินอวกาศวอลลี ชีรา (Wally Schirra) ป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดาไม่ถึง 1 วันด้วยซ้ำ แต่เพราะอยู่ในพื้นที่แออัด จึงทำให้นักบินอวกาศคนอื่นมีอาการป่วยตามด้วย อาการเจ็บป่วยจึงส่งผลกระทบต่อการทำงานของพวกเขา ประสบการณ์ครั้งนั้นจึงทำให้นาซากักตัวนักบินอวกาศ ก่อนการเดินทางขึ้นสู่อวกาศทุกครั้ง

และเพราะปราศจากแรงโน้มถ่วงที่ช่วยขับเคลื่อนของเหลวในร่างกาย อาการเลือดคั่งจึงยิ่งเลวร้ายกว่าปกติ อาการป่วยใด ๆ จึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของนักบินอวกาศอย่างมาก

 

วิธีรักษาโควิดเบื้องต้น บนสถานีอวกาศนานาชาติ

หากไข้หวัดธรรมดายังส่งผลต่อภารกิจถึงเพียงนี้ การติดโควิดในอวกาศก็อาจเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่า และสถานีอวกาศนานาชาติก็ได้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับเหตุฉุกเฉินนี้แล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคม นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติคนหนึ่งได้รักษาลิ่มเลือดในลำคอด้วยตัวเองจากการพูดคุยกับแพทย์บนพื้นโลก เขาฉีดยาเจือจางเลือด (Blood thinner) อัลตราซาวนด์คอของตนเอง และอัปเดตอาการกับแพทย์เป็นประจำจนเขาหายดี ไม่ต้องรักษาเพิ่มเมื่อกลับมาจากปฏิบัติภารกิจที่ยาวนานถึงหกเดือน

คริส แคสซิดี นักบินอวกาศนาซา และ ลูซา พาร์มิทาโน นักบินอวกาศยุโรป ทดลองอัลตราซาวด์กระดูกสันหลังบนสถานที่อวกาศนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม นาซาไม่มีประกาศหรือการชี้แจงต่อสาธารณะว่า ในกรณีที่ติดโควิดจะแผนใช้การรักษาทางไกลเพื่อรักษานักบินอวกาศหรือไม่ แต่ก็เป็นที่คาดการณ์กันว่า นักบินอวกาศผู้ติดเชื้อจะต้องต่อสู้กับโรคด้วยตนเอง

“แต่ที่แน่ ๆ มันคงจะเกิดการประชุมหลายครั้ง เพื่อหาทางออกและก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน” เบนเคน ว่าที่นักบินอวกาศที่จะเดินทางไปยังสถานีอวกาศเดือนพฤษภาคมนี้กล่าวกับสำนักข่าวซีบีเอส

และแม้สถานีอวกาศนานาชาติมีเวชภัณฑ์จำกัดเมื่อเทียบกับโรงพยาบาล แต่นักบินอวกาศมีเครื่องมือรักษาดีกว่าผู้ป่วยที่รักษาตัวเองในบ้านบนโลก

ในเบื้องต้น มียารักษาโรคทั่วไปในชุดเวชภัณฑ์ของสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด โดยมีตั้งแต่ยาพาราเซตามอลไปจนถึงยาไอบิวพรอเฟิน (ยาแก้อักเสบปราศจากสเตียรอยด์ หรือเอ็นเซด ใช้รักษาอาการปวด ไข้ และการอักเสบ รวมถึงอาการปวดกระดูกและข้ออักเสบรูมาติก)

ทั้งยังมีอุปกรณ์ซับซ้อนอีกหลายอย่าง รวมทั้งเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด (Blood Oximeters) เพื่อตรวจสอบว่านักบินอวกาศหายใจได้ดีแค่ไหน หากมีอาการรุนแรง สามารถใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้เลือด และแม้จะเป็นเช่นนั้นแต่แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากเป็นคนแรกที่ใส่ท่อช่วยหายใจในอวกาศ รวมถึงเป็นเรื่องยากมากที่จะแยกนักบินอวกาศคนอื่นออกจากผู้ป่วย จึงเป็นสาเหตุที่นาซาใช้มาตรการเชิงรุกเน้นการป้องกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการนำไวรัสโคโรนาไปยังสถานีอวกาศนานาชาติตั้งแต่แรก

ก็หวังว่านักบินอวกาศทั้งหมดจะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศนานาชาติได้อย่างปลอดภัยไร้เชื้อ ไม่ต้องใช้วิธีรับมือที่เตรียมไว้ และอยู่บนอวกาศได้ครบตามกำหนดครับ

อ้างอิง

NARIT

Astronomy

CBS News

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส