ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในบ้านเราจะดูผ่อนคลายความตึงเครียดมากขึ้นส่งผลให้เกิดการผ่อนมาตรการการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง แต่สถานการณ์ในภาพรวมของทั่วโลกก็ยังอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เพราะถ้านับจนถึง ณ วันนี้ (3 พฤษภาคม) รายงานเว็บไซต์ Worldometers ที่อัปเดตจำนวนผู้ติดเชื้อแบบเรียลไทม์ ก็ได้รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกใกล้แตะ 3,500,000 คน ผู้เสียชีวิต 244,812 ราย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 7% แต่ยังหากมองในมุมที่ยังทำให้ใจชื้นอยู่บ้างก็อยู่ที่จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหาย ปัจจุบันอยู่ที่จำนวน 1,124,484 คน
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้ติดเชื้อจากประเทศจีนซึ่งเป็นต้นตนขอเชื้อไวรัสในขณะนี้มีเพียง 2.4% โดยขณะนี้มีจำนวนประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติและยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเหลือเพียง 13 ประเทศในโลกเท่านั้น ได้แก่ เติร์กเมนิสถาน, เกาหลีเหนือ, ไมโครนีเซีย, หมู่เกาะมาร์แชลล์, นาอูรู, ตูวาลู, คิริบาตี, ซามัว, ตองกา, วานูอาตู, หมู่เกาะโซโลมอน, ปาเลา และเลโซโท
สำหรับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดอันดับ 1 ยังคงเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,160,838 คน เสียชีวิต 67,448 ราย หลังจากตรวจหาเชื้อไปแล้วเกือบ 7 ล้านคนทั่วประเทศ โดยผู้ติดเชื้อเกือบ 1 ใน 3 ของสหรัฐฯ อยู่ในรัฐนิวยอร์ก 319,213 คน (ยังเป็นรัฐที่มีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตมากที่สุดของประเทศกว่า 24,000 ราย) ตามมาด้วยรัฐนิวเจอร์ซีย์มีผู้ติดเชื้อ 123,717 คน และรัฐแมสซาชูเซตส์มีผู้ติดเชื้อ 66,263 คน
ตามปกติของสำนักข่าวของสหรัฐฯ ก็มักจะนำสถิติตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อื่นมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความร้ายแรง โดยในครั้งนี้ได้นำไปเปรียบเทียบกับจำนวนทหารสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนามในปี 1955-1975 ที่กินเวลานานถึง 20 ปี มีทหารเสียชีวิต 58,220 ราย เทียบกับเชื้อไวรัส Covid-19 นั้นทำให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วกว่าในเวลาเพียงไม่กี่เดือน (รายงานเคสผู้ป่วยรายแรกของสหรัฐฯ คือวันที่ 6 กุมภาพันธ์) โดยเมื่อวันอังคารที่ 28 เมษายนที่ตัวเลขผู้เสียชีวิต 58,356 ราย ซึ่งเป็นวันแรกที่จำนวนเกินกว่าจำนวนทหารเสียชีวิตตามที่กล่าวไปข้างต้น
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดของศูนย์ Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC ของสหรัฐฯ ได้ออกมาแนะนำแนวทางในการลดการแพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัส ยังคงเป็นไปตามแนวทางของสากลในการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างกัน และลดการเดินทางติดต่อระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญก็ให้เความเห็นว่า ประชาชนชาวอเมริกันยังคงให้ความร่วมมือน้อยกว่าที่คาด ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลงอย่างเป็นที่น่าพอใจ (อย่างเช่นบัญชีทวิตเตอร์รายนี้ที่โพสต์ว่า ผู้คนยังออกมาชมการบินผาดโผนของการโชว์เครื่องบินรบอย่างหนาแน่นที่วอชิงตัน ดีซี ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถรักษาระยะห่างทางสังคมไว้ได้)
https://twitter.com/jaymac1893/status/1256615192680677376?ref_src=twsrc%5Etfw%7Ctwcamp%5Etweetembed%7Ctwterm%5E1256615192680677376&ref_url=https%3A%2F%2Fwww.cnn.com%2Fworld%2Flive-news%2Fcoronavirus-pandemic-05-02-20-intl%2Findex.html
จากการคาดการณ์ของทีมพิเศษที่ทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์ของทำเนียบขาว ได้ประเมินไว้ว่า จะมีชาวอเมริกันเสียชีวิตจนถึงเดือนสิงหาคมที่จำนวนราว 74,000 ราย แต่ดูจากตัวเลขผู้เสียชีวิต 67,448 รายในตอนนี้ ก็ทำให้เห็นว่าการคาดการณ์นั้นยังพลาดไปอยู่มาก (เพราะอีกไม่เกิน 1 เดือนก็คงถึงตัวเลขคาดการณ์ของเดือนสิงหาคม) Dr. Chris Murray ผู้อำนวยการของมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยในสหรัฐฯ ยังพุ่งไม่หยุด เพราะยังมีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อจำนวนมากในบางรัฐ ขณะที่ก็มีสัญญาหลังรัฐบาลเริ่มผ่อนปรนการล็อกดาวน์ที่อาจจะทำให้จำนวนเคสผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีก
สำหรับหนทางอีกหนทางหนึ่งในการทำให้วิกฤตนี้บรรเทาเบาบางลง ผู้คนจากทั่วโลกต่างก็รอคอยวัคซีนที่ใช้ทำการรักษา ตามหลักการปกติของการผลิตวัคซีนที่รวมขั้นตอนการนำไปทดลองกับสัตว์และคนจนเกิดความแน่ใจที่จะอาศัยเวลาประมาณ 12-18 เดือน สำนักข่าว CNN ยังได้ความเห็นจาก Pasi Penttinen ผู้เชี่ยวชาญจาก European Centre for Disease Prevention and Control (ECDC) ว่า หากมองโลกในแง่ดีที่สุด วัคซีนจะผลิตและจำหน่ายเป็นการทั่วไปได้อย่างเร็วที่สุดคือปลายปี 2021 หรือก็คือปลายปีหน้า เพราะขั้นตอนการทดสอบที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง ยังไม่นับถึงความสามารถในการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อผู้ป่วยทั้งโลก จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมวัคซีนถึงจะถูกผลิตให้ถึงมือสาธารสุขทั่วโลกอย่างไม่ทันใจผู้ที่รออยู่
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส