หลังจากที่ NASA ได้ทำสัญญาว่าจ้างสร้างโมดูลแหล่งพลังงานและขับเคลื่อน PPE ของ Lunar Gateway สถานีอวกาศขนาดย่อมโคจรรอบดวงจันทร์ไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วยมูลค่า 375 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ล่าสุด 5 มิถุนายน NASA ได้ว่าจ้าง Northrup Grumman ในการออกแบบฐานที่ควบคุมแรงดันกดอากาศสำหรับเป็นที่พักอยู่อาศัย ซึ่งนักบินอวกาศสามารถพักในขณะที่เตรียมพร้อมเพื่อออกสู่ภารกิจในห้วงอวกาศด้วยมูลค่า 187 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมดูลที่พักและระบบขนส่ง (HALO)
NASA มีโครงการ Artemis ที่จะส่งผู้หญิงคนแรกและผู้ชายคนต่อไปเหยียบบนดวงจันทร์ภายในปี 2024 และหนึ่งในโปรแกรม Artemist ก็จะมีการสร้างสถานี Lunar Gateway เพื่อเป็นฐานเดินทางต่อไปยังดวงจันทร์และขยายสู่ดาวอังคาร
ส่วนห้องพักของโมดูล HALO จะเป็นห้องพักที่รวมห้องนั่งเล่นห้องนอนห้องครัวอยู่ในห้องเดียวกันที่ขนาดเล็กและสนับสนุนการดำรงชีพสำหรับผู้ที่เดินทางในอวกาศด้วยยานอวกาศ Orion ของ NASA ซึ่ง Northrup Grumman จะออกแบบยึดตามยานอวกาศ Cygnus ของบริษัทที่ใช้ในการส่งเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งส่วนห้องพักของโมดูล HALO จะถูกประกอบบนโลกแล้วส่งออกไปอยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์และเชื่อมต่ออยู่ด้านข้าง ๆ โมดูล PPE แหล่งพลังงานและขับเคลื่อน
การว่าจ้างออกแบบส่วนห้องพักของโมดูล HALO ไล่เลี่ยกับโมดูล PPE ของ NASA เพราะจะช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงทางเทคนิค เพื่อเพิ่มโอกาสให้ภารกิจประสบความสำเร็จ โดยไม่ต้องกังวลว่า 2 องค์ประกอบจะสร้างไม่ทันสำหรับเชื่อมต่อในวงโคจรของดวงจันทร์ที่ Lunar Gateway จะดำเนินงาน
การออกแบบห้องพักของโมดูล HALO คาดว่าจะผ่านการตรวจสอบเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2020 และหากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี Northrop Grumman ก็จะได้เซ็นสัญญาจ้างฉบับที่สองเพื่อสร้างและประกอบห้องพัก HALO สำหรับการทำงานร่วมกับโมดูล PPE ภายในสิ้นปี 2023
สถานี Lunar Gateway เป็นยานอวกาศขนาดเล็กที่โคจรรอบดวงจันทร์ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานีหรือศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัย โมดูลที่พักอาศัยสำหรับนักบินอวกาศในระยะสั้นและที่จอดของรถสำรวจและหุ่นยนต์อื่น ๆ ซึ่งเป็นฐานจุดพักก่อนจะเดินทางต่อไปบนดวงจันทร์หรือดาวอังคารในอนาคต โครงการนี้นำโดย NASA ซึ่งจะร่วมมือกับบริษัทเอกชนและเหล่าประเทศพันธมิตร ได้แก่ แคนาดา (CSA), ยุโรป (ESA) และ Japan (JAXA) ในการสร้างโมดูลส่วนการทำงานต่าง ๆ มาประกอบกัน
กุมภาพันธ์ 2019 แคนาดาเป็นประเทศแรกที่สนับสนุนหุ่นยนต์ที่ทำงานอยู่ภายนอกและที่พักอาศัย, ตุลาคม 2019 ญี่ปุ่นจะสนับสนุนในส่วนที่พักอาศัยและด้านโลจิสติกส์, พฤศจิกายน 2019 องค์การอวกาศยุโรปสนับสนุนเงินทุน ส่วนที่พักอาศัยและการเติมเชื้อเพลิง และรัสเซียได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือด้วย
(A) Power and Propulsion Element (PPE) เป็นยานอวกาศที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 60 กิโลวัตต์ ซึ่งแหล่งพลังงาน การสื่อสารในอัตราสูง การควบคุมการทรงตัว และความสามารถในการเปลี่ยนวงโคจรเพื่อให้เกตเวย์อยู่ในวงโคจรที่ต้องการ ซึ่งพฤษภาคม 2019 NASA ได้ว่าจ้าง Maxar Technologies สร้างโมดูลนี้ด้วยมูลค่า 375 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
(B) European System Providing Refueling, Infrastructure and Telecommunications (ESPRIT) เป็นโมดูลให้บริการเติมซีนอนและไฮดราซีนที่ใช้เป็นเชื้อเพลง อุปกรณ์สื่อสาร และ Airlock ระบบปิดผนึกบรรจุภัณฑ์วิทยาศาสตร์เพื่อป้องกันอากาศเข้าไปด้านใน ซึ่งได้รับการศึกษาและออกแบบโดยบริษัท Airbus และ OHB ส่วนนี้จะสนับสนุนโดยองค์การอวกาศยุโรป
(C) Utilization Module เป็นโมดูลที่พักขนาดเล็กกว่าที่พักหลักหรือ HALO ส่วนนี้จะรับผิดชอบโดย NASA
(D, G) Habitation and Logistics Outpost (HALO) Habitation เป็นส่วนที่พักอาศัยและด้านนอกจะมีพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อการส่งเสบียง ระบบทำความร้อนรักษาอุณหภูมิให้กับที่พัก (BMR) แบตเตอรีและเสาอากาศสื่อสาร ล่าสุด NASA ได้จ้าง Northrop Grumman ออกแบบห้องพักลูกเรือ รวมทั้งจะเพิ่มเติม International Habitation Module (iHAB) เป็นโมดูลที่พักเพิ่มเติมที่สนับสนุนโดยองค์การอวกาศยุโรปร่วมกับญี่ปุ่นหลังจากปี 2024 ส่วน Logistics จะใช้สำหรับเติมเชื้อเพลิง ดูแลการจัดส่งเสบียงและอุปกรณ์ต่างๆ
(E) รักษาปริมาณแรงดันกับการควบคุมสภาพแวดล้อมและสนับสนุนการดำรงชีพของลูกเรือ การตรวจจับและระงับการเกิดไฟไหม้ กักเก็บและจ่ายน้ำ ส่วนนี้ดูแลโดย NASA
(F) Robotic Arm เป็นแขนหุ่นยนต์ใช้สำหรับซ่อมบำรุงและดูแลรักษาเกตเวย์ ส่วนนี้จะสนับสนุนโดยแคนาดาโดยใช้ Canadarm3
(H) Airlock ใช้สำหรับดำเนินการภารกิจพิเศษนอกสถานีและจะมีท่าจอดยานสำหรับการขนส่ง ส่วนนี้มีข่าวว่ารัสเซียจะมาร่วมสนับสนุนแต่ยังไม่มีการยืนยัน
Orion crew module (CM) เป็นแคปซูลอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้บางส่วน ส่วนนี้รับผิดชอบโดย NASA
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส