สถาบันวิจัยดาราศาสตรืแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ชวนชม “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวนายพราน คืน 21 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. จนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออก

โดยปกติแล้ว ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน ของทุกปี โดยปีนี้คาดว่ามีอัตราการตกสูงสุดในคืน 21 – 22 ตุลาคม 2563 สามารถสังเกตเห็นตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. ของวันที่ 21 ตุลาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 22 ตุลาคม 2563 บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง

สำหรับปีนี้ นับเป็นโอกาสดีที่จะชมฝนดาวตกดังกล่าว เนื่องจากในคืนดังกล่าวเป็นดวงจันทร์ข้างขึ้น 4 ค่ำ และตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 22:00 น. มีปราศจากอิทธิพลจากแสงจันทร์ ทำให้สามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกโอไรออนิดส์ได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า และหากฟ้าฝนเป็นใจ สามารถชมความสวยงามของดาวตกโอไรออนิดส์ได้ทั่วประเทศ

“ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจรขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี 2529 แรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า

ผู้สนใจชมปรากฏการณ์ดังกล่าว ควรอยู่ห่างจากเมืองหรือบริเวณที่มีแสงไฟ สำหรับวิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า ตามทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก

สำหรับผู้สนใจถ่ายภาพฝนดาวตก สามารถถ่ายภาพได้ตั้งแต่ 23.00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เนื่องจากเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ดาวตกจะวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก ทำให้เราเห็นดาวตกวิ่งช้าและมีโอกาสถ่ายภาพฝนดาวตกหางยาวได้ง่าย อ่านรายละเอียดการถ่ายภาพฝนดาวตกโอไรออนิดส์ได้ที่นี่

อ้างอิง

NARIT

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส