ไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะถึงเวลาเปิดประชุมรัฐสภาชุดใหม่ กองทัพเมียนมาตัดสินใจล้มระบอบประชาธิปไตยด้วยการทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยการจับกุมออง ซาน ซูจี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและหัวหน้าพรรค รวมถึงจับกุมอู วิน มินต์ ประธานาธิบดีเมียนมา ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy (NLD)) อีกหลายคน และมุขมนตรีแต่ละรัฐ ในเวลารุ่งสางของวันที่ 1 กุมภาพันธ์
มีรายงานด้วยว่า หลังจากมีการจับกุมแกนนำพรรค NLD แล้ว ทหารได้เข้าตรึงกำลังในกรุงเนปิดอว์และย่างกุ้ง และยังมีการตัดสัญญาณระบบทั้งทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตภายในประเทศเมียนมาด้วย โดยต่อมา เวลา 9.25 น. (ตามเวลาประเทศไทย) กองทัพเมียนมาได้แถลง ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี และตั้ง พล.อ.มิน ส่วย รองประธานาธิบดี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว พร้อมอ้างเหตุผลของการควบคุมตัวดังกล่าวนั้นมาจากการทุจริตเลือกตั้งที่พรรค NLD ชนะการเลือกตั้ง
พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย คือผู้นำของการทำรัฐประหารในครั้งนี้ โดยเมื่อวันที่ 30 มกราคม (หรือ 2 วันก่อนที่เขาจะทำรัฐประหาร) เขาเพิ่งจะแถลงว่า กองทัพเมียนมาจะมุ่งมั่นปกป้องรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมปฏิเสธข่าวลือว่ากองทัพต้องการยึดอำนาจ ถึงอย่างนั้นประโยคสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายหวาดหวั่นก็คือ ประโยคที่อ่อง ลายบอกว่า “ในบางสถานการณ์ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องล้มล้างรัฐธรรมนูญ” ต่อมาองค์การสหประชาชาติและ 16 สถานทูตชาติตะวันตก จึงได้ออกแถลงการณ์จี้ให้กองทัพเมียนมาเคารพผลการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตย
หลังเหตุการณ์รัฐประหารดังกล่าว หลายประเทศออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติความพยายามในการก่อรัฐประหารในประเทศ โดย Jen Psaki โฆษกประจำทำเนียบขาว ได้กล่าวแถลงการณ์ในฐานะตัวแทนสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ ขอคัดค้านความพยายามในการเปลี่ยนแปลงผลเลือกตั้ง หรือขัดขวางการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเมียนมา และจะดำเนินการกับผู้รับผิดชอบ หากยังไม่ยุติการกระทำเหล่านี้ ด้าน Marise Payne รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลีย ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวออง ซาน ซูจี และคนอื่น พร้อมกล่าวว่า ออสเตรเลียเรียกร้องให้เมียนมาเคารพในกติกาและหลักกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง
ก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวว่ากองทัพทหารเมียนมาได้แสดงท่าทีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังพรรค NLD ของออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เป็นฝ่ายกวาดชัยชนะอย่างถล่มทลายและได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 คว้าที่นั่งในสภาไปถึง 346 ที่นั่ง แบ่งเป็น สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง 258 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง) และสภาชนชาติ หรือสภาสูง 138 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง) ทำให้พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่เป็นพรรคตัวแทนของกองทัพทหารเมียนมาต้องเป็นฝ่ายค้านต่อ พรรค USDP มีเสียงในสภาล่าง 26 ที่นั่ง และสภาชนชาติ 7 ที่นั่ง (ลดลงจากเดิมสภาละ 4 ที่นั่ง)
สำหรับประวัติของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย นั้น เป็นนายทหารคนสนิทของพลเอก ตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลเผด็จการเมียนมาช่วงปี 1992 ถึงปี 2011 หรือยาวนานกว่า 19 ปี ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ตั้งแต่ปี 2011 ปัจจุบันอายุ 65 ปี เกิดที่ทวายในครอบครัวชนชั้นกลาง เคยเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ก่อนเปลี่ยนมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร และขึ้นสู่ตำแหน่งทางการทหารอย่างรวดเร็ว เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรัฐมอญ ผู้บัญชาการกรมทหารภาคสามเหลี่ยมในรัฐฉาน ผู้บัญชาการกองยุทธการพิเศษที่ 2 หน่วยบัญชาการทหารภาครัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยง และเสนาธิการร่วมกองทัพเมียนมา
โดยพล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย เป็นหนึ่งในผู้นำทหารเมียนมาที่ถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศ ในฐานะผู้มีบทบาทในการกวาดล้างชาวมุสลิมโรฮีนจาในประเทศเมียนมา เมื่อปี 2019 โดยเขายังมีฐานะเป็นบุตรบุญธรรม (ตั้งแต่ปี 2012) ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษของไทยผู้ล่วงลับ และเคยเข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายครั้งที่เดินทางมาประเทศไทย โดยครั้งสุดท้ายคือเมื่อปี 2014
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส