SoftBank Group บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นได้ออกประกาศในวันที่ 18 พฤษภาคม (วันนี้) เพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทราบว่า “แจ็ค หม่า” ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง Alibaba ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งบอร์ดบริหารของบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม เป็นต้นไป โดยการประกาศข่าวนี้จาก SoftBank มีขึ้นก่อนที่จะมีการรายงานผลประกอบการประจำปีงบประมาณการเงิน 2020 เพียงแค่ชั่วโมงเดียว

มาซาโยชิ ซัน CEO ของ SoftBank และแจ็ค หม่า เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาที่กรุงโตเกียว

หม่าดำรงตำแหน่งในบอร์ดบริหารของ SoftBank Group ยาวนานถึง 13 ปีเต็ม โดยบริษัทฯ ไม่ได้เปิดเผยเหตุผลการลาออกของมหาเศรษฐีจีนในครั้งนี้แต่อย่างใด เมื่อเดือนกันยายนปี 2019 หม่าได้เกษียณจากตำแหน่งประธานบริหารของ Alibaba ไปก่อนหน้าแล้ว มาซาโยชิ ซัน CEO ของ SoftBank ได้ตัดสินใจลงทุนในบริษัท Alibaba ของแจ็ค หม่ามาก่อน เงินลงทุนราว 20 ล้านเหรียญสหรัฐในวันนั้นกลายเป็นมูลค่าหุ้นที่พุ่งสูงถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐในวันนี้ และทำให้ SoftBank ได้ถือครองหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน บริษัทนี้ได้เปลี่ยนตัวเองจากบริษัทโทรคมนาคมในอดีต กลายเป็นบริษัทที่ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีแทนในปัจจุบัน

มาซาโยชิ ซัน CEO ของ SoftBank (ภาพจาก Fortune)

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นดำรงตำแหน่งในบอร์ดบริหารของบริษัทอีก 3 ราย ประกอบด้วย โยชิมิสึ โกโตะ รองประธานอาวุโสของบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน SoftBank , ลิปปู้ ตั่น ซีอีโอบริษัทผู้ออกแบบชิป Cadence Design Systems และผู้ก่อตั้งบริษัท Venture Capital อย่าง Walden International และยูโกะ คาวาโมโตะ อาจารย์จาก Waseda Business School

การสละเรือครั้งนี้ เป็นไปได้ว่าหม่าอยากเกษียณตัวเองจากการทำธุรกิจจริง ๆ รวมถึงอาจมองเห็นสถานการณ์ส่อแววขาดทุนของบริษัท ที่ผนวกเข้ากับสถานกาณณ์วิกฤตโควิดเล่นงานอีกระลอก โดยผลประกอบการประจำปีงบประมาณการเงิน 2020 (สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2020) ของ SoftBank Group ที่ได้ประกาศออกมานั้น พบว่าบริษัทขาดทุนไปสูงถึง 1.36 ล้านเยน หรือราว 12,700 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะธุรกิจโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.5% ก็ตาม สถานการณ์นี้ช่างต่างกันราวฟ้ากับเหวกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน ที่บริษัทนี้ทำกำไรไปได้ 19,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบตรง ๆ ของ SoftBank ก็คือ Uber ธุรกิจให้บริการรถเช่าพร้อมคนขับ และ WeWork ธุรกิจเทคคอมปานีให้บริการพื้นที่ให้เช่า

อาการสาหัสของบริษัทในครั้งนี้ ถือเป็นการขาดทุนที่หนักที่สุดในของ SoftBank อันเกิดมาจากความล้มเหลวของบริษัทที่เข้าไปลงทุนก่อนหน้าอย่าง WeWork ที่ไม่สามารถ IPO จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้และ SoftBank ก็ทิ้งไว้กลางทางจน WeWork ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกลับ และบริษัทเทคโนโลยีอีกหลายแห่งที่ SoftBank ได้เข้าไปลงทุนเอาไว้ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน

อ้างอิง

อ้างอิง

อ้างอิง

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส