สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท SpaceX ของมหาเศรษฐี Elon Musk ได้ปล่อยจรวด Falcon 9 นำนักบินอวกาศชาวอเมริกันสองคนไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เมื่อเช้ามืดของวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมาตามเวลาประเทศไทย จรวด Falcon 9 ได้นำ Crew Dragon ส่วนของยานอวกาศที่บรรทุกนักบินอวกาศสองคนขึ้นไปเทียบท่ากับสถานี ISS เป็นที่เรียบร้อย ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจของภารกิจนี้คือ นี่เป็นการส่งนักบินอวกาศออกจากฐานปล่อยจรวดในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี
อ่านข่าวเกี่ยวกับการปล่อยจรวด SpaceX Falcon Crew Dragon ทั้งหมดได้ที่นี่
- ครั้งแรกในประวัติศาสตร์! อเมริกามุ่งสู่อวกาศ ด้วยจรวดและยานของ SpaceX
- Elon Musk ส่ง 2 นักบินอวกาศขึ้นสู่สถานี ISS ในรอบเกือบ 10 ปีด้วยยาน SpaceX
- สำเร็จแล้ว! SpaceX และ NASA ส่งแคปซูล Crew Dragon สู่วงโคจรพร้อม 2 นักบินอวกาศ
- ถึงแล้ว! แคปซูล SpaceX Crew Dragon เทียบท่าสถานีอวกาศนานาชาติโดยใช้เวลาไม่ถึง 19 ชม.
- ผู้กำกับหนัง Edge of Tomorrow จะกำกับ Tom Cruise ในหนังที่ถ่ายบนห้วงอวกาศ เรื่องแรกของโลกโดย NASA และ Space X
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มีนักบินอวกาศมา 9 ปีแล้ว แต่การส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติตลอด 9 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นการส่งไปด้วยจรวดโซยุส (Soyuz) ของประเทศรัสเซียทั้งหมด เหตุผลหลักที่สหรัฐฯ ไม่ส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปอีกเลยนับตั้งแต่ปี 2011 ก็เพราะค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จรวดในยุคแรกนั้นจึงเป็นการใช้แบบครั้งเดียวและทิ้งไปเลย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการใช้งานที่ใช้ทรัพยากรและการลงทุนสูงมาก
ซึ่งหากเทียบค่าใช้จ่ายกันแล้ว การส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปหนึ่งครั้งของสหรัฐฯ จะใช้เงินสูงถึงประมาณ 450 ล้านเหรียญฯ ในขณะที่จรวดโซยุสของรัสเซียนั้นมีค่าใช้จ่ายประมาณ 80 ล้านเหรียญเท่านั้น องค์การนาซ่าจึงยกเลิกโครงการกระสวยอวกาศของตัวเอง และหันมาใช้จรวดโซยุสในการส่งนักบินอวกาศไปยัง ISS แทน ส่วนจรวด Falcon 9 ของ SpaceX มีค่าสร้างจรวดเพื่อส่งออกไปเพียงประมาณ 58 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถูกกว่าโครงการกระสวยอวกาศเดิมของสหรัฐฯ และถูกกว่าแม้แต่จรวดโซยุสของรัสเซียอย่างมาก
และอีกเหตุผลหนึ่ง ก็เพราะว่านาซ่ากำลังมีแผนที่จะทำให้การเดินทางอวกาศเป็นเรื่องของ “บริษัทเอกชน” และรัฐจะถอนตัวออกจากการจัดการเรื่องการเดินทางในอวกาศแต่เพียงผู้เดียวในเร็ว ๆ นี้ จึงเลือกที่จะให้สัมปทานโพรเจกต์ส่งนักบินอวกาศกับบริษัทเอกชน ปัจจุบันบริษัท Boeing และ SpaceX คือสองบริษัทที่ได้ลงนามสัญญากับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมนุษย์ไปยังอวกาศทางพาณิชย์ หรือ Commercial Crew Development (CCDev) ซึ่งก็น่าจะเป็นแนวคิดที่เหมาะสมกับโลกในยุคปัจจุบันที่การให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยและลดต้นทุนในภาพรวมได้มาก
และจรวดโซยุสของรัสเซียที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้นั้นเก่ามากแล้ว เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 1966 สมัยสงครามเย็นและขึ้นบินไปแล้วกว่า 1,700 ภารกิจ นับเป็นระบบจรวดที่มีการใช้งานบ่อยที่สุดในโลก (นักบินอวกาศยังต้องกดปุ่มควบคุมและสวิตช์อนาล็อกมากมายในภาษารัสเซีย!) หลังจากนี้ยังมีภารกิจการเดินทางไปยังอวกาศโดยภาคเอกชนเช่น ยานจากบริษัท Boeing ตามมาอีก
นอกจากนี้ Beartai ก็ได้สรุปรวบรวมความน่าสนใจในมุมน่ารักน่ารู้ของภารกิจนี้ นอกเหนือจากแง่มุมเชิงวิทยาการและข้อมูลเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ มาฝากกันอีกด้วย
น้องตุ๊กตาไดโนเสาร์ ชื่อว่า “ทรีมอร์”
หลายคนอาจจะสังเกตเห็นตุ๊กตาไดโนเสาร์ตัวสีฟ้าที่ได้รับสิทธิพิเศษออกเดินทางไปกับสองนักบินอวกาศ น้องมีชื่อว่า “ทรีเมอร์” ไดโนเสาร์ตัวน้อยที่ร่วมเดินทางขึ้นไปสู่ ISS แต่ไม่ใช่ว่าน้องจะไปเที่ยวเล่นด้วยเฉย ๆ เพราะน้องก็มีภารกิจกับเขาด้วยเช่นกัน ที่จะต้องไปเจอกับน้อง “ลิตเติล เอิร์ธ” ตุ๊กตาลูกโลกที่ขึ้นมาอยู่บนสถานี ISS มาก่อน ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2019 ปีที่แล้ว (ดูในคลิปขององค์การนาซ่า นาทีที่ 11.46 ด้านล่าง)
น้องลิตเติล เอิร์ธเป็นผู้โดยสารที่เดินทางขึ้นไปคู่กับหุ่น Ripley ที่เป็นหุ่นชุดมนุษย์อวกาศ ทำหน้าที่ทดสอบเซนเซอร์ต่าง ๆ แต่น้องลิตเติล เอิร์ธนั้นเป็นตุ๊กจาที่มีภารกิจเพียงอย่างเดียว #ฉันจะพาเธอลอยล่องไปในอวกาศ ล่องลอยโดยไม่ต้องทำภารกิจอะไรอื่น ซึ่งน้องทรีมอร์ก็ได้รับภารกิจในลักษณะเดียวกัน (แนวคิดของ SpaceX ก็จะมีความขี้เล่นมุ้งมิ้งอะไรแบบนี้แฝงอยู่เสมอ)
น้องทั้งคู่เป็นสองตุ๊กตาที่เดินทางมากับยาน Crew Dragon เหมือนกันแต่มากันด้วยคนละภารกิจ โดยน้องลิตเติล เอิร์ธมากับในภารกิจ Demo 1 ที่ไม่มีมนุษย์เดินทางมาด้วย (คงจะเหงาน่าดู) ส่วนน้องทรีเมอร์มากับภารกิจ Demo 2 ทั้งสองเป็น Zero-G Indicator ที่ไม่ได้มีถูกล็อกไว้กับที่นั่ง ทำหน้าที่เป็นตัวบอกถึงสภาวะไร้น้ำหนักภายในห้องโดยสารของยาน โดยจะลอยขึ้นเมื่อยานอวกาศเข้าสู่สภาวะไร้น้ำหนักแล้ว
หลังจากเดินทางเข้าสู่วงโคจรรอบโลก น้องลิตเติล เอิร์ธได้รับความสนใจจากนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นอย่างมาก มีการพาน้องไปทัวร์ตามจุดต่าง ๆ บนยาน และน้องก็ถูกถ่ายรูปคู่กับเหล่านักบินอวกาศลงในทวิตเตอร์และอินสตาแกรม (น้า ๆ บนสถานีอวกาศก็คงจะเหงาเช่นกัน ดูได้จากโพสต์ของ Anne McClain นักบินอวกาศหญิงตอนแนะนำน้องลิตเติลเอิร์ธ)
สองนักบินอวกาศคนล่าสุดอย่าง Bob Behnken และ Doug Hurley ได้นำน้องทั้งสองมาโชว์ต่อหน้ากล้องพร้อมกัน (ตามคลิปด้านบน) พร้อมกับนำรูปถ่ายจบการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาจากทั่วโลกขึ้นไปถึงบนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นที่เรียบร้อย น้องทั้งสองคงได้ปฏิบัติภารกิจเป็นเพื่อนให้น้า ๆ นักบินอวกาศบนนั้นไปเรื่อย ๆ รวมถึงอาจได้รอต้อนรับน้องตัวใหม่ขึ้นไปบนสถานีในอนาคต
ฝากรูปตอนเรียนจบไปอวกาศกับ SpaceX
อีกหนึ่งโพรเจกต์ของ SpaceX ที่เน้นเรื่องแรงบันดาลใจและการให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา กลายมาเป็นแคมเปญที่ให้นักเรียนนักศึกษาจากทั่วโลก เมื่อองการ์นาซ่าได้เปิดให้บันฑิตที่เรียจบในปีการศึกษาปี 2020 นี้ทุกคน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย สามารถอัปโหลดรูปภาพตัวเอง (ปิดรับไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา) ลงไปบนเว็บไซต์ของ SpaceX โดยองค์การนาซ่าได้ทำการพรินต์ภาพที่ทุกคนส่งมา นำขึ้นยาน SpaceX เพื่อเฉลิมฉลองพิธีจบการศึกษาให้จากบนอวกาศเลยทีเดียว (ปรากฎอยู่ในคลิปของ 3 นักบินอวกาศที่มีเจ้าทรีมอร์และลิตเติลเอิร์ธอยู่ด้วยนั่นเอง
ชุดนักบินอวกาศจากดีไซเนอร์เบื้องหลังหนัง X-Men, Iron Man และ Black Panther
สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปให้ความสนใจไม่แพ้ตัวภารกิจครั้งสำคัญในคราวนี้ ก็คือชุดอวกาศที่ดูเท่ผิดหูผิดตาจากชุดนักบินอวกาศในยุคก่อน ราวกับหลุดออกมาจากหนังไซไฟของฮอลลีวูด แนวคิดตั้งต้นก็เกิดมาจาก Elon Musk เจ้าของ SpaceX ที่ได้ให้ Jose Fernandez เจ้าของผลงานออกแบบชุดหรือ Costume Designer ในหนังฟอร์มยักษ์มากมาย เคยออกแบบชุดในหนัง X-men 2 (2002), Thor (2011), Batman V Superman: Dawn of Justice (2016) รวมถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศและนักแสดงต้องสวมชุดอวกาศอย่าง Oblivion (2013) และ Passengers (2016)
เรื่องตลกคือตอนที่ Elon Musk ติดต่อไป ด้วยความที่ไม่ได้เป็นคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ Fernandez จึงไม่รู้จัก บริษัท SpaceX ว่าเป็นบริษัทที่ทำจรวดส่งขึ้นไปยังอวกาศ แต่นึกว่า SpaceX เป็นชื่อหนังเรื่องใหม่ที่มาจ้างเขาออกแบบชุดจึงได้ตอบตกลงรับงาน ตอนแรกนั้น Musk จ้างให้ Jose ออกแบบแค่ส่วนหมวก ซึ่งใช้เวลาแค่ 2 สัปดาห์ แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าหมวกที่เขาออกแบบ กลับสวยโดดกว่าชุดที่นักออกแบบคนอื่น ๆ ออกแบบส่วนอื่นของชุดมาก นั่นทำให้ Musk ตัดสินใจรออีก 6 เดือนเพื่อให้ Jose ออกแบบทั้งชุดไปเลย
“Musk อยากให้นักบินอวกาศใส่ชุดแล้วดูดีเหมือนกับการใส่ชุดทักซิโดครับ ซึ่งมันจะพอเหมาะพอดีกับสัดส่วนร่างกายของมนุษย์ ไม่ได้บวมเป่งเหมือนกับชุดนักบินอวกาศอย่างที่เราเคยเห็นกัน Musk มักพูดว่าใคร ๆ ก็ดูดีในชุดทักซิโด้ ไม่ว่าพวกเขาจะตัวใหญ่แค่ไหนหรือมีรูปร่างยังไง ชุดนักบินอวกาศ” Jose Fernandez ให้สัมภาษณ์ไว้
Fernandez เป็นชาวเม็กซิกันที่เริ่มต้นอาชีพคนทำหนังในปี 1984 ในฐานะคนสร้างโมเดลสัตว์ประหลาดให้กับหนังเรื่อง Gremlins (1984) ก่อนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในหนังดังอย่าง Alien 3 (1992), Men in Black (1997) และ Godzilla (1998) ในหน้าที่นักออกแบบ
จากจุดนั้นต่อมา เขาได้เริ่มออกแบบชุดให้กับตัวละครในหนัง X-Men (2000) เป็นเรื่องแรก และมีผลงานออกแบบชุดซูเปอร์ฮีโรออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหมวกและชุดในหนังเรื่อง Iron Man 2 (2010), Captain America: Civil War (2016) และ Black Panther (2017) นอกจากนั้นสไตล์อันแปลกและแหวกแนวยังไปเตะตา Daft Punk คู่หูนักดนตรีที่ไปดึงตัว Jose ให้มาออกแบบหมวกที่พวกเขาสวมตอนขึ้นเวที Grammy Awards ในปี 2014 อีกด้วย
ธงชาติสหรัฐฯ ที่แกะออกได้ก็ต่อเมื่อเป็นนักบินจากผืนแผ่นดินสหรัฐฯ
ถ้าลองสังเกตในจังหวะที่ Douglas Hurley และ Robert Behnken เข้าสู่สถานี ISS และมีนักบินอวกาศคนอื่น ๆ ที่นั่นรอรับอยู่นั้น เราจะเห็นธงชาติของสหรัฐอเมริกาแปะอยู่ที่ประตูทางเข้าสถานี โดยธงนี้มีประวัติความเป็นมาอยู่ว่า ถูกนำขึ้นมาโดยภารกิจของกระสวยอวกาศเที่ยวแรก STS-1 และภารกิจของกระสวยอวกาศเที่ยวสุดท้าย STS-135 โดยมีการวางธรรมเนียมของเหล่านักบินอวกาศว่า คนที่จะเอาธงนี้ออกจากผนังสถานีอวกาศนี้ได้ จะต้องผู้เดินทางขึ้นมาจาก Kennedy Space Center ที่ตั้งอยู่บนรัฐฟลอริดา ผืนแผ่นดินของอเมริกาเท่านั้น แปลว่านักบินอวกาศอเมริกันที่เดินทางมากับยานโซยุสของรัสเซียตลอด 9 ปีที่ผ่านมาก็ไม่มีสิทธิ์จะดึงออกได้
ซึ่งแน่นอนว่า ในการเดินทางคราวนี้ก็ถึงเวลาที่ธงจะถูกถึงเวลาจะถูกดึงออกแล้ว เพราะ Crew Dragon พานักบินอวกาศทั้ง Douglas Hurley และ Robert Behnken ขึ้นมาจาก Kennedy Space Center และเมื่อ 9 ปีก่อนนั้น หนึ่งในนักบินอวกาศที่ขึ้นมากับภารกิจ STS-135 ภารกิจของยานขนส่งอวกาศแอตแลนติส เมื่อเดือนกรกฎาคม 2011 ก็คือ Douglas Hurley คนนี้เอง ซึ่งเป็นภารกิจครั้งสุดท้ายในการปฏิบัติงานของโครงการยานขนส่งอวกาศ (Space Shuttle) ของสหรัฐฯ ที่มีต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี
ความล้มเหลวที่นำมาซึ่งความสำเร็จของ SpaceX
ส่งท้ายกันที่ความสำเร็จของ SpaceX ที่กว่าจะถึงวันนี้พวกเขาก็ต้องล้มลุกคลุกคลาน ประสบความล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง อย่างในคลิปนี้ก็เป็นการประมวลภาพความล้มเหลวของการลงจอดในขากลับของยานอวกาศ SpaceX ต่าง ๆ ซึ่งในคลิปวิดีโอรวบรวมเอาไว้ตั้งแต่ปี 2014 ที่น่าสังเกตก็คือ SpaceX ใช้เพลงประกอบคลิปในเชิงสนุกสนานและออกแนวล้อเลียนตัวเอง สื่อให้เห็นว่า พวกเขามองความล้มเหลวนี้อย่างสร้างสรรค์และไม่ค่อยจะเครียดกับมันสักเท่าไร (ที่ถ้าเป็นพวกเรา เห็นยานมูลค่าหลายล้านเหรียญฯ ระเบิดก็คงเครียดไปสามวันเจ็ดวัน)
ส่วนในคลิปสุดท้ายล่าสุดในชื่อ Crew Dragon Animation นั้น ก็เป็นคลิปที่ทาง SpaceX ลงทุนทำแอนิเมชันจำลองภาพการเดินทางขากลับของเหล่านักบินอวกาศในภารกิจ Crew Dragon ครั้งนี้เอาไว้ (อย่างถือเคล็ดกลาย ๆ) ว่า การเดินทางกลับของพวกเขา จะลงจอดอย่างสวยงามและอยู่รอดปลอดภัยประมาณนี้ล่ะ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส