หลังจากได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ว่าได้เริ่มมีกองถ่ายหนังและซีรีส์ในต่างประเทศได้คิดหาแนวปฏิบัติเพื่อให้สามารถกลับมาถ่ายทำได้อย่างปลอดภัยและได้รับอนุญาติจากภาครัฐ มาวันนี้เรามีอีก 2 ตัวอย่างของกองถ่ายในต่างประเทศ โดยกองแรกจะเป็นซีรีส์ไซไฟ 8 ตอนของ Netflix เรื่อง Katla ที่ได้ Baltasar Kormakur ผู้กำกับชาวไอซ์แลนด์ที่เคยมีผลงานอย่าง Everest และ Contraband กลับมาทำงานที่บ้านเกิด และกองถ่าย Children of the corn หนังจากนิยายของ Stephen King โดยโปรดิวเซอร์ Lucas Foster ที่ไปถ่ายกันในออสเตรเลีย

ระบบแถบสีบนแขนเสื้อของ Kormakur

WHAT THE FACT กรณีศึกษากองถ่ายเมืองนอก  Katla และ Children of the corn

สำหรับ Katla เป็นโพรเจกต์ซีรีส์ไซไฟฟอร์มยักษ์ 8 ตอนจบที่จะสตรีมทาง Netflix เป็นเรื่องราวของผู้คนในเมืองเล็ก ๆ ที่ต้องเผชิญกับภัยจากภูเขาไฟกึ่งธารน้ำแข็ง ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทาง Baltasar Kormakur ได้ถ่ายหนังไปแล้ว 4 วันในพื้นที่ถึง 50,000 ตารางเมตรในเมือง เรกยาวิก ก่อนรัฐบาลจะสั่งปิด จนเขาต้องคิดวิธีการให้ทีมงานกลับมาถ่ายทำได้อย่างปลอดภัยในช่วงที่สังคมกำลังเป็นห่วงเรื่องการระบาดของไวรัสแบบนี้ จนเขาสามารถคิดระบบแบ่งสีปลอกแขนเสื้อ โดยแต่ละสีจะบ่งบอกลักษณะหน้าที่ไว้ชัดเจนดังนี้

สีเหลือง สำหรับ นักแสดง เป็นสีที่แสดงว่าอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับกล้องที่สุด

สีดำ สำหรับฝ่ายที่ต้องเตรียมการส่วนใหญ่อยู่ด้านนอกเซ็ต สำหรับ ช่างแต่งหน้า ทำผม และ ฝ่ายเสื้อผ้า

สีแดง สำหรับฝ่ายที่ต้องทำงานบริเวณ มอนิเตอร์ สำหรับ โปรดิวเซอร์ สคริปต์ซูเปอร์ไวเซอร์ (จดความต่อเนื่อง) และทีมงานวิชวลเอฟเฟกต์.

และสีฟ้า สำหรับเข้า ออก ได้ทุกที่ในบริเวณถ่ายทำ ที่จะจำกัดไว้เพียงทีมงานไม่กี่คน

ซึ่งนอกจากระบบสีปลอกแขนเสื้อแล้วก็ยังมีการจำกัดคนให้แต่ละกลุ่มมีจำนวนทีมงานไม่เกิน 20 คนเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบเรื่องระยะห่างและมั่นใจได้ว่าจะไม่มีทีมงานคนไหนเตร็ดเตร่นอกบริเวณที่ตนเองได้รับอนุญาต

แต่ก่อนระบบปลอกแขนสีนี้จะได้ปฏิบัติการคงต้องยกประโยชน์ให้กับนโยบายตรวจหาโรคของไอซ์แลนด์ที่ได้ผลจนทาง Netflix ยอมควักทุนให้ทางผู้กำกับได้ดำเนินการด้านความปลอดภัยรอบด้าน (นอกเหนือจากที่ได้จ่ายเงินชดเชยช่วงกองถ่ายถูกพักกองจาก COVID-19 แล้ว) โดยผ่านระบบการตรวจทีมงานและนักแสดงถึง 80 ชีวิตเพื่อหาเชื้อไวรัส ก่อนถ่ายต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย มีการแจกอาหารกล่องแทนการจัดอาหารแบบเดิม ทำความสะอาดลูกบิดประตู ห้องน้ำ และพื้นผิวต่าง ๆ แบบรายชั่วโมง ทีมงานส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัย (ยกเว้นนักแสดงตอนเข้าฉาก) ช่างแต่งหน้า และ ฝ่ายออกแบบงานสร้าง จะสวมถุงมือทำงาน

โดยผลจากการปรับระบบทำงานดังกล่าวทำให้ซีรีส์กลับมาถ่ายทำได้ 4 สัปดาห์แล้ว แต่ยังเลี่ยงถ่ายฉากที่นักแสดงจะต้องใกล้ชิดกัน โดยผู้กำกับตั้งใจว่าจะเลื่อนฉากที่นักแสดงจะต้องมีการสัมผัสทางกายออกไปก่อนจนกว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม แต่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีการตรวจสุขภาพนักแสดงและประเมินอีกครั้งก่อนถ่ายทำต่อไป

ซึ่งในขณะนี้มีทีมงานเพียง 2 คนที่พบว่ามีอุณหภูมิสูงและพบว่ามีเชื้อ COVID-19 จึงถูกส่งกลับไปรักษาและกักตัว 2 สัปดาห์ และถึงตอนนี้ยังไม่มีทีมงานคนไหนป่วยเพิ่มอีกเลย โดยเป้าหมายต่อไปคือการพาทีมงานต่างชาติเข้าประเทศ ซึ่ง Kormakur ก็ตั้งใจจะหาที่พักให้ทีมงานที่เดินทางมาจากนอกไอซ์แลนด์ได้มีที่สำหรับกักตัวและตรวจเชื้อก่อนทำงานต่อไป และจนถึงขณะนี้ทั้งประเทศไอซ์แลนด์มีผู้ป่วย COVID-19 เพียง 3 คนเท่านั้น.

กักตัวยกกองหนังสยอง Children of the corn ที่ออสเตรเลีย

WHAT THE FACT กรณีศึกษากองถ่ายเมืองนอก  Katla และ Children of the corn

สำหรับกองถ่าย Children of the corn ฉบับหนังสยองขวัญอินดีงบประมาณ 10 ล้านเหรียญที่พา Lucas Foster ข้ามประเทศจาก ลอสแองเจลลิส สหรัฐอเมริกา มาสู่ ริชมอนด์ นิวเซาธ์เวลส์ ออสเตรเลีย เพื่อให้ได้ภาพของทุ่งข้าวโพดในเดือนพฤศจิกายนและก็กลายเป็นการถ่ายทำช่วงเกิดวิกฤติ COVID-19 ร่วมกับ Kurt Wimmer ผู้เขียนบท – กำกับหนัง (เคยมีผลงานหนัง Equilibrium) ซึ่งหนังกำลังจะถ่ายทำเสร็จในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้แล้ว

และก็เหมือนกองถ่าย Katla ของ Kormakur ที่ก็มีแนวปฏิบัติทั้งการแบ่งพื้นที่ให้แต่ละหน้าที่ มีแพทย์ พยาบาลมาประจำกองถ่าย ทีมงานและนักแสดงจะต้องกรอกแบบสอบถามด้านสุขภาพ มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ ฉากที่ถ่ายทำตอนกลางคืนจะให้นักแสดงสวมชุดที่เข้ากับสีผิวไว้ภายในเพื่อให้ความอบอุ่นและป้องกันเชื้อโรคด้วยอีกทาง (ตามนโยบายของกองถ่ายออสเตรเลีย เวลากล้องเดินจะไม่มีการใช้มาตรการเว้นระยะห่าง 2 เมตร) และแจกจ่ายเจลล้างมืออย่างทั่วถึง

ฟังดูแล้วเหมือนนโยบายทั่ว ๆ ไป แต่ที่ทำให้โปรดิวเซอร์อย่าง Foster ต้องเครียดหนักคือการตัดสินใจควัก 20% จากทุนสร้างอันแสนจำกัดจำเขี่ยมาจ่ายเป็นค่าที่พักเพื่อกักตัวทีมงาน นักแสดง ซึ่งมีนักแสดงเด็กถึง 25 คน แม้กระทั่งหมาของนักแสดงก็จะมีที่ไว้สำหรับกักตัวด้วย ซึ่งสถานที่ถ่ายทำมักเป็นไร่ เป็นฟาร์ม ดังนั้นจึงต้องจองพวกกระต๊อบ โรงแรม และที่พักแบบต่าง ๆ ผ่าน Air bnb ให้นักแสดงอยู่รอบ ๆ เซ็ต

และหากคิดว่าอุปสรรคที่ Foster ต้องเผชิญมีแค่เรื่องที่พักล่ะก็ ไม่ใช่เลย เพราะก่อนหน้านี้เขาต้องเผชิญปัญหาการต้องเปลี่ยนตัวนักแสดงกะทันหันมาแล้วทั้งนักแสดงเด็กอายุ 12 ที่ไม่กล้าขึ้นเครื่องบินจากลอสแองเจลลิสมาที่ออสเตรเลีย หรือ นักแสดงออสเตรเลียที่ซิดนีย์ก็ไม่ยอมเดินทางมายัง ริชมอนด์ และยังต้องหดตารางการทำงานลงเพื่อให้เหมาะกับการทำงานร่วมกับเยาวชน อีกทั้งข่าวช่วง COVID-19 ระบาดที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจทีมงานและนักแสดงจนแทบไม่มีกะจิตกะใจจะทำงานกันเลย

จนกระทั่ง Foster ตัดสินใจเสนอแนวคิดตัดขาดโลกภายนอกแล้วทำงานร่วมกันในเมืองชนบทเล็ก ๆ อย่างริชมอนด์ ดูข่าวให้น้อยลงและคุยกันให้มากขึ้น โดยยังเน้นมาตรการด้านสุขอนามัยอยู่ก็ทำให้กองถ่ายเดินมาได้จนเกือบจะปิดกล้องได้ในเร็ววันนี้ เพื่อประคองสภาพจิตใจซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของคนทำงานสร้างสรรค์อย่างภาพยนตร์

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส