สืบเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และความเฟื่องฟูของวงการสตรีมมิงทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ถูกพลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง แต่มันก็นำมาซึ่งปัญหาจากการเร่งผลิตคอนเทนต์มาเสิร์ฟป้อนบริการสตรีมมิงต่าง ๆ จนนำไปสู่ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อทีมงานในกองถ่ายภาพยนตร์จนทำให้เกิดเหตุการณ์สุดตึงเครียดมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมระหว่าง เครือข่ายพันธมิตรผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ (Alliance of Motion Picture and Television Producers) หรือ AMPTP กับเครือข่ายพันธมิตรลูกจ้างกองถ่ายภาพยนตร์นานาชาติ (International Alliance of Theatrical Stage Employees) หรือ IATSE ซึ่งเป็นฝ่ายยื่นข้อเรียกร้อง Beartai Buzz รวบตึงสรุปเหตุการณ์การเรียกร้องในครั้งนี้มาให้แล้ว
รู้จักกับ IATSE ผู้นำการประท้วง
เครือข่ายพันธมิตรลูกจ้างกองถ่ายภาพยนตร์นานาชาติ (International Alliance of Theatrical Stage Employees) หรือ IATSE จัดตั้งเมื่อปี 1893 โดยเป็นสหภาพที่รวมคนทำงานในกองถ่ายทั่วไปเช่น ช่างแต่งหน้า ช่างไฟ คีย์กริป เป็นต้น โดยปัจจุบันมีสมาชิกถึง 150,000 คนซึ่งการมีสหภาพของคนทำงานกองถ่ายจะทำให้เกิดการต่อรองผลประโยชน์และดูแลคุณภาพชีิวิตของคนกอง รวมไปถึงการเป็นตัวแทนต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์และเรียกร้องความเป็นธรรมให้สมาชิกโดยที่ผ่านมาทาง IATSE เคยประท้วงหยุดงาน 1 ครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ทีมงานกองถ่ายภาพยนตร์ โดยปัจจุบันมีนาย แมตต์ โลบ (Matt Loeb) ดำรงตำแหน่งประธานของสหภาพ
รู้จักกับ AMPTP เครือข่ายผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์
เครือข่ายพันธมิตรผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ (Alliance of Motion Picture and Television Producers) ก่อตั้งในปี 1924 เป็นการรวมกลุ่มของตัวแทนโปรดิวเซอร์ถึง 350 คนเพื่อทำหน้าที่ต่อรองกับคนทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในปัจจุบันมีนางแครอล ลอมบาร์ดินี (Carol Lombardini) ดำรงตำแหน่งประธานสหภาพ
เครือข่ายสตรีมมิงกับปัญหาสวัสดิภาพแรงงาน
กว่าที่เราจะได้เลือกชมคอนเทนต์ภาพยนตร์และซีรีส์อย่างสบายใจเบื้องหลังคือการทำงานของแรงงานตั้งแต่ระดับหัวแถวไปจนถึงปลายแถว และด้วยความที่เครือข่ายสตรีมมิงไม่ว่าจะเป็นเน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส หรือแอปเปิ้ลทีวีพลัสต่างได้รับการระบุในฐานะสื่อใหม่ (New Media) เลยทำให้ค่าตอบแทนสำหรับทีมงานใต้เส้น (Below-the -line workers) ไม่ได้มีมาตรฐานในการจ่ายค่าแรงเหมือนภาพยนตร์ฉายโรงใหญ่ด้วยข้ออ้างในอดีตว่าตัวเองยังไม่ใช่ฮอลลีวูด แต่ในเมื่อทุกวันนี้เครือข่ายสตรีมมิงมีอำนาจไม่ต่างจากฮอลลีวูดดังนั้นการกำหนดค่าแรงและสวัสดิภาพการทำงานก็ควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้นจากการเปิดเผยของ แมทต์ โลบ (Matt Loeb) ประธาน IATSE ยังกล่าวว่าผลกระทบจากช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ทำให้หลังภาวะผ่อนคลายแรงงานกองถ่ายต้องทำงานกันกว่า 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นเวลาร่วม 8 เดือนส่งผลกระทบต่อร่างกายและสวัสดิภาพชีวิตคนทำงานทุกภาคส่วน
ข้อเรียกร้องของ IATSE ที่เรียกร้องสำเร็จ
โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่ต้องออกมาประท้วงในครั้งนัี้ก็สืบเนื่องจากความไม่เป็นธรรมทั้งชั่วโมงการทำงานที่เกินลิมิตจนทำให้ทีมงานไม่ได้พักผ่อนรวมไปถึงค่าจ้างที่ได้จากการทำงานในภาพยนตร์สตรีมมิงที่ไม่เป็นธรรมซึ่งที่ผ่านมาในวันที่ 4 ตุลาคมทางสมาชิกของ IATSE ก็ลงคะแนนโหวตว่าหากทาง AMPTP ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องจะมีการนัดหยุดงานของสมาชิกทั้งหมดในวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคมนี้ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่ทางฝ่ายหลังยอมรับข้อเสนอและตกลงในกรณีข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานเพื่อลดความตึงเครียดและเพื่อให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังเดินหน้าต่อไปได้จึงเกิดข้อตกลงที่จะกลายเป็นสัญญาระยะ 3 ปีต่อไป ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญดังนี้
- ปรับขึ้นค่าแรง
- ปรับปรุงสภาวะการทำงานและค่าแรงในโปรดักชันของหนังสตรีมมิง โดยมีเนื้อหาสำคัญคือการปรับค่าแรงให้แก่ทีมงานใต้เส้นและการกำหนดชั่วโมงการทำงานให้เป็นธรรมดังที่กล่าวไป
- เว้นระยะห่าง 10 ชั่วโมงระหว่างคิวถ่ายทำ ซึ่งโดยปกติแล้วการถ่ายทำภาพยนตร์จะมีการกำหนดคิว (Shift) ในการถ่ายทำซึ่ง 1 คิวจะเท่ากับ 12 ชั่วโมง แต่ผลกระทบจากการที่จะต้องเร่งดำเนินการถ่ายทำคอนเทนต์ภาพยนตร์ลงสตรีมมิงในช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้ทีมงานถูกลากยาวคิวการทำงานไปถึง 17 ชั่วโมงทำให้สวัสดิภาพด้านร่างกายของทีมงานลดลงและเคยมีทีมงานประสบอุบัติเหตุจากการพักผ่อนไม่เพียงพอมาแล้ว ดังนั้นการกำหนดให้มีช่องว่าง 10 ชั่วโมงระหว่างคิวการถ่ายทำจะทำให้ทีมงานมีเวลาในการนอนหลับพักผ่อนได้เพียงพอเพื่อประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย
- ทางนายจ้างจะดูแลสวัสดิการตลอดการทำงาน
- เพิ่มบทลงโทษสำหรับกองถ่ายที่ไม่จัดเตรียมอาหารให้ทีมงานหรือเตรียมให้ไม่เพียงพอและไม่เป็นธรรม
- กำหนดวันหยุดพักผ่อนช่วงสุดสัปดาห์ให้ไม่น้อยกว่า 32 ชั่วโมงหรือเต็มที่ 54 ชั่วโมงต่อครั้ง
- ขยายวันลาป่วยสำหรับทีมงานทั่วประเทศ
- ลดชั่วโมงการทำงานสำหรับทีมงานที่ตั้งครรภ์
- กำหนดให้วันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Martin Luther King’s day) เป็นวันหยุดสำหรับกองถ่าย สำหรับข้อเรียกร้องนี้ถือเป็นชัยชนะที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำในอเมริกาซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นแรงงานและทีมงานในกองถ่ายภาพยนตร์ด้วย
- ทีมงานได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและยอมรับในความหลากหลาย ซึ่งตรงนี้นอกจากเรื่องที่ทีมงานในทุกเชื้อชาติ สีผิวและทุกเพศสภาพจะได้รับการปฏิบัติจากนายจ้างอย่างเป็นธรรมแล้ว ยังมีข้อเรียกร้องที่ดีมาก ๆ คือการจัดสวัสดิการกองทุนสุขภาพและแผนเงินบำนาญแก่สมาชิกที่เกษียณไปแล้ว
- แต่ที่ยังอยู่ในระหว่างต่อรองคือการขึ้นค่าแรง 3% ต่อปีซึ่งทาง AMPTP ยังขอต่อรองให้ขึ้นค่าแรงปีแรก 3% แล้วปรับเป็น 2.5% ต่อไปในปีถัดไป
ซึ่งหลังจากนี้จะมีการร่างสัญญาฉบับสมบูรณ์ต่อไป โดยยังมีรายละเอียดของข้อเรียกร้องหลายประการที่ยังต้องเจรจาหาข้อตกลงกันอยู่
ย้อนมองแรงงานกองถ่ายเมืองไทย
อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหัวข้อ การสำรวจปัญหาและพัฒนานโยบายเพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จัดทำโดยนายณัฐนันท์ เทียมเมฆ มีการนำเสนอปัญหามากมายในกองถ่ายทำภาพยนตร์ไทยทั้งปัญหาชนชั้นในกองถ่ายและสวัสดิการของคนกอง ซึ่งในณัฐนันท์ก็ระบุเช่นกันว่าการจะพัฒนาคุณภาพชีิวิตแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างแรกเลยคือการต้องจัดตั้งสหภาพเหมือนในต่างประเทศซึ่งก็ไม่ต่างจาก IATSE ที่เรานำเสนอไป
เพราะจะเป็นตัวแทนที่มีอำนาจต่อรองเรียกร้องความเป็นธรรมในการทำงานกับนายทุนต่าง ๆ ให้คนกอง อันจะนำไปสู่การจัดสวัสดิการให้คนกองในการดูแลด้านร่างกายและจิตใจต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาแรงงานกองถ่ายในไทยเองก็ยังประสบปัญหาต่าง ๆ แทบไม่ต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา เราคงต้องจับตาว่านโยบายที่อยากจะใช้ซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาลไทยในการสร้างรายได้ให้เหมือนประเทศเกาหลีจะนำไปสู่การดูสวัสดิภาพในชีวิตของคนทำงานหรือไม่
อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส