จากรายงานของ The Global E-waste Monitor 2020 (United Nation University) พบว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกอยู่ที่ 53.6 ล้านเมตริกตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียง 17.4% เท่านั้น ที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ในขณะที่ 82.6% ที่เหลือไม่สามารถติดตามได้ และเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดมลพิษและสารเคมีตกค้างในธรรมชาติ โดยทวีปเอเชียเป็นภูมิภาคที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดคือ 24.9 ล้านเมตริกตัน และหากคิดเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 3.5 ล้านเมตริกตัน โดยประเทศที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในภูมิภาคนี้คือ อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ
จากแนวโน้มของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ประกอบกับการเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายที่มีนัยยะสำคัญในการเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทาง เอไอเอส จึงได้จัดทำโครงการ “คนไทยไร้ E-waste” ที่ได้ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 โดยในวันนี้ (2 กันยายน 2563) เอไอเอสเปิดตัวแคมเปญ “E-waste ทิ้งรับพอยท์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ได้เปิดโอกาสให้ลูกค้าและประชาชนที่สนใจนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งที่จุดรับภายในเอไอเอสชอป โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ชิ้น มีค่า 5 พอยท์ โดยเบอร์เอไอเอส 1 หมายเลข สามารถรับพอยท์ได้สูงสุด 10 พอยท์ต่อวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึง 31 ตุลาคม 2563
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมแคมเปญ “E-waste ทิ้งรับพอยท์” ได้ที่เอไอเอสชอปทุกสาขา โดยอุปกรณ์ที่สามารถนำมาทิ้งได้คือ โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, สายชาร์จ, หูฟัง และพาวเวอร์แบงก์ โดยก่อนการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ควรปฏิบัติดังนี้
- ลบข้อมูลและภาพออกจากโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต (Format and Factory Reset)
- ถอดเมมโมรีการ์ดออกออกก่อนทิ้งทุกครั้ง
- หากโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต แบตเตอรี่มือถือ และพาวเวอร์แบงก์ มีลักษณะผิดปกติ เช่น บวม หรือ เปลี่ยนสี ให้นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ ประมาณ 5 ชั่วโมง เพื่อลดประจุพลังงาน และนำใส่ถุงหรือห่อกระดาษก่อนนำไปทิ้ง
ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ ถือเป็นการปฏิบัติตามหลักสากลเพื่อความปลอดภัย
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า “ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่นอกจากจะมุ่งมั่นสร้างสรรค์บริการที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทุกเจเนอเรชันแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะใช้ขีดความสามารถของบริษัทและการพัฒนานวัตกรรมร่วมจัดการปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการดำเนินงานที่รัดกุมทั้งระบบ ตั้งแต่ภายในองค์กร คู่ค้า รวมไปถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนในระยะยาว ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่นอกจากจะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้ว หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีก็จะเกิดการรั่วไหลของสารเคมีลงสู่แผ่นดินและแหล่งน้ำอันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส