แม้การนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาในปี 2020 จะยังไม่สิ้นสุดและยังไม่มีการประกาศผลผู้ชนะอย่างเป็นทางการ แต่คะแนนที่นับไปแล้วกว่า 89% (นับถึง 22.00 น. ของวันที่ 5 พฤศจิกายน เวลาประเทศไทย) ก็เริ่มปรากฏผลที่ชัดเจนว่า Joe Biden จากพรรคเดโมแครต อดีตรองประธานาธิบดี 2 สมัยของ Barack Obama จะคว้าชัยชนะและเขี่ยประธานาธิบดี Donald Trump ตกจากบัลลังก์ทำเนียบขาวไปในที่สุด

หลังจากช่วงนับคะแนน 2 วันแรกมีเหตุให้ต้องลุ้นคะแนนกันชนิดรัฐต่อรัฐ นาทีต่อนาที เพราะคะแนนเสียงพลิกกลับไปมา ในบางช่วง Trump ก็คะแนนนำ บางช่วง Biden ก็กลับขึ้นมาแซง ล่าสุด Biden ก็ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่าตนจะชนะการเลือกตั้งเมื่อการนับคะแนนแล้วเสร็จ พร้อมแสดงจุดยืนแม้จะลงสมัครในนามพรรคเดโมแครต แต่ก็พร้อมที่จะบริหารประเทศนี้ในฐานะประธานาธิบดีของคนอเมริกันทุกฝักทุกฝ่าย   

Biden ยังสร้างสถิติใหม่กลายเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 5 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย เขาได้คะแนนเสียงไปแล้ว 72,125,883 เสียง คิดเป็น 50.35% ของจำนวนบัตรเลือกตั้งที่มีการนับ ทำลายสถิติเดิมของอดีตประธานาธิบดี Barack Obama ที่เคยได้รับคะแนนเสียงมากถึง 69,498,516 เสียงจากการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 ขณะที่ Trump เองก็ได้คะแนนเสียงไปสูสี อยู่ที่ 68,780,928 เสียง หรือคิดเป็น 48.02%

ภาพ Infographic จาก BBC.com ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน เวลา 23.00 น. เวลาประเทศไทย

อย่างไรก็ตามระบบการเลือกตั้งสหรัฐฯ ผู้ที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุด (Popular Vote) ไม่ได้การันตีว่าจะได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี เพราะระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะวัดกันที่จำนวนผู้แทนคณะเลือกตั้ง (Electoral Vote) ที่จะไปโหวตเลือกผู้นำประเทศอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อดูสัดส่วนจนถึงตอนนี้จำนวนของผู้แทนคณะเลือกตั้ง Biden ได้ไป 264 เสียงต่อ Trump 214 เสียง (ถ้าใครได้ถึง 270 เสียงก็แทบจะชนะอย่างแน่นอน)  ซึ่งเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา แม้ว่า Hilary Clintonจากพรรคเดโมแครตจะได้รับคะแนนนิยมมากกว่า Trump ถึง 2.8 ล้านเสียง แต่ก็แพ้ไปในที่สุดเมื่อจำนวนผู้แทนคณะเลือกตั้งในแต่ละรัฐรวมแล้ว Trump ได้ไป 304 เสียงต่อ Clinton 227 เสียง

ขณะเดียวกันท่าทีจาก Donald Trump ก็ชัดเจนว่าจะไม่ยอมรับผลการนับคะแนนเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยเฉพาะคะแนนจากบัตรเลือกตั้งผ่านระบบไปรษณีย์ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ Biden พลิกกลับมาคะแนนนำในหลายรัฐ เพราะฐานเสียงจากคนออกเสียงกลุ่มนี้ (กลุ่มคนชราที่ไม่เสี่ยงออกมาติดเชื้อโควิด-19) เป็นของพรรคเดโมแครต แถมยังทำให้คะแนนทิ้งห่างจาก Trump ไปอีก โดยเขาได้ทวีตข้อความเมื่อ 21.12 น. เวลาประเทศไทยว่า “จงหยุดนับคะแนน!”

ซึ่งคณะนี้รัฐที่เป็นตัวแปรสำคัญ ยังนับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งที่ส่งเข้ามาไม่เสร็จก็คือ รัฐเพนซิลเวเนียซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐ Swing State ที่ทั้งสองพรรคไม่มีใครเป็นเจ้าของคะแนนของประชาชนในรัฐอย่างชัดเจน และทั้ง Trump และ Biden ต่างใช้เวลา 2 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งอยู่ที่รัฐนี้เพื่อออกเดินสายเรียกคะแนนเสียง นอกจากนี้การที่ Trump ออกมาทวีตอ้างว่าตนชนะในบางรัฐนั้น ทางทวิตเตอร์ก็ต้องขึ้นเตือนระวังความเข้าใจผิด และชี้ว่าบางรัฐยังไม่มีการประกาศผู้ชนะอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีทวีตข้อความออกมา

สถานีต่อไปของ Trump ก็คือการยื่นฟ้องร้องต่อศาลสูงของสหรัฐฯ เพื่อตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะจากเหตุว่า คะแนนจากบัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์นั้นไม่โปร่งใสและอาจจะมาจากการโกง (แม้จะมีวิธีการที่ตรวจสอบได้ และสถิติการโกงการเลือกตั้งของประชาชนอเมริกันจะมีเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากมาตลอดก็ตาม รวมถึงคนที่ควบคุมอำนาจรัฐอยู่ในเวลานี้คือฝั่ง Trump ไม่ใช่ Biden) 

Trump เองก็คงหวังไว้ว่า ผู้พิพากษาจากศาลสูงที่เป็นฝั่งรีพับลิกันเสีย 6 จาก 9 คนจะช่วยเหลือ Trump ในคราวนี้ โดยเฉพาะผู้พิพากษาศาลสูง 3 คนล่าสุดนั้นยังถูกแต่งตั้งโดย Trump อีกต่างหาก โดยเขาถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงมากคนที่สุดภายใน 1 วาระของประธานาธิบดี จนถึงตอนนี้ทีมงานกฎหมายของ Trump ได้ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อไม่ให้รับรองผลการนับคะแนนด้วยวิถีทางต่าง ๆ ใน 4 รัฐ ได้แก่ รัฐวิสคอนซิน มิชิแกน เพนซิลเวเนีย และจอร์เจีย

ขณะเดียวกันชาวอเมริกันฝั่งเชียร์ Biden ในหลายเมืองทั้งในเมืองนิวยอร์ก เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน และเมืองมินนิแอโปลิส รัฐมินนิโซตารวมถึงรัฐ Swing State อย่างรัฐมิชิแกน (ที่ Biden ชนะไปแล้ว) เพนซิลเวเนีย และจอร์เจีย ต่างออกมาเดินขบวนประท้วงตามถนน พร้อมถือป้ายข้อความ “Count Every Vote” เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งทุกใบ ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุน Trump ในหลายเมืองก็ออกมารวมตัวกดดันให้มีการหยุดนับคะแนนในบางหน่วยเช่นที่เมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนา และดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ตามแนวทางของ Trump ที่ประกาศกร้าวว่าจะไม่ยอมรับบัตรเลือกตั้งจากระบบไปรษณีย์

https://twitter.com/protest_nyc/status/1324157520945053696
https://twitter.com/elizameryl/status/1324183003799658498

เราคงยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า คะแนนเสียงในท้ายที่สุดจะหยุดอยู่ที่เท่าไร และศาลสูงจะรับรองการเลือกตั้งให้ Biden ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ หรือจะต้องทำการเลือกตั้งกันใหม่ตามที่ Trump เรียกร้อง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตยในครั้งนี้ก็คือ นับเป็นครั้งที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิถึง 66% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 230 ล้านคนทั่วสหรัฐฯ ซึ่งครั้งสุดท้ายที่มีผู้ออกมาเลือกตั้งเปอร์เซ็นต์มากเท่านี้ต้องย้อนกลับไปปี 1908 เลยทีเดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส