การทำงานในเหมืองนับว่ามีความเสี่ยงสูง หากไม่เกิดอุบัติเหตุ คนที่ทำก็มักจะได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพ อย่างกรณีเกิดเหตุระเบิดขึ้นในเหมืองทองแห่งหนึ่งของเมืองเยียนไถ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ปัจจุบัน ก็ยังอยู่ระหว่างการกู้ภัยและเพิ่งพบสัญญาณว่ายังมีผู้รอดชีวิตติดอยู่ในเหมืองนั้น แสดงให้เห็นถึงทั้งความเสี่ยงและความยากลำบากในการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างมาก (อ่านรายละเอียดข่าวได้ที่นี่)

เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียลง เหมืองต่าง ๆ ในประเทศจีนจึงหันมาใช้เทคโนโลยี ‘ทำเหมืองอัจฉริยะ’ มากขึ้น 

18 มกราคม 2021 – สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักบริหารความปลอดภัยเหมืองแร่แห่งชาติของจีนระบุว่า ยอดเครื่องจักรเทคโนโลยีทำเหมืองอัจฉริยะทั่วประเทศจีน เมื่อสิ้นปี 2020 มีจำนวนถึง 494 เครื่อง ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยในปี 2015 มีจำนวนเครื่องจักรเพียง 3 เครื่องเท่านั้น นับเป็นการเติบโตที่รวดเร็วอย่างยิ่ง

ปัจจุบันจีนมีหุ่นยนต์ 19 ประเภท ปฏิบัติงานอยู่ในเหมืองถ่านหินใต้ดิน ทั้งงานขุดเจาะและลาดตระเวน ซึ่งล้วนเป็นงานเสี่ยงตาย สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจต่อชีวิตของบุคลากรที่มีเพิ่มขึ้น (ภาพประกอบข่าวด้านบน แสเงให้เห็นถึงการควบคุมรถขุดไร้คนขับด้วยเทคโนโลยีควบคุมระยะไกล ที่เหมืองซานเต้าจวงในอำเภอหลวนชวน มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน บันทึกภาพเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2020)

หากย้อนดูตัวเลขก็พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีนปิดเหมืองถ่านหินที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทั่วประเทศถึง 5,464 แห่ง ในขณะที่ปี 2020 จีนมีอุบัติเหตุในเหมืองถ่านหิน 122 ครั้ง ซึ่งลดลงร้อยละ 28.2 และมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าว 225 ราย ลดลงร้อยละ 28.8

หวงอวี้จือ หัวหน้าสำนักบริหารฯ กล่าวว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินจะเพิ่มการใช้งานเทคโนโลยีทำเหมืองอัจฉริยะต่อไป และจะดำเนินการปิดเหมืองผลิตที่ล้าสมัยเพิ่มขึ้น

อ้างอิง

Xinhuathai.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส