เครือซีพี ร่วมเวที “Sustainability Forum 2021” ที่จัดโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เพื่อปลุกธุรกิจไทยรับมือ “วิกฤตโลกร้อน” โดยมีผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำของประเทศไทยและระดับนานาชาติมาร่วมแชร์ประสบการณ์
เครือซีพี กล่าวในเวที “Sustainability Forum 2021” เรื่อง “Navigating the Uncertainty with ESG” หรือ การยึดหลักการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนตามแนวทาง ESG
ESG (Environmental, Social, Governance) คือ กรอบการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง Celebrating the Legacy of King Rama IX: The True ESG Advocate โดยได้นำเสนอแนวคิด 3 ข้อเพื่อนำไปปรับใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
1. ให้รู้จักประมาณตน โดยใช้ทุนทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่สร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
2. ใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทางในการใช้ทรัพยากรให้เกิดความพอดีและความสมดุล
3. ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศ ทุกคนจะต้องไม่ประมาทในการใช้ชีวิต
ในการนี้ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวในหัวข้อ The SDGs Objective for Competitiveness ว่าจะเพิ่มความสามารถในแข่งขันระหว่างประเทศโดยนำหลักแนวคิด ESG มาใช้
ว่าด้วยการเปลี่ยนแปรงของสภาพอากาศ หรือ Climate Change ที่ทำให้ธุรกิจต้องหันเข้ามาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะขณะนี้กติกาการค้าทั่วโลกเตรียมใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายตรวจสอบคุณภาพสินค้าและบริการว่ามีการละเมิดหรือสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือไม่
นอกจากนี้ นายนพปฎล เดชอุดม ยังกล่าวอีกว่า การลงทุนธุรกิจไม่ใช่การคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคิดถึงเรื่อง Sustainability หรือการพัฒนาแบบยั่งยืนที่จะต้องคำนึงถึงเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยยกตัวอย่างการศึกษาของทางเครือซีพีในการสร้างสูตรสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ 5 ข้อ
- การสร้างภาวะผู้นำ
- ต้องมีการรายงานผลการปฏิบัติในด้านความยั่งยืนที่โปร่งใสทั้งในด้านผลงานที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ
- สร้างกลไกการตลาดให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ว่าองค์กรมีการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่สะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคมและโลก
- นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.0 มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือต้องร่วมกันคิดให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
- สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันหาแนวทางพัฒนาตามหลักเป้าหมายความยั่งยืน
“ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญ และส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในการทำธุรกิจในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นหากจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ จะต้องไม่ทำเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือ เชื่อมโยงทุกภาคส่วนร่วมกันต่อสู้ รับมือวิกฤตโลกร้อน เพื่อสร้างโลกที่ดีให้กับลูกหลานของเราในอนาคต” นายนพปฎลกล่าว