สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนวางแผนส่งดาวเทียมดวงใหม่ ติดตั้งเทคโนโลยีตรวจจับและวัดระยะด้วยแสงหรือไลดาร์ (LiDAR) เพื่อเฝ้าติดตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในชั้นบรรยากาศโลก

จางซิ่งอิ๋ง นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโสจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาดาวเทียมแห่งชาติจีน (NSMC) เปิดเผยว่า 

ดาวเทียมดวงใหม่ที่ว่านี้ มีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในเดือนมิถุนายน 2564 และถือเป็นดาวเทียมตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้เทคโนโลยีไลดาร์ดวงแรกของโลก

ก่อนหน้านี้ จีนส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกเพื่อเฝ้าติดตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว 3 ดวง ตั้งแต่ปี 2016 โดยดาวเทียมดังกล่าวใช้เทคโนโลยีสำรวจระยะไกลเชิงรับ

LiDAR เป็นคำย่อ มาจากคำว่า ‘Light Detection and Ranging’ เป็นเทคโนโลยีที่มักใช้สำรวจภูมิประเทศหรือวัดระยะทาง มีลักษณะการทำงานเหมือนกับการทำงานของเรดาร์ (Radar) กันตรงที่ว่าเรดาร์คือ วัด ‘ระยะเวลา’ การเดินทางของคลื่นวิทยุ ส่วนไลดาร์ วัด ‘ระยะเวลา’ การเดินทางของลำแสงเลเซอร์ ที่เดินทางจากเซนเซอร์ (Sensor) ไปยังวัตถุเป้ำหมาย และเดินทางกลับไปยังเซนเซอร์ ข้อมูลที่ได้จากการวัดด้วยเทคโนโลยีนี้ มีความละเอียดสูง และมีปริมาณมหาศาล ถึงขนาดที่ว่าสามารถสร้างแผนที่ 3 มิติได้

“การประยุกต์ใช้ดาวเทียมเพื่อเฝ้าติดตามและศึกษาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ให้จีนแต่ยังสร้างประโยชน์ให้ทั่วโลก เนื่องจากช่วยสนับสนุนการปกป้องโลกของเรา” จางกล่าว

ทั้งนี้ จีนจะสร้างกลุ่มดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาสำหรับเฝ้าติดตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) ท่ามกลางความพยายามของประเทศในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงจุดสูงสุดก่อนปี 2030 และบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2060

อ้างอิง

Xinhuathai

macthai.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส