ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการพบสื่อมวลชนครั้งแรกหลังรับตำแหน่งว่า วิกฤตโควิด 19 เป็นวิกฤตสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อม ๆ กันในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่ต้องล็อกดาวน์จนมีผลกระทบถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะเหลือเพียง 6.7 ล้านคน จากเดิมที่ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน คิดเป็นรายรับที่หายไปถึงประมาณ 10% ของ GDP การส่งออกสินค้าในไตรมาส 2 มีอัตราการหดตัวหนักที่สุดในรอบ 11 ปี เปรียบเสมือนอาการของผู้ป่วยนอกที่รักษาตัวอยู่ในห้อง ICU
ดร.เศรษฐพุฒิ ชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาในช่วงแรกของภาครัฐเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นมาตรการปูพรมแบบเร่งด่วน คล้ายการใช้ “ยาแรง” เพื่อการรักษาทั้งร่างกาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแต่ละภาคส่วนได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน มาตรการดังกล่าวจึงอาจส่งผลกระทบในภายหลัง อาทิ ผู้ที่ไม่ได้เดือดร้อนจากวิกฤตโควิด 19 จริง ๆ เข้ารับการพักชำระหนี้เป็นจำนวนมาก อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงินได้
วิกฤตโควิด 19 เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มีประเทศไหนในโลกเคยเจอมาก่อน การแก้ไขปัญหาจึงเป็นการลองผิดลองถูก และปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพราะ There is no silver bullet for this problem (ไม่มีวิธีง่าย ๆ ที่จะแก้ไขปัญหาใหญ่นี้)
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
สิ่งหนึ่งที่ ธปท. มุ่งให้ความสำคัญหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ แล้วคือ แนวทางการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ยืดหยุ่น และครบวงจร โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบ (Scar) ที่จะตามมาหลังจากออกมาตรการไปแล้ว ทาง ธปท. มองว่า จากเดิมที่เป็นการพักชำระหนี้ ควรปรับเปลี่ยนเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด โดยสถาบันการเงินไม่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป ทำให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้คนอื่น ๆ ต่อไปได้อีก เมื่อเป็นเช่นนี้เศรษฐกิจจึงจะเดินหน้าต่อไปได้ แม้จะเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ก็เป็นแนวทางที่ยั่งยืน
จากแนวคิดดังกล่าว ธปท. จึงสะท้อนออกมาเป็น 5 โจทย์ใหญ่ ประกอบไปด้วย
- แก้วิกฤตหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 และฟื้นตัวได้
- รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
- รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินของไทยสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์โควิด 19 (New Normal) และระยะต่อไปได้ดี
- สร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน ให้ ธปท. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่น
- พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้ ธปท. เป็นองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทยและสังคมไทย
แต่คิดมาดีแล้ว จะเอาไปใช้ คนที่ใช้ต้องเชื่อมั่น ประชาชนต้องเชื่อมั่น แต่การไปบอกว่า ‘เชื่อผมเถอะ ผมคิดมาแล้ว’ มันไม่ได้สร้างความมั่นใจให้ประชาชน การจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ คุณต้องตอบให้ได้ทุกคำถาม อย่างน้อยก็ตอบประชาชนให้ได้ว่า มาตรการที่ออกมา สิ่งที่คุณคิดออกมา คุณคิดมาได้ยังไง มีที่มาที่ไปจากไหน จึงกลายเป็น ‘ตอบได้’ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ทำความรู้จักกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 21 ได้ที่นี่ คลิก
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส