นี่เป็นบทความชุดรวมการคาดการณ์ที่ถูกพูดถึงปี 2021 ในหัวข้อ เราคาดหวังว่าจะเจออะไรได้บ้าง และนี่คือหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ตลอดจนการเดินทางข้ามพื้นที่ต่าง ๆ ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักส่วนหนึ่งของประเทศไทยด้วยแล้ว ต้องดูว่าจะมีมุมไหนที่ต้องจับตาดูบ้าง
- การพิสูจน์ตัวตนเป็นผู้ได้รับวัคซีน กลายเป็นอภิสิทธิ์ชนรูปแบบใหม่
- ต้องรออีกนานแค่ไหนถึงจะได้เที่ยว (และรับนักท่องเที่ยว)
- เทรนด์การท่องเที่ยวที่น่าสนใจของปี 2021 คือการเข้าพักระยะยาวเพื่อ Work from Vacation
การพิสูจน์ตัวตนเป็นผู้ได้รับวัคซีน กลายเป็นอภิสิทธิ์ชนรูปแบบใหม่
เว็บไซต์ Straitstimes ได้ลงบทความที่น่าสนใจในหัวข้อเดียวกันนี้ไว้ โดยเปิดหัวมาอ้างคำพูดของ อลัน จอยซ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารสายการบิน ควอนตัส ของออสเตรเลียเมื่อเดือนพฤศจิกายนก่อนวัคซีนหลาย ๆ ตัวจะได้รับการรับรองในเดือนธันวาคม ว่า เมื่อมีการแจกจ่ายวัคซีนแล้ว ผู้ประสงค์ทำการบิน จำเป็นอย่างยิ่งในการพิสูจน์ตัวเองว่าได้ผ่านการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยอลันยังยืนยันว่านี่เป็นแนวทางที่ผู้บริหารสายการบินอื่น ๆ ทั่วโลกกำลังพูดคุยกันด้วย
ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสายการบินใหญ่ ๆ กำลังทดสอบการเชื่อมข้อมูลสุขภาพของผู้โดยสารกับแอปพลิเคชัน เพื่อความสะดวกในการแสดงตัวตนและความปลอดภัยในเรื่องข้อมูลส่วนตัว ซึ่งตอนนี้มีแอปฯ ที่กำลังทดสอบทั้ง CommonPass, ICC AOKpass และ VeriFLY
แนวคิดเรื่องการแสดงหลักฐานทางการแพทย์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้การเดินทางไปบางประเทศจำเป็นต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนโรคประจำถิ่นนั้นก่อนเดินทางเช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดีเริ่มในช่วงกลางทศวรรษที่ 1930 องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรการที่เรียกว่า ใบรับรองสีเหลือง (Yellow Card) ซึ่งจะช่วยรับรองบุคคลผู้ถือใบนี้่ได้ฉีดวัคซีนต่าง ๆ ตามที่ประเทศปลายทางกำหนด อาทิเช่น ไข้เหลือง ไข้รากสาดใหญ่ หรือโรคอื่น ๆ
หรืออย่างช่วงใกล้ ๆ นี้ การเดินทางช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ก็ยังจำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ และยังต้องกักตัวเพิ่มจากทั้งต้นทางและปลายทางอีก
ซึ่งการใช้หลักฐานแบบเอกสารยืนยันอย่างที่ผ่านมามีจุดอ่อนอยู่ ยิ่งสถานการณ์ที่ต้องตรวจหลักฐานของคนจำนวนมากและต้องละเอียดถ้วนถี่อย่างตอนนี้ เพราะเอกสารทางการแพทย์จะระบุข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับแค่การฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งเสี่ยงต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ตัวเอกสารยังปลอมแปลงได้อีก แถมเอกสารจากประเทศต้นทางบางครั้งก็ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ และเจ้าหน้าที่ประเทศปลายทางก็ไม่สามารถอ่านเข้าใจได้ จึงจำเป็นต้องหาวิธีพิสูจน์ตัวด้วยวิธีอื่น เช่นแพลตฟอร์มดิจิทัลตามที่ได้กล่าวมา
โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้ต่างมีหลักการเดียวกันคือ ดึงข้อมูลการรักษาหรือการฉีดวัคซีนโรคต่าง ๆ จากสถานพยาบาลมาไว้ในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน และร้องขอข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็นน้อยที่สุด ตรงนี้หนึ่งในผู้พัฒนาแอปฯ CommonPass อย่าง The Commons Project ได้ระบุว่าสิ่งจำเป็นที่ผู้พัฒนาทุกทีมต่างร้องขอ คือการให้ความร่วมมือจากรัฐบาลแต่ละประเทศ เพื่อทำให้การร้องขอและส่งข้อมูลหลักฐานระหว่างประเทศต้นทางกับปลายทางสอดคล้องกัน มีมาตรฐานเดียวกัน โดยตัวแทนโครงการยกตัวอย่างว่า ผู้ฉีดวัคซีนในอเมริกาต้องได้รับความมั่นใจว่าชนิดวัคซีนและเอกสารหลักฐานแสดงตนจากอเมริกาจะได้รับการยอมรับเมื่อมาถึงประเทศไทย และในมุมกลับกันก็ด้วย
ความเห็นผู้เขียน – มาถึงจุดนี้เริ่มเห็นแนวทางการเดินทางในอนาคตบ้างแล้ว แต่ก่อนอื่นใดคือหากคิดจะท่องเที่ยว คุณต้องได้รับการฉีดวัคซีนเสียก่อน ตรงนี้ต้องไปดูนโยบายของแต่ละประเทศแล้วว่ามีนโยบายการแจกจ่ายวัคซีนร้อยละเท่าใดของประชากร เพราะตามสถิติการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนแค่ร้อยละ 70 ของประชากรเท่านั้น (บางที่ขอแค่ร้อยละ 50 ด้วยซ้ำ) และรัฐมีนโยบายลำดับว่ากลุ่มใดจะได้รับวัคซีนก่อนหลังอีก
ความเป็นไปได้หากคุณเป็นวัยแรงงานทั่วไป (ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่มีกำลังท่องเที่ยวต่างประเทศด้วย) ที่ไม่ได้ทำอาชีพเสี่ยงต้องเร่งได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ๆ และต้องการเดินทางระหว่างประเทศด้วยเหตุผลอย่างท่องเที่ยวส่วนตัว คุณอาจต้องหาทางจ่ายเงินเพื่อฉีดวัคซีนด้วยตนเอง นั่นก็เพิ่มต้นทุนในการเดินทางของคุณอีกนิดหนึ่งแน่นอน และเรายังไม่รู้สถานการณ์ว่าวัคซีนจะมีมากเพียงพอ มีการเก็งกำไรอะไรหรือไม่ ตรงนี้บอกล่วงหน้าได้แค่ว่า ใครได้ฉีดวัคซีนก่อนเท่ากับคุณคืออภิสิทธิ์ชนในการเดินทางแล้วล่ะ ในปี 2021 นี้
ส่วนภาคการท่องเที่ยวก็อาจต้องดูได้แล้วว่าจะพัฒนาแพลตฟอร์มใดมาใช้เพื่อยืนยันตัวตนแทนเอกสารการแพทย์กับทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ (จะเป็นส่วนเพิ่มเติมของ ไทยชนะ หรือไม่?) หรือจะเลือกใช้แพลตฟอร์มที่สากลใช้กัน ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐบาลเองก็ต้องหาความร่วมมือและสร้างมาตรฐานการตรวจสอบรับรองเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
ต้องรออีกนานแค่ไหนถึงจะได้เที่ยว (และรับนักท่องเที่ยว)
ในวงการท่องเที่ยวเราอาจจะได้เห็นศัพท์คำหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ Vaxications ที่มีความหมายถึงกระแสการกลับมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้ว และต้องการปลดปล่อยความอัดอั้นที่ไม่ได้ไปไหนเลยตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่ง MMGY Global บริษัทตัวแทนชั้นนำระดับโลกด้านการจัดการเดินทางและรักษาพยาบาลระหว่างประเทศ ได้บัญญัติขึ้น
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อในสหรัฐอย่าง ดร.แอนโธนี เฟาซี ได้คาดการว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวจะกลับมาปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขึ้นกับความรวดเร็วในการแจกจ่ายวัคซีน และต้องเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดี ทั้งยังต้องรอผลการทดสอบจริงเมื่อมีการเดินทางท่องเที่ยวทั้งก่อนและหลังด้วยว่า ปลอดภัยจริง ๆ แล้ว
สอดคล้องกับการจำลองสถานการณ์ตลอดปี 2021 ในอเมริกาของเว็บไซต์ business insider ที่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดอีก 8 ท่านว่า กิจกรรมนอกบ้านอย่างร้านอาหารจะเริ่มกลับมาในเดือนพฤษภาคม โรงหนังอาจกลับมาเปิดในมิถุนายน คอนเสิร์ตกลางแจ้งน่าจะกลับมาในกันยายน ส่วนคอนเสิร์ตอินดอร์จะมาในเดือนถัดมาคือตุลาคม และในเดือนพฤศจิกายนน่าจะเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวรอคอยที่สุด คือคนที่ได้รับวัคซีนแล้วจะเริ่มเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นปกติอีกครั้ง
ซึ่งจากการสำรวจของ MMGY Global พบว่าชาวอเมริกันถึงร้อยละ 50 จะขอรับวัคซีนทันทีที่มีการแจกจ่าย และอีกร้อยละ 40 ขอดูผลของการฉีดสักระยะก่อน และมีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่ปฏิเสธจะรับวัคซีนแน่ เท่ากับว่าจะมี Vaxications ชาวอเมริกันกลุ่มใหญ่มากเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้
เว็บไซต์ travelpulse ได้อ้างการประเมินของ เคลย์ตัน รีด ซีอีโอของ MMGY Global ว่าการท่องเที่ยวด้วยรถยนต์จะยังเป็นการท่องเที่ยวกระแสหลักในปี 2021 ต่อไป นั่นหมายถึงการท่องเที่ยวในประเทศไปดำน้ำ หรือภูเขาเพื่อหลีกเลี่ยงผู้คนจำนวนมาก ยังเป็นกิจกรรมหลักในปีนี้ต่อไป
ส่วนการเดินทางด้วยเครื่องบินจะยังไม่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี และจะกลับมาบินระยะใกล้ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ส่วนการเดินทางข้ามประเทศน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามการเดินทางในประเทศ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีบรรยากาศของผู้คนและสถานประกอบการโดยรวมที่กลับมาดูปกติแล้วนั่นเอง
สถานการณ์ของโรงแรมก่อนจะกลับมาปกติจริง ๆ ยังคงต้องรับมือกับความซบเซาไประยะใหญ่ ที่พักประเภทที่แยกตัวเป็นสัดส่วนเช่นในภูเขา หรือริมทะเล ยังคงมีโอกาสฟื้นตัวที่ดีกว่าโรงแรมที่พักที่ตั้งอยู่กลางเมือง หรือที่ผู้คนคับคั่ง
ส่วนที่น่าสนใจคือการท่องเที่ยวทางเรือ แม้สายการเดินเรือต่าง ๆ จะลดเส้นทางลงแถมยังไม่มีการเดินเรือเพื่อการท่องเที่ยวในระยะใกล้ ๆ นี้ แต่กลับมีโอกาสที่เข็มแข็งในการฟื้นตัวจากยอดการจองล่วงหน้าที่มีจำนวนมาก ซึ่งอาจสอดคล้องกับแนวโน้มความนิยมท่องเที่ยวในปี 2021 ที่นักท่องเที่ยวเน้นการท่องเที่ยวที่มีจุดหมายปลายทางสถานที่แน่นอน มากกว่าการท่องเที่ยวแบบไปยังที่หมายแล้วเตร่เที่ยวรอบ ๆ แบบไม่มีแผนซึ่งเสี่ยงต่อการไปพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดที่ไม่รู้มาก่อนด้วย
ส่วนการคาดการเรื่องการเดินทางเพื่อทำธุรกิจ จากการประเมินของ แยน ฟรีแทก หัวหน้านักวิเคราะห์การตลาดของ CoStar Group ที่เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ มองว่าจากยอดการใช้สำนักงานเพียงร้อยละ 24 จากปกติตลอดปีที่ผ่านมาของชาวอเมริกัน การเดินทางเชิงธุรกิจจะล่าช้าไปราวไตรมาสที่ 3 ของปี
ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังอย่าง McKinsey มองแง่ร้ายกว่าว่าการเดินทางเพื่อทำธุรกิจจะกลับมาปกติก็ต้องเข้าปี 2023 หรือหลังจากนั้นไปแล้ว ยาว ๆ ไปอีก 2 ปีเป็นอย่างน้อย
ความเห็นผู้เขียน – ตรงนี้น่าจะเห็นว่าแนวโน้มคือนักท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะกลับมาในช่วงปลายปี และสำหรับประเทศไทยเองก็น่าจะเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญหนึ่ง ในฐานะเมืองที่เคยติดอันดับต้น ๆ ในการท่องเที่ยวเสมอมา เพียงแค่เราต้องเตรียมพร้อมให้ทัน สร้างความมั่นใจกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และประชาชนในประเทศว่าพร้อมรับคนนอกจริง ๆ ทั้งในแง่ความปลอดภัยด้านสุขภาพที่คงสำคัญสุดว่าพวกนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจะไม่มารับเชื้อใหม่ในไทยกลับไป (อย่าลืมว่าในบางรายที่หายจากโรค ยังมีโอกาสที่จะกลับมาติดใหม่ด้วย) หรือในมุมกลับคือไม่เอาเชื้อมาแพร่ให้คนในประเทศเรา
และต้องลดความเสี่ยงเรื่องการเงินของนักท่องเที่ยว เช่นภาระค่ามัดจำต่าง ๆ ราคาค่าตั๋วค่าที่พักที่เหมาะสมดึงดูดใจ รวมถึงมาตรการขอยกเลิกที่เป็นธรรม เช่นเสียค่าจองเล็กน้อย หรือขอคืนเงินได้เต็มจำนวน และทางที่ดีคือการให้ทำประกันการเดินทางโดยสมัครใจหรือเป็นข้อเสนอพิเศษจากทางสายการบินหรือที่พักเองก็น่าสนใจ ตามที่ คลาร์ก ทวิดดี้ ประธานบริษัทด้านบ้านเช่าได้ตั้งข้อสังเกตว่านักท่องเที่ยวสหรัฐเลือกทำประกันการเดินทางเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เทียบกับปีก่อน ซึ่ง Airbnb ก็เห็นด้วยและเพิ่มความร่วมมือกับบริษัทด้านประกันเพื่ออำนวยความสะดวกผู้จองที่พักในปีนี้
และต้องสร้างความพร้อมในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการลงทะเบียนเอกสารการแพทย์ให้ได้ ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมดควรทำสำเร็จล่วงหน้าให้ทันก่อนพฤศจิกายนปีนี้ เพราะอย่าลืมว่าเราไม่ใช่จุดหมายปลายทางเดียวที่เขาจะเลือกมา ซึ่งเราทำได้ดีมากแล้วในการสร้างชื่อเรื่องการคุม-กดการแพร่ระบาดในรอบที่ผ่านมา รอบนี้ก็หวังว่าเราจะร่วมมือกันให้ผ่านไปโดยเร็ว
เทรนด์การท่องเที่ยวที่น่าสนใจของปี 2021 คือการเข้าพักระยะยาวเพื่อ Work from Vacation
ศัพท์ใหม่อย่าง Workcations, Flexcations หรือ Bleisure ที่ล้วนมีความหมายเดียวกัน คือสะท้อนความนิยมใหม่ในการท่องเที่ยวหรือพักผ่อนไปพร้อมกับการทำงานระยะไกล หรือ Work from Home คือแทนที่จะอยู่บ้านตัวเองแล้วทำงาน ก็ไปพักยาว ๆ ที่โรงแรม บ้านเช่าในแหล่งท่องเที่ยวแทนเสียเลย ซึ่งน่าจะเป็นการทำงานวิถีใหม่ที่เพิ่มขึ้นสูงในประเทศฝั่งตะวันตก แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะทุเลาลงแล้วก็ตาม และแม้ในบ้านเราจะยังไม่น่าเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่ก็น่าจะมีเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน แต่ก็ต้องจับตามองอีกมุมหนึ่งเพราะมันคือโอกาสในภาคการท่องเที่ยวด้วย
แจ็ก เอสซอน ผู้ก่อตั้ง Embark Beyond บริษัทตัวแทนจัดการท่องเที่ยวพรีเมียม ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนที่นอนจะเป็นกระแสการเดินทางใหญ่ของปี 2021 ผู้คนสามารถไปพักผ่อนสักเดือนหนึ่งที่ไหนก็ได้ เพราะพวกเขาทำงานพร้อมกับการท่องเที่ยวพักผ่อนได้ด้วยการทำงานผ่านออนไลน์ ซึ่งเอสซอนได้อ้างสถิติการจองที่พักที่นานกว่า 1 สัปดาห์ของโรงแรมในชายฝั่งไมอามีที่กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง ซึ่งมีสัดส่วนการพักระยะยาวสูงถึงร้อยละ 17.5 ของการจองทั้งหมดด้วย
ความเห็นผู้เขียน – ตรงนี้ก็น่าสนใจว่าความนิยมในแบบดังกล่าวจะเกิดแค่ผู้คนในประเทศทางฝั่งตะวันตกช่วงสั้น ๆ หรือจะยังคงนิยมจนถึงช่วงที่วัคซีนได้รับการแจกจ่ายในปลายปี และเริ่มมีการเดินทางข้ามประเทศได้ราวช่วงปลายปี ซึ่งถึงตรงนั้นก็น่าสนใจทีเดียว เพราะประเทศไทยมีสถานที่สวยงาม มีบริการด้านการท่องเที่ยวที่ดี และค่าครองชีพที่ไม่สูง เหมาะแก่การพักระยะยาว นับเป็นจุดแข็งที่จะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ดีด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส