เราทราบกันดีว่า น้ำอัดลมที่มีน้ำตาลนั้นเป็นเครื่องดื่มที่มักถูกเชื่อมโยงต่อวิถีชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่นโรคอ้วน รวมทั้งมีงานวิจัยที่พบว่าน้ำอัดลมมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการสมาธิสั้น โรคไบโพลาร์ และอาการก้าวร้าว ซึ่งถือว่าอันตรายมากสำหรับเด็ก ๆ แต่มีผลงานการวิจัยล่าสุดที่เผยว่า น้ำอัดลมอาจมีส่วนช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนวิชาคณิตศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น แต่ก็ต้องหมายเหตุไว้ว่า การวิจัยนี้มีผลเฉพาะกับเด็กผู้หญิงก่อนวัยเรียนเท่านั้น และมีผลเพียง ‘เล็กน้อย’

น้ำอัดลม

ผลงานการวิจัยนี้เผยแพร่ในวารสาร Health Economics บนเว็บไซต์ ‘Wiley Online Library’ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดย ‘ดร.ฟริตซ์ ชิลลซ์’ (Fritz Schiltz) และ ‘คริสตอฟ เดอ วิตต์’ (Kristof De Witte) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคยู เลอเฟิน (KU Leuven) ประเทศเบลเยียม ได้ทำการวิจัยในหัวข้อ ‘Sugar rush or sugar crash? Experimental evidence on the impact of sugary drinks in the classroom.’ (เมาน้ำตาลหรือเพลียน้ำตาล? หลักฐานการทดลองต่อผลกระทบของเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในห้องเรียน) เพื่อศึกษาผลกระทบของอาการเมาน้ำตาล (Sugar rush – ความรู้สึกโหยเนื่องจากเกิดอาการอยากกินอาหารหวาน ๆ หรืออาหารที่มีน้ำตาลอย่างกะทันหัน) ว่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างไรบ้าง

โดยได้มีการทดลองกับเด็กนักเรียนเบลเยียมที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจำนวน 462 คน อายุระหว่าง 4-6 ขวบ ซึ่งเด็กนักเรียนเหล่านี้จะดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาตรหนึ่งแก้ว หรือเทียบเท่ากับน้ำอัดลม 1 กระป๋อง แต่จะมีนักเรียนเพียงส่วนหนึ่งที่ได้ดื่มน้ำอัดลมจริง ๆ และบางส่วนจะได้รับเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล โดยนักวิจัยจะทำการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังดื่ม หลังจากนั้น นักเรียนจะต้องแก้ไขโจทย์ในใบงานวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งจะเว้นช่วงระยะเวลาหลังดื่มที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ 30 นาที 45 นาที 60 นาที และ 120 นาที

น้ำอัดลม

ผลจากการทำวิจัย 2 ครั้งยืนยันตรงกันว่า น้ำตาลส่งผลด้านทักษะด้านการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของเด็กก่อนวัยเรียนจริง ๆ แต่ว่ามีผลเฉพาะกับเด็กผู้หญิงเท่านั้น โดยพบว่า เด็กผู้หญิงที่ได้ดื่มน้ำอัดลม จะสามารถเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ และทำคะแนนใบงานโจทย์วิชาคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้นประมาณ 29% แต่ตรงกันข้าม เด็กผู้ชายที่ดื่มน้ำอัดลมจะมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ และทำคะแนนในใบงานลดลง 26% เมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กที่ดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาลผสม

น้ำอัดลม

นักวิจัยได้กล่าวสรุปผลเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือเรื่องของสุขภาพ โดยในวิจัยระบุว่า สิ่งนี้น่าจะเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างน้ำอัดลมและความเครียด วิชาคณิตศาสตร์จะทำให้เด็กผู้หญิงมีความเครียดและกังวลมากขึ้นจากการหลั่ง ‘ฮอร์โมนคอร์ติซอล’ (Cortisol) ในต่อมหมวกไต ที่ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาล แต่ถ้าหลั่งออกมามากเกินไปก็จะทำให้รู้สึกเครียด หงุดหงิด นอนไม่หลับ ปวดเมื่อยร่างกาย และหิวตลอดเวลา

น้ำอัดลม

ซึ่งเมื่อฮอร์โมนคอร์ติซอลลดลง ก็จะช่วยทำให้ร่างกายของผู้หญิงรู้สึกผ่อนคลาย จึงทำให้เด็กผู้หญิงรู้สึกว่าสามารถเรียนรู้เรื่องยาก ๆ อย่างเช่นคณิตศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น แต่ในเด็กผู้ชาย แม้ว่าน้ำอัดลมจะช่วยลดฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) จนทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้ในช่วงแรก ๆ แต่น้ำอัดลมกลับทำให้เด็กผู้ชายมีความรู้สึกกระสับกระส่ายมากขึ้นกว่าปกติ

ส่วนในแง่ด้านสังคม ผลการวิจัยนี้จะมีส่วนช่วยในการพิจารณาและควบคุมรูปแบบการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล (ที่ไม่ใช่แค่น้ำอัดลม) ให้เหมาะสมต่อผู้บริโภคในทุกเพศ ฐานะ และสถานะทางสังคม เนื่องจากพบว่ายังมีการขายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในโรงเรียน และการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจะมากกว่าในเด็กผู้ชาย และเด็กในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และรวมไปถึงผลกระทบในด้านสุขภาพทั้งในเชิงบวกและเชิงลบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก ๆ เช่นการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถนำไปสนับสนุนการออกแบบนโยบายการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มภายในโรงเรียนต่อไปได้


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส