SolarWindow กระจกหน้าต่างที่ไม่ธรรมดา มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ผ่านการเคลือบสารพิเศษที่ทำให้กระจกที่ดูแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา สามารถทำหน้าที่เป็นแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ด้วยประสิทธิภาพที่ผู้ผลิตบอกว่าแปลงพลังงานได้ดีกว่าแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไปที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ถึง 50 เท่า
อรรถประโยชน์ที่เด่นชัดของ SolarWindow นี้ก็คือมันเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่ไม่ทึบแสง ดังนั้นแล้วนี่จึงเป็นการฉีกข้อจำกัดเดิมๆ เรื่องตำแหน่งในการติดตั้งใช้งานแผงโซลาร์เซลล์ ที่จำเป็นจะต้องไปตั้งในพื้นที่กลางแจ้งรับแสงจ้า หรือไม่ก็บนหลังคาอาคารต่างๆ เพราะด้วยความที่มันโปร่งใสแสงส่องผ่านได้ การจะนำ SolarWindow มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งเป็นหน้าต่างอาคารนั้นก็เป็นไปได้ ทำให้อาคารแต่ละหลังมีพื้นที่เพื่อการติดตั้งโซลาร์เซลล์เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าได้มากขึ้น
ในการผลิต SolarWindow นั้นจะใช้การเคลือบผิวแผ่นกระจกด้วยสารที่ไวต่อการเกิดปรากฏการณ์ photovoltaic (ซึ่งหมายถึงการที่อนุภาคของสารตั้งต้นได้รับแสงส่องกระทบจนทำให้ประจุไฟฟ้าของสารนั้นได้รับพลังงานจากแสงมากพอจนหลุดออกจากอะตอม เกิดเป็นการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าเป็นที่มาของกระแสไฟฟ้านั่นเอง) ซึ่งประกอบด้วยธาตุคาร์บอน, ไฮโดรเจน, ไนโตรเจน, ออกซิเจน และส่วนผสมพิเศษเฉพาะของ SolarWindows ซึ่งชั้นของสารที่ถูกเคลือบมาเป็นพิเศษนี้เองที่จะทำหน้าที่ดูดซับเอาพลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า
การเคลือบสารพิเศษของ SolarWindow นั้นจะทำการเคลือบสารซึ่งอยู่ในสถานะของเหลวภายใต้อุณหภูมิห้องปกติ ก่อนจะทำให้สารเคลือบแห้งในห้องอุณหภูมิต่ำ ซึ่งนี่คือขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ชั้นฟิล์มของสารที่เคลือบไว้มีสภาพโปร่งใส โดยวิธีการเคลือบนี้สามรถทำได้ทั้งบนพื้นผิวกระจก และพลาสติกใส
ผู้ผลิต SolarWindow บอกว่าผลิตภัณฑ์จริงจะพร้อมสำหรับการวางขายภายใน 4 ปีข้างหน้า โดยพร้อมจะรับประกันอายุการใช้งานแผ่น SolarWindow ทนทานยาวนาน 25 ปีเลยทีเดียว สิ่งสำคัญคือผู้ผลิตกล้ายืนยันจากผลการศึกษาร่วมกับ University of North Carolina ว่าผู้ที่ติดตั้งใช้งาน SolarWindow สามารถประหยัดค่าไฟจนคุ้มทุนได้เร็วสุดภายในเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้น ในขณะที่การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบธรรมดาที่มีอยู่ทุกวันนี้เพื่อให้ได้พลังงานไฟฟ้าเท่ากันนั้น ต้องใช้พื้นที่ติดตั้งมากราว 25-30 ไร่
โปรดจับตาดูกันให้ดี นี่อาจเป็นอนาคตใหม่ของพลังงานเพื่ออาคารและที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับประเทศเขตร้อนอย่างบ้านเราแบบสุดๆ เลยก็เป็นได้
ที่มา – DigitalTrend