ปัจจุบันเครื่องจักรได้พัฒนาไปไกลมากจนสามารถพัฒนามาทดแทนอวัยวะของมนุษย์ได้มากมาย ซึ่งอวัยวะอย่าง “หัวใจ” ที่ไม่น่าเชื่อว่าเครื่องจักรจะมาแทนที่ได้ก็เกิดการทดลองเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาแล้วจริง ๆ โดยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปเพิ่งจะอนุมัติการขายและปลูกถ่ายหัวใจจักรกลแบรนด์ CARMAT ที่จะเป็นหัวใจจักรกลรุ่นแรก ๆ ของโลกซึ่งถูกสร้างมาเพื่อใช้แทนหัวใจของมนุษย์จริง ๆ แบบถาวร สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับภาวะโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งกลายเป็นโรคที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตต่อปีมากที่สุดแซงหน้าโรคมะเร็งไปแล้วเรียบร้อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
การปลูกถ่ายหัวใจหรือเอาหัวใจคนอื่นมาใส่ในร่างกายอีกคนนั้น ซึ่งในทางการแพทย์ มนุษย์สามารถทำได้มาตั้งแต่ยุค 60s และทุกวันนี้ก็มีผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายหัวใจต่อปีราว 5,000 คนทั่วโลก แต่ในเมื่อโลกยังมีผู้เสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวราว 26 ล้านคนต่อไป วิทยาการหัวใจจักรกลนี้จึงยังต้องเร่งคิดค้นและทดลองให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด
การพัฒนาหัวใจจักรกลมีการทดลองในสัตว์มาหลายปี จนในที่สุดเมื่อปี 1982 มนุษย์คนแรกก็ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจจักรกลสำเร็จ โดยหัวใจจักรกลรุ่นแรกที่ใช้ในมนุษย์นี้ชื่อว่า “Jarvik-7” แต่ด้วยเพราะหัวใจของเขาต้องมีสายออกมานอกตัวที่และหนักเกือบ 200 กิโลกรัมจึงทำให้ผู้ป่วยไปไหนมาไหนไม่ได้นั่นเอง ตลอด 20 ปีก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่อง จนในปี 2004 บริษัท Syncardia ที่นำ Jarvik-7 ไปพัฒนาต่อได้รับการอนุมัติให้ขายหัวใจจักรกลในท้องตลาดได้เป็นครั้งแรก ที่มาจนถึงยุคนี้ตัวควบคุมมีขนาดเล็กแบบยกไปไหนมาไหนได้ อย่างไรก็ดีหัวใจจักรกลของ Syncardia ก็ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะใช้อย่างถาวร
การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีหัวใจจักรกลของ CARMAT ซึ่งเป็นหัวใจจักรกลตัวที่ 2 ของโลกที่ออกมาสู่ท้องตลาดแบบทดสอบความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว โดยต่างจากของบริษัท Syncardia ที่ผลิตหัวใจจักรกลตัวแรกออกมา ตรงที่หัวใจของ CARMAT ออกแบบมาให้ตัวควบคุมมีขนาดเล็ก เหน็บไว้ข้างตัวได้และไม่ต้องถือ แถมยังมีอายุใช้งานอย่างต่ำนานถึง 5 ปี แม้ว่าบริษัทผู้ผลิตจะยังไม่ประกาศราคาออกมาในตอนนี้ แต่มีการคาดการณ์กันว่าราคาการปลูกถ่ายหัวใจจักรกลที่รวมราคาชิ้นส่วนหัวใจและค่าผ่าตัดค่าอื่น ๆ ทั้งหมด ราคาขั้นต่ำในสหรัฐฯ น่าจะอยู่ที่ราว 3 ถึง 9 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส