หากใครเป็นแฟนกลุ่มถ่ายภาพดาว ช่วงนี้จะมีภาพดาวหางโผล่ขึ้นมาเต็มไปหมด ความงามของมันก็ทำให้เรานึกถึงฉากที่น่าประทับใจในภาพยนตร์  Your Name มากๆ ว่าแต่ดาวหางนั้นคืออะไร ทำไมคนตื่นเต้นแห่ไปถ่ายกันเยอะแยะ มันมีความพิเศษยังไง วันนี้เรามาลองทำความรู้จักกับเจ้าดาวหางดังกล่าวกัน

Lemmon และ NEOWISE
2 ดาวหางผู้มาเยือนในเดือนกรกฎาคม 63

สำหรับดวงแรก ดาวหาง Lemmon (C/2019 U6) เป็นดาวหางคาบยาว ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบยาวนานถึง 9,032 ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแห่งภูเขาเลมมอน (Mount Lemmon Survey) เมื่อ 31 ตุลาคม 2562 และโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ประมาณการค่าอันดับความสว่างปรากฏไว้ที่ 6.7 (ค่าอันดับความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่ามีค่าประมาณ 6) ถือว่าสว่างจนเกือบจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากใช้กล้องสองตา อาจมองเห็นได้ในช่วงเวลาหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

ตำแหน่งของดาวหางอยู่ในกลุ่มดาวเครื่องวัดมุม (Sextans) จากนี้จะเคลื่อนที่ไปทางตะวันออก เข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต (Leo) และต่อด้วยกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) การเดินทางของดาวหางทั้งหมดนี้จะอยู่ระหว่างวันที่ 3 – 15 กรกฎาคม 2563 ดังนั้น จะเห็นได้ชัดเจนสุดในช่วงนี้ควรรีบดูกันได้เลย

ภาพดาวหาง Lemmon บันทึกเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2020 โดย Rolando Ligustri

ส่วนดาวหาง NEOWISE (C/2020 F3) เป็นดาวหางคาบยาว ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ 7,125 ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) เป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 และได้เคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ด้วยค่าอันดับความสว่างปรากฏ 1.9 เป็นระดับที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เพราะเป็นช่วงที่เพิ่งออกห่างจากจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้สังเกตได้ยากเนื่องจากถูกแสงอาทิตย์บดบัง

ภาพจำลองแสดงการเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ของดาวหาง Lemmon และ NEOWISE
Credit: The Sky Live

ช่วงวันที่ 1 – 16 กรกฎาคม 2563 ดาวหางจะอยู่บริเวณกลุ่มดาวสารถี (Auriga) จากนี้จะเคลื่อนที่ขยับไปทางทิศเหนือผ่านกลุ่มดาวแมวป่า (Lynx) สังเกตได้ในช่วงเช้ามืด ดาวหางจะปรากฏอยู่ใกล้เส้นขอบฟ้า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และเมื่อดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าจะไม่สามารถมองเห็นได้

ภาพถ่ายดาวหาง NEOWISE เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 โดย Debra Ceravolo

แต่หลังจากวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป จะสังเกตดาวหางได้ในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการสังเกตการณ์ที่สุด คือช่วงวันที่ 20-23 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควรแล้ว และคาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 3.6 แม้เป็นช่วงแสงสนธยาก็มีโอกาสที่จะมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เป็นวันที่ดาวหาง NEOWISE เข้าใกล้โลกที่สุด หลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อยจนไม่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างไรก็ตาม ตอนนี้บรรดานักถ่ายภาพดาวทั้งหลายก็เริ่มถ่ายภาพกันไว้แล้ว

ภาพโดย Bob King ผู้เขียนบทความใน skyandtelescope.org
ในภาพคือตัวบ๊อบและลูกสาวของเขากำลังนั่งชมดาวหาง ในช่วงย่ำรุ่ง เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

แม้ช่วงนี้ประเทศไทศจะเข้าสู่ฤดูฝน แต่หากวันใดพื้นที่ที่คุณอยู่ฟ้าไม่ปิด ก็ลองออกมาส่องหาดาวหางกันดู ส่วนวิธีหาดาวหางนั้น

อาจารย์แจ็ค ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) ขอแนะนำ 3 วิธีติดตามดูง่าย ตามนี้เลย

1. เทคนิคการหาตำแหน่งดาวหาง จากโปรแกรม Stellarium รายละเอียดตามลิงก์ : https://bit.ly/2CcgdPi
2. เทคนิคการวางแผนถ่ายภาพดาวหาง รายละเอียดตามลิงก์ : https://bit.ly/2ZOjqwW
3. เว็บไซต์ตรวจสอบตำแหน่งแบบ Real Time ตามลิงก์ : https://bit.ly/38vluO6

ไม่แน่เราอาจจะได้เห็นดาวหางแบบเดียวกับรูปด้านบนก็ได้ใครจะรู้

อ้างอิง

NARIT

ขอบคุณภาพหัวเรื่องจาก Solution 7 Media
ภาพประกอบจาก skyandtelescope.org

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส