เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีนประกาศจัดแสดงหินตัวอย่างจากดวงจันทร์ ที่นำกลับสู่โลกโดยยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 (Chang’e-5) ของจีน
ก่อนหน้านี้ จีนได้ประกาศข้อกำหนดและการใช้ประโยชน์จากตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ 4 ประการ โดยหนึ่งในนั้นคือการใช้งานเพื่อประโยชน์สาธารณะ การจัดแสดงหินตัวอย่างจึงเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติที่อยู่ในหัวข้อดังกล่าว ทั้งนี้ ตัวอย่างจากดวงจันทร์นี้เดินทางไปถึงพิพิธภัณฑ์ ฯ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยในขณะนี้ นิทรรศการอยู่ระหว่างการจัดเตรียม โดยวัตถุตัวอย่างจะถูกเก็บรักษาไว้ในภาชนะทำจากคริสตัลเทียมเนื้อละเอียด
ภาชนะบรรจุตัวอย่างถูกออกแบบในรูปทรงของจุน (Zun) ซึ่งเป็นเครื่องสัมฤทธิ์จีนโบราณ มีความกว้าง 22.89 เซนติเมตร และความสูง 38.44 เซนติเมตร โดยขนาดดังกล่าว มีนัยยะสื่อถึงระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงจันทร์ที่ 384,400 กิโลเมตร และภารกิจสำรวจดวงจันทร์ที่ใช้เวลา 22.89 วัน
ยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 ประกอบไปด้วยยานโคจร ยานลงจอด โมดูลพุ่งขึ้น และโมดูลส่งกลับ เดินทางจากโลกขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2020 และนำตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์จำนวนประมาณ 1,731 กรัม กลับมายังโลก เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2020 โดยลงจอดในเขตปกครองตนเองมองโกเลีย
ประเทศจีนนับเป็นประเทศที่ 3 ที่นำหินและดินจากดวงจันทร์กลับมายังโลกสำเร็จ ถัดจากสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา ทำให้จีนมีตัวอย่างดินและหินดวงจันทร์ ใช้ศึกษาวิจัยเอง
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส