เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ ได้ตั้งข้อหากับอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 3 นาย คือ J. Alexander Kueng , Tou Nmn Thao ตำรวจอเมริกันเชื้อสายม้ง และ Thomas Lane ในข้อหาสนับสนุนการฆ่า George Floyd ตามหลัง Derek Chauvin ที่โดนข้อหาฆ่าโดยประมาทไปก่อนหน้านี้ และล่าสุดมีการปรับข้อหาและเพิ่มโทษให้กับ Derek เป็นในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา (แต่ไม่ถึงกับไตร่ตรองไว้ก่อน)
การเสียชีวิตของ George Floyd เกิดจากการกระทำของ Derek Chauvin อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุม Floyd โดยใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ทั้งหมดถูกปลดออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมหรือ 1 วัน หลังจากที่ Floyd เสียชีวิตแล้ว และด้วยข้อหาล่าสุดนี้ ทำให้ทั้ง 4 ผู้ต้องหาถูกตั้งวงเงินประกันตัวไว้ที่คนละ 1 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 31 ล้านบาท โดยเป็นไปได้ว่าทั้งหมดอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดนานถึง 40 ปี
Keith Ellison อัยการรัฐมินนีโซตา ระบุว่า คดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกต้ังข้อหานี้ เป็นคดีที่ค่อนข้างยากและต้องใช้ความรอบคอบสู ง พร้อมกับยืนยันว่า แรงกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้ทางการปรับเพิ่มโทษหรือตั้งข้อกล่าวหาอดีตนายตำรวจทั้ง 4 นายล่าสุดแต่อย่างใด นอกจากนั้น ก็ยังขอเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสันติและไม่ละเมิดต่อกฎหมาย
“ถึงครอบครัวฟลอยด์ ถึงชุมชนอันเป็นที่รัก ผมอยากเน้นย้ำว่า George Floyd เป็นที่รักของทุกคน ของครอบครัวของเขา ชีวิตของเขามีคุณค่า และเราจะนำความยุติธรรมมาคืนให้กับดวงวิญญาณของเขาและพวกคุณทุกคน” อัยการรัฐมินนีโซตากล่าว ส่วน Tim Walz ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ระบุว่า “การเสียชีวิตของ George Floyd เสมือนกับ โรคร้าย ที่ต่อให้คุณตื่นขึ้นมา โรคของ “การเหยียด” นี้ก็จะไม่หายไปจากสังคม นี่เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนจะต้องช่วยกันแก้ไข”
Floyd George Floyd วัย 46 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมจากการจับกุมที่เกินกว่าเหตุของอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ Derek Chauvin วัย 44 ปี เหตุการณ์นี้จุดชนวนการประท้วงทั่วสหรัฐฯ ในเวลานี้ โดยเป็นการประท้วงเพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังรุนแรงเกินสมควรของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ประท้วงบางกลุ่มได้ก่อความรุนแรงตลอดจนก่อการจลาจลและปล้มสะดมสินค้าในบางพื้นที่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน มีการเปิดเผยผลการชันสูตรพลิกศพของ George Floyd ออกมา 2 ฉบับ โดยเป็นการชันสูตรที่ดำเนินการพร้อมกันสองทางเพื่อการ cross-check ซึ่งผลระบุตรงกันว่าสาเหตุการเสียชีวิตของเขามาจากการถูกฆาตกรรม แม้จะมีรายละเอียดบางอย่างที่ไม่ตรงกันบ้างก็ตาม สำนักงานชันสูตรศพของเมืองเฮนเนพิน ระบุว่า การหยุดทำงานของทั้งระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ เป็นผลมาจากการถูกกระทำที่มาจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ใช้กำลังแรงอัดบริเวณคอ
โดยไม่ปรากฏผลตรวจทางกายที่สนับสนุนข้อวินิจฉัยภาวะการขาดอากาศหายใจจากการบาดเจ็บ (Traumatic asphyxia) หรือการรัดคอ (Strangulation) แต่ชี้ว่าภาวะสุขภาพของฟลอยด์ ซึ่งมีโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) และโรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง (Hypertensive Heart diseases) ประกอบกับการถูกการใช้กำลังรุนแรงจากตำรวจ และสารมึนเมาที่อาจอยู่ในระบบร่างกายส่งผลให้เขาเสียชีวิต
ผลชันสูตรศพอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งครอบครัวของ Floyd เป็นผู้จ้างและดำเนินการเอง โดยผลชันสูตรฉบับนี้ระบุว่า อาการขาดอากาศหายใจเกิดจากแรงกดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ Benjamin Crump ทนายความของครอบครัวของฟลอยด์ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนว่า ผลการชันสูตรพบว่า มีแรงกดบริเวณคอและหลัง ซึ่งส่งผลให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ส่วน Michael Baden หนึ่งในแพทย์ผู้ชันสูตรที่ครอบครัวว่าจ้างระบุว่า ที่ตำรวจอ้างความเข้าใจผิดว่า ถ้ายังพูดได้ก็แปลว่าหายใจได้นั้นไม่เป็นความจริง
อย่างไรก็ตาม ในรายงานข่าวระบุว่า ผลชันสูตรทั้งสองฉบับไม่ใช่ข้อชี้ขาดทางคดี ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินทางกฎหมายที่ระบุว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 มีความผิดในฐานเจตนาฆ่าหรือไม่ และผู้แถลงก็ขอให้ไม่นำข้อมูลดังกล่าว มาใช้ตัดสินความผิดของ 4 อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้นำความผิดของเหล่าผู้ต้องหาแทนกระบวนการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส