มนุษย์เรามีสัญชาตญาณของความอยากรู้อยากเห็น ในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยย่างกรายเข้าไป แม้ว่าสถานที่นั้นอาจจะเต็มไปด้วยอันตรายถึงชีวิต แต่ว่าการได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่ได้ฝากรอยเท้าไว้นั้น คือชื่อเสียง คือความภาคภูมิใจ ไม่แปลกที่เราได้รู้ว่ามีคนเสียชีวิตบนยอดเขาเอเวอเรสต์ไปแล้วมากมาย ยิ่งในอดีตกาลนั้น โลกยังไม่มีพาหนะที่ทันสมัยและสะดวกสบายเช่นวันนี้ การบุกเบิกไปในแต่ละสถานที่ยิ่งเต็มไปด้วยอันตรายต่อให้ไปถึงได้ก็อาจจะไม่ได้มีชีวิตรอดกลับมา
อย่างเช่นเรื่องราวการผจญภัยไปขั้วโลกเหนือของ ซาโลมอน ออกัสต์ แอนดรี (Salomon August Andrée) นักสำรวจชาวสวีดีชผู้มีความใฝ่ฝันอยากจะเห็นขั้วโลกเหนือด้วยตาตัวเองมาตลอด และเขาทำได้สำเร็จด้วยบอลลูน แต่น่าเสียดายที่เขาไม่สามารถกลับมาเล่าให้เราฟังได้ว่าเขาได้พบเห็นอะไรมาบ้าง แต่เรื่องราวที่ตัวเขาและทีมงานได้จดบันทึกไว้ ก็เต็มไปด้วยความน่าระทึก และน่าอดสูอย่างมาก ตลอด 4 เดือนที่แอนดรีและพรรพวกดิ้นรนที่จะเอาชีวิตรอดอย่างที่สุด
ชีวิตในช่วงแรกของ ซาโลมอน ออกัสต์ แอนดรี
แอนดรีเกิดในเมืองเล็ก ๆ ชื่อ แกรนนา (Gränna) ประเทศสวีเดน เขาเข้าเรียนที่ Royal Institute of Technology ในกรุงสต็อกโฮล์ม เขาเรียนจบทางด้านวิศกรรมเครื่องกลในปี 1874 จากนั้นเขาก็บินไปฟิลาเดเฟีย เพื่อเข้าชมนิทรรศการร้อยปีอเมริกา (Centennial Exposition) ไม่ได้เยี่ยมชมนิทรรศการอย่างเดียว แต่เขาได้สมัครเป็นภารโรงประจำบูธของประเทศสวีเดนที่มาร่วมออกงานนี้ด้วย ระหว่างที่เขาอยู่ในอเมริกานี้ แอนดรีได้พบกับ จอห์น ไวส์ (John Wise) นักทำบอลลูน และนี่ละคือจุดเปลี่ยนในชีวิตของแอนดรี เพราะเป็นการจุดประกายให้แอนดรีเริ่มหลงใหลในการผจญภัยด้วยบอลลูน หลังกลับมาสวีเดนแล้ว แอนดรีก็ได้กลับไปทำงานใน Royal Institute of Technology โรงเรียนเก่าของเขา และได้เข้าร่วมโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของ นิลส์ เอ็กโฮล์ม บนเกาะสปิตเบอร์เก็น ในนอร์เวย์ ซึงแอนดรีได้รับมอบหมายให้สังเกตการณ์เกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าในอากาศ
ความใฝ่ฝันถึงขั้วโลกเหนือ
แอนดรีมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเดินทางด้วยบอลลูนแก๊สไฮโดรเจนติดใบพัด แล้วเดินทางจากสวาลบาร์ด ประเทศนอร์เวย์ แล้วข้ามมหาสมุทรอาร์กติก ผ่านช่องแคบแบริง แล้วไปสิ้นสุดที่อลาสก้า หรือจะเป็นแคนาดา หรือรัสเซียก็ได้ เขาขอแค่ได้เฉียดไปใกล้ขั้วโลกเหนือได้แค่นั้นเป็นพอ
ปี 1893 แอนดรีก็เก็บเงินซื้อบอลลูนลูกแรกของตัวเองได้ และเขาได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะเขาได้เดินทางด้วยบอลลูนลูกถึง 9 ครั้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดที่ท้าทายที่สุดของเขา เพราะเป้าหมายสุดท้ายของแอนดรีคือขั้วโลกเหนือ ปี 1895 แอนดรีมีโอกาสได้แสดงปาฐกถาเรื่องการแผนการเดินทางไปขั้วโลกเหนือของเขาในสถาบัน Royal Swedish Academy of Sciences เขากระตุ้นความสนใจของผู้ฟังได้ดี ว่าการเดินทางของเขาน่าจะราบรื่นถ้าได้เดินทางในช่วงฤดูร้อน เพราะอากาศฤดูร้อนบนคาบสมุทรอาร์กติกเอื้ออย่างยิ่งต่อการเดินทางด้วยบอลลูน การอภิปรายของเขาปลุกความสนใจใคร่รู้ต่อบรรดานักธรณีวิทยา และนักอุตุนิยมวิทยา และท้ายที่สุดโครงการของเขาก็ได้รับความสนใจจาก สมเด็จพระเจ้าออสการ์ที่ 2 แห่งสวีเดน และอัลเฟรด โนเบล นักเคมีชาวสวีเดน ผู้ให้กำเนิดรางวัลโนเบล ซึ่งให้ทุนสนับสนุนโครงการบุกเบิกขั้วโลกเหนือเขาได้เป็นจริง
อุปสรรคครั้งแรก
แอนดรีวางกำหนดออกเดินทางด้วยบอลลูนสำรวจขั้วโลกเหนือไว้ในปี 1896 แต่เขาไม่สามารถเดินทางไปคนเดียวได้ เขาจึงประกาศหาอาสาสมัครร่วมผจญภัยกับเขาอีก 2 คน มีผู้คนให้ความสนใจเสนอตัวมามากมาย แต่แล้วแอนดรีก็ตัดสินใจเลือกคนที่มีคุณสมบัติและความรู้ที่จะเป็นประโยชน์กับการเดินทางครั้งนี้มากที่สุด คนแรกก็คือ นิลส์ กุสตาฟ เอ็กโฮล์ม (Nils Gustaf Ekholm) นักวิจัยทางอุตุนิยมวิทยาผู้มีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับคาบสมุทรอาร์กติก อีกลูกศิษย์ของเขาคนก็คือ นิลส์ สตรินด์เบิร์ก (Nils Strindberg) ผู้เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และช่างภาพ เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้นั้น แอนดรีต้องการที่จะถ่ายภาพขั้วโลกเหนือจากทางอากาศเพื่อมาทำแผนที่ ซึ่งสตรินด์เบิร์กจะเป็นประโยชน์อย่างมากในภารกิจครั้งนี้ เพราะเขาเป็นทั้งช่างภาพและเชี่ยวชาญในการประกอบกล้องรุ่นใหม่ ๆ ในยุคนั้น
แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือทั้งสามคนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นนักวิชาการมีความรู้มากมายทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ไม่ใช่คนที่มีร่างกายอึดถึกทนที่พร้อมจะไปเผชิญกับสภาพอากาศอันเลวร้ายได้เลย แต่ทั้งสามคนก็ไม่หวั่นเกรง พร้อมจะเผชิญอุปสรรค แต่อุปสรรคก็ดันมาหาพวกเขาก่อนตั้งแต่ยังไม่เริ่มเดินทาง
ในวันใกล้เดินทาง อากาศก็ดูจะเป็นใจ ชวนให้แอนดรียิ้มออก เพราะลมจากทางเหนือพัดมาอย่างสม่ำเสมอผ่านมายังโรงปล่อยบอลลูนบนเกาะเดนส์ (Danskøya) ในนอร์เวย์ แต่แล้วก็เจอปัญหาว่า ลูกบอลลูนไม่สามารถกักไฮโดรเจนไว้ได้ เพราะเกิดรูรั่วมากมาย เมื่อตรวจสอบก็เจอรูพรุนขนาดจิ๋วมาก ประมาณ 8 ล้านลูตามแนวรอยต่อของผ้าใบ วิเคราะห์แล้วว่าน่าจะเกิดจากปริมาณกาวที่ใช้ในการเชื่อมต่อไม่เพียงพอ บอลลูนสูญเสียกำลังในการยกตัวไป 68 กิโลกรัม นั่นแปลว่าจากแผนการเดิมที่บอลลูนจะลอยตัวอยู่ได้ 30 วันก็เหลือเพียงแค่ 17 วันอย่างมากสุด ถึงตอนนี้เอ็กส์โฮล์มเริ่มหวั่น ๆ แล้ว เขาเตือนแอนดรีว่ากำหนดารลอยบอลลูนรอบต่อไป ในฤดูร้อน 1897 ต้องตรวจสอบให้มั่นใจเลยนะว่าการเชื่อมรอยต่อของผืนผ้าใบจะต้องดีกว่านี้นะ
ออกเดินทาง
ในช่วงฤดูร้อนปี 1897 สมาชิกทั้งสามกลับมารวมตัวกันที่เกาะเดนส์อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เอ็กโฮล์มขอถอนตัวไปเรียบร้อยแล้ว ทีมได้ นุต แฟรงเคล (Knut Frænkel) วิศวกรเข้ามาแทนที่ ในวันที่ 11 กรกฎาคม ก็ถึงกำหนดการเดินทางเสียที ทั้งสามปีนลงไปในตะกร้าใต้บอลลูน ลมพัดมาอย่างต่อเนื่องดูจะเป็นใจกับการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่นี้เสียจริง แล้วบอลลูนก็เริ่มลอยตัวสูงขึ้นจากพื้นอย่างช้า ๆ นับจากนี้ไปทีมบอลลูนจะสื่อสารกับคนเบื้องล่างได้เพียง 2 ช่องทางเท่านั้น คือเขียนข้อความยัดใส่ทุ่นแล้วโยนลงมาเบื้องล่าง กับการใช้พิราบสื่อสาร
พอเริ่มเดินทาง ทีมบอลลูนก็เริ่มเจอปัญหาเข้าเสียแล้ว เริ่มแรกเลยคือเชือกที่เชื่อมโยงบอลลูนเข้ากับห่วงยึดบนพื้นล่าง เชือกเส้นนี้มีความยาวหลายร้อยเมตร เป็นระบบความปลอดภัยที่แอนดรียอมติดตั้งขึ้นมาแบบไม่ค่อยเต็มใจนัก แต่ก็ติดตั้งไว้เผื่อมีความผิดพลาดในช่วงปล่อยตัวบอลลูน แต่กลับกลายเป็นว่าเชือกเกิดบิดเกลียวแล้วรั้งบอลลูนไว้ไม่ให้ลอยตัวสูงขึ้น แต่ลอยออกไปในระยะเลี่ยผิวน้ำ บางครั้งก็ถูกดึงลงมาจนตะกร้าจุ่มลงไปในน้ำ ยิ่งห่างออกไป เชือกก็ถูกบิดเกลียวอย่างแรงจนหลุดออกจากห่วงยึดจากตะกร้าบอลลูน เมื่อเชือกหลุดออกไป เท่ากับน้ำหนักถ่วงหายไปจากบอลลูนมากถึง 530 กิโลกรัม จังหวะเดียวกันนั้น แอนดรีสั่งให้เพื่อนร่วมทีมทิ้งทรายออกจากตะกร้าอีก 210 กิโลกรัม นั่นเท่ากับว่า ช่วงเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีนั้น บอลลูนสูญเสียน้ำหนักออกไปแล้ว 740 กิโลกรัม เมื่อเป็นเช่นนี้ บอลลูนจึงลอยละลิ่วขึ้นสู่อากาศอย่างรวดเร็ว แล้วเจอเข้ากับภาวะความกดอากาศต่ำอย่างฉับพลัน ส่งผลให้ไฮโดรเจนภายในบอลลูนถูกบีบอัดจนรั่วออกจากแนวเชื่อมของผ้าใบอีกครั้ง
บอลลูนยังคอยลอยไปได้แบบราบรื่นอีก 10 ชั่วโมงจากนั้น แต่หลังจากนั้นอีก 41 ชั่วโมง คือเวลาแห่งความโกลาหล เพราะบอลลูนลอยไปแบบกระแทกกระทั้นตลอดการเดินทาง มีหลายช่วงที่บอลลูนลงต่ำมาจนกระแทกพื้นล่างแล้วกลับขึ้นไปใหม่อยู่อย่างนี้ ก่อนที่จะตกร่วงกระแทกพื้นจอดสนิทในที่สุด แอนดรีบันทึกเรื่องราวช่วงนี้ไว้ในสมุดบันทึกว่า พวกเราทั้งสามคนไม่มีใครหลับได้ลงเลยตลอดการเดินทาง
บอลลูนตก
ทีมสำรวจปักหลักพักแรมอยู่กันตรงจุดที่บอลลูนตกอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ ทั้งสามก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อหาทางเอาชีวิตรอดจะดีกว่ารอคอยความช่วยเหลือ ที่ไม่รู้จะมาถึงหรือไม่ พวกเขาขนอาหารติดตัวไปให้ได้มากที่สุด หลังออกเดินทางมาได้ 1 สัปดาห์ สภาพร่างกายน่าจะอ่อนล้าไปตามวันเวลา พวกเขาตัดสินใจทิ้งอาหารกองใหญ่และอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพไว้ แล้วคัดเอาเฉพาะอาหารบางส่วนขึ้นเลื่อนหิมะไป คันละประมาณ 130 กิโลกรัม พวกเขาตัดสินใจว่าจากนี้จะใช้วิธีการล่าสัตว์มาเป็นอาหาร แทนการแบกน้ำหนักอาหารไปด้วยระหว่างเดินทาง ระหว่างนี้พวกเขาล่าแมวน้ำ วอลรัส หรือแม้กระทั่งหมีหิมะมาเป็นอาหาร
เป้าหมายของพวกเขาในทีแรกคือหมู่เกาะฟรานซ์โจเซฟแลนด์ แต่ระหว่างที่มุ่งหน้าไปนั้น พวกเขาก็เจออุปสรรคใหญ่หลวงเมื่อแผ่นน้ำแข็งเบื้องหน้าพากันละลายและจมลง พินิจพิจารณาแล้วก็มองไม่เห็นทางที่จะไปต่อได้สำเร็จ จึงตัดสินใจหันหลังกลับ ปักหมุดเป้าหมายใหม่ไปที่หมู่เกาะ Sjuøyane ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้แทน แต่หนทางที่จะไปถึงที่นั่นได้ลำบากยากเย็นนักยิ่งในช่วงเดือนกันยายนเช่นนี้ สุดท้ายแล้วทั้งสามก็ต้องยอมถอดใจให้กับอุปสรรครอบด้าน ปักหลักเอาชีวิตรอดไปวัน ๆ บนแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ ปล่อยให้แผ่นน้ำแข็งนี้ลอยไปเรื่อย ๆ แล้วแต่ชะตากรรมว่าจะพาพวกเขาไปลอยไปยังที่ใด
แม้ว่าถอดใจแล้ว แต่อุปสรรคก็ยังไม่หมดแค่นั้น หลังจากพวกเขาช่วยกันสร้างบ้านจากเศษวัสดุเพื่อไว้พักพิงกันลมหนาว เมื่อแผ่นน้ำแข็งที่พวกเขาปักหลักพักพิงอยู่นั้น ลอยไปชนกับเกาะ Kvitøya และแตกออก ทำให้พวกเขาต้องรีบขนย้ายข้าวของขึ้นไปบนเกาะกันอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นภารกิจที่ทุลักทุเลมาก ใช้เวลาถึง 2 วันกว่าจะเสร็จ เรื่องราวทั้งหมดนี้ ถูกถอดมาจากบันทึกของแอนดรี ที่อยู่ในสภาพยับเยินและข้อความบางส่วนก็หายไป ทำให้เรื่องราวไม่ปะติดปะต่อนัก แต่ก็สรุปเรื่องราวตอนจบได้ว่า หลังจากทั้งสามขนสัมภาระขึ้นไปบนเกาะได้สำเร็จเพียงไม่กี่วัน ก็เสียชีวิตหมดทั้งสามคน
ปริศนาการหายตัวไป 33 ปี
ทั้งสามหายสาบสูญไปแล้ว 33 ปี ถึงจะมีทีมสำรวจชาวนอร์เวย์ตามไปพบร่องรอยของทั้งสามในวันที่ 5 สิงหาคม 1930 พวกเขาพบสมุดบันทึกและโครงกระดูก 2 ร่างอยู่ใกล้กัน เจอชื่อย่อที่ปักไว้บนเสื้อของทั้งสองร่างจึงยืนยันได้ว่าเป็นร่างของ แอนดรี และ สตรินด์เบิร์ก ทีมสำรวจจึงทำการส่งโครงกระดูกทั้งสองร่างกลับไปยังสวีเดน ทีมสำรวจค้นหากันต่อจึงพบร่างของแฟรงเคลในภายหลัง และฟิล์มของสตรินด์เบิร์กอีก 200 ม้วน สมุดบันทึกและแผนที่ของพวกเขา
ร่างของทั้งสามถูกฌาปณกิจโดยไม่มีการตรวจสอบใด ๆ เพิ่มเติม สาเหตุการตายของทั้งสามจึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น และทฤษฎีที่ฟังดูสมเหตุสมผลที่สุดมาจาก เอิร์นสต์ ไทรด์ (Ernst Tryde)แพทย์ท่านหนึ่ง ที่เชื่อว่าทั้งสามเสียชีวิตจากโรคทริคิโนสิส (Trichinosis) เป็นโรคที่เกิดจำกหนอนพยำธิตัวกลมใน เหตุเพราะพวกเขากินเนื้อหมีหิมะที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุก ข้อสันนิษฐานอื่น ๆ ก็มีความใกล้เคียงกัน เช่น พิษจากไวตามินเอ ที่มาจากตับหมีหิมะ หรือพิษสารตะกั่วจากอาหารกระป๋อง และข้อสันนิษฐานยิบย่อยอีกมากมาย อย่าง โรคเลือดออกตามไรฟัน, อาหารเป็นพิษ, ฆ่าตัวตาย หรือโดนหมีหิมะฆ่าตาย