หลังเกิดสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมาช่วงเช้าตรู่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวในเวทีโลกที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์นี้ ก็มีการเปิดเผยออกมาล่าสุดว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติหรือ UN ได้เรียกร้องไห้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า สนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา
โดยนาง Schraner Burgener ทูตของ UN ได้สรุปต่อสภาประชุมหลังกองทัพเมียนมาจับกุมตัวนางออง ซาน ซูจี รวมถึงผู้นำคนอื่น ๆ ของรัฐบาลเมียนมาที่มาจากการเลือกตั้ง โดยกองทัพทหารเมียนมาอ้างว่าการเลือกตั้งมาจากการทุจริต โดยส่งมอบอำนาจให้นายพลอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำการรัฐประหาร ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่
ทูตของ UN ได้กล่าวประณามกองทัพทหารเมียนมา และขอให้สมาชิก UN ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดว่าพรรคสันนิบาตรแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะการเลือกตั้งและกองทัพไม่ควรจะจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ปรากฏว่าหนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างประเทศจีนซึ่ง กลับปฏิเสธที่จะแถลงการณ์เพื่อสนับสนุนการประณามดังกล่าว โดยให้เหตุผลสั้น ๆ เพียงว่า ต้องการเวลามากกว่านี้
นอกจากนี้ ประเทศรัสเซียเองซึ่งเป็นอีกหนึ่งสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ปฏิเสธที่จะร่วมแถลงการณ์ประณามดังกล่าวด้วยเช่นกัน หลังจากได้มีการปรึกษาหารือกับรัฐบาลกลางที่กรุงมอสโกแล้ว โดยนาย Dmitri Shostakovich อัครราชทูตรัสเซียประจำ UN ได้กล่าวว่า “สถานการณ์ในเมียนมานั้นซับซ้อนและเปราะบางมาก ดังนั้นการออกแถลงการณ์แบบนี้ จะต้องใช้เวลาในการพิจารณามากกว่านี้”
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ท่าทีนี้ของจีนและรัสเซียไม่ใช่เรื่องเหนือคาด เพราะทั้ง 2 ประเทศนั้นมีระบอบการปกครองประเทศห่างไกลจากระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว รวมถึงจีนก็มีผลประโยชน์จำนวนมากในเมียนมา การประณามกองทัพทหารเมียนมาที่เข้ายึดกุมอำนาจประเทศอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับการดำเนินธุรกิจและนโยบายของจีนต่าง ๆ ในประเทศเมียนมานับจากนี้
เว็บไซต์สื่อ Global Times สื่อที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยระบุผ่านบทบรรณาธิการว่า หากเหล่าประเทศเพื่อนบ้านเช่นในกลุ่มอาเซียน ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ก็ไม่ใช่เรื่องที่เหล่าชาติตะวันตกจะใช้โอกาสนี้ไปแสดงความคิดเห็น พร้อมกับเสนอแนะว่า ประเทศอื่น ๆ ไม่ควรจะขยายปัญหาให้รุนแรงขึ้น แต่ควรถอนชนวนด้วยการเดินสายกลางด้วยการแสดงความปรารถนาดีมากกว่าจะแทรกแซงหรือประณาม
เนื้อหาท่อนหนึ่งในบทบรรณาธิการฉบับนี้กล่าวว่า “ชาติตะวันตกนั้นอยู่ห่างไกลจากพม่า ซ้ำยังพยายามบีบบังคับด้วยกำลังในการเผยแพร่อิทธิพลทางการเมืองเข้ามาในประเทศนี้ ชาติตะวันตกควรมุ่งหวังให้เกิดการเจรจาอย่างสันติของทุกฝ่ายในเมียนมาแต่ไม่ควรเข้ามาสร้างความวุ่นวาย ยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้า และสร้างสถานการณ์ให้พม่าเกิดทางตัน ณ ขณะนี้ ต้องมีเหตุผลภายในบางอย่างที่จะอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้น สิ่งที่โลกภายนอกพึงกระทำก็คืออดทน และช่วยเมียนมาผ่านพ้นความยากลำบาก”
ส่วนเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ “ซินหัว” สื่อจีนอีกฉบับก็ออกมาปกป้องกองทัพเมียนมาเช่นเดียวกัน โดยระบุว่าไม่ควรด่วนสรุปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาคือการ รัฐประหาร แต่อาจเป็นการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ ด้วยการปลดรัฐมนตรี 24 ตำแหน่ง และแต่งตั้งคนมาแทน 11 ตำแหน่งเท่านั้น
วานนี้ หลังจากที่กองทัพทหารเมียนมาได้ทำรัฐประหารรัฐบาลของพรรค NLD ภายใต้การนำของออง ซาน ซูจี แล้ว โดยสำนักงานตำรวจกรุงเนปิดอว์ ก็ได้เริ่มแจ้งข้อกล่าวหาแก่เธอ หลังเข้าตรวจค้นบ้านพักของ ออง ซาน ซูจี และพบวิทยุมือถือที่นำเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายในฐานะที่เป็น “สินค้าหนีภาษี” และจากความผิดการครอบครองสินค้าที่ผิดกฎหมายนำเข้าและส่งออกของเมียนมา ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นข้ออ้างที่กองทัพเมียนมา ได้ใช้เพื่อกักตัวนางออง ซาน ซูจีไว้ก่อนจนถึงอย่างน้อยจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หรืออาจนานกว่านั้นหากพบหลักฐานใหม่หรือเจอฐานความผิดใหม่อีก ในรายงานข่าวยังระบุว่า หาก ออง ซาน ซูจี ถูกพิจารณาคดีด้วยข้อหานี้จริง ๆ ก็อาจทำให้เธอต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 3 ปีเลยทีเดียว
ในด้านที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจนั้น ก็มีรายงานเปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เพิ่งจะส่งเงินสดกว่า 350 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท ให้แก่รัฐบาลพม่าเพื่อช่วยในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด ซึ่งถัดมาเพียงไม่กี่วัน กองทัพทหารเมียนมาก็ได้ทำรัฐประหาร โดยโฆษก ของ IMF กล่าวว่า ในขณะนี้ก็กำลังเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรู้สึกเป็นกังวลมากกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเมียนมา หากเงินช่วยเหลือจำนวนนั้นไม่ถึงมือของประชาชน ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ การที่เมียนมาได้รับเงินช่วยเหลือ “เป็นเงินสด” และเงินที่ได้รับในครั้งนี้แตกต่างจากโครงการสนับสนุนทั่วไปของ IMF ตรงที่ถูกกำหนดไว้ว่าเป็นเงินที่ถูกส่งมอบอย่างรวดเร็วและ IMF “ไม่มีสิทธิ์เรียกคืน”
ก่อนหน้านี้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ IMF ก็คือ สหรัฐฯ ได้มอบเงินช่วยเหลือพม่ากว่า 700 ล้านเหรียญฯ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (รวมถึงเงิน 350 ล้านเหรียญฯ ที่เพิ่งจ่ายไปด้วย) โดยจะแบ่งเป็นเงิน 116.6 ล้านเหรียญฯ ผ่านโครงการ RCF หรือ Rapid Credit Facility ของ IMF ซึ่งเป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ยสำหรับสมาชิกที่มีรายได้ต่ำ และอีก 223.4 ล้านเหรียญฯ ผ่านโครงการ RFI หรือ Rapid Financing Instrument ที่ปล่อยกู้ให้กับสมาชิกทุกประเทศ โดยเมื่อ 13 มกราคมที่ผ่านมา IMF ได้ระบุว่าเงินส่วนนี้จะช่วยให้พม่ามีดุลการชำระเงินไว้ใช้ยามจำเป็นเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด และมอบหมายให้รัฐบาลเมียนมาให้การสนับสนุนทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบรวมถึงกลุ่มคนที่มีความอ่อนแอ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส