นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (18 ม.ค. 65) ได้รับข้อร้องเรียนจากนายสุขพัฒน์ โล่วัชรินทร์ (ส้วม) นักแสดง ผู้เขียนบท และทาเลนต์ของ beartai BUZZ ว่าได้รับความเสียหายจากการถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงคนในครอบครัวให้โอนเงิน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 1 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 นายสุพจน์ โล่ห์วัชรินทร์ ได้รับโทรศัพท์จากบุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด แต่อ้างว่ามีหลักฐานว่า นายสุพจน์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และหลอกลวงให้โอนเงินจำนวน 1,350,000 บาท โดยนายสุพจน์ได้หลงเชื่อ และทำการโอนเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้งขณะอยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ หลังจาก นายสุพจน์โอนเงินไปแล้ว เมื่อตรวจสอบภายหลังพบว่าตัวเองถูกหลอกลวง เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับคนร้ายต่อไป
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า อยากฝากสื่อมวลชนช่วยแจ้งเตือนและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เนื่องจากช่วงนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก เพราะรู้ว่าเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการกวาดล้างจับกุม นอกจากนี้ อยากเตือนประชาชนว่า ข้อแรกอย่าหลงเชื่อ โดยปกติไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐโทรหาเพื่อให้ประชาชนนำเงินมาตรวจสอบ ประกอบกับปัจจุบัน การโอนเงินทำได้ง่ายขึ้น สิ่งสำคัญคือควรมีคำเตือนในแอปพลิเคชัน หากประชาชนมีข้อสงสัยให้สอบถามหน่วยงานก่อนที่จะมีการดำเนินการใด ๆ
ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) จะเร่งรัดติดตามคดี และติดตามเงินมาคืนให้ได้ถึงที่สุด และอีกเรื่องคือ บัญชีม้าหรือบัญชีที่ถูกนำมาใช้หลอกลวงต้องรีบอายัดให้เร็วที่สุด แต่ก็มักไม่ทันเพราะจะถูกโอนต่อไปภายใน 1-2 นาที ซึ่งเรื่องนี้กำลังหาแนวทางร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้สามารถอายัดบัญชีได้เร็วขึ้น
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
ด้านผู้เสียหาย นายสุขพัฒน์ โล่วัชรินทร์ (ส้วม) กล่าวว่า โดยส่วนตัวเคยได้รับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์รูปแบบนี้มาก่อน แต่ไม่เคยโอนเงินให้ เพราะศึกษาข้อมูลมาก่อน จึงไม่เคยหลงเชื่อ อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ได้แจ้งเตือนที่บ้านก็เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น และอีกสาเหตุหนึ่งที่คุณพ่อของตนหลงเชื่อ เพราะผู้โทรอ้างตัวว่าเป็นพนักงานจากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่คุณพ่อเป็นลูกค้าอยู่ โดยกล่าวอ้างว่าพบการไปเอาประกันสินไหมโควิดที่ภูเก็ต และบัญชีมีความเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด
โดยมิจฉาชีพเกลี้ยกล่อมว่าคุณพ่ออาจถูกแอบอ้างชื่อ พร้อมแสดงเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ปลอมแปลงมาให้ดูผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ หลอกลวงจนหลงเชื่อ และยอมโอนเงินไป โดยอ้างว่าเพื่อตรวจสอบ ซึ่งมีข้อน่าสงสัยคือ บัญชีเป็นชื่อตัวบุคคล โดยทำการโอน 3 ครั้งจนหมดบัญชี รวมยอดเงิน 1,35,000 บาท ต่อมาราวครึ่งชั่วโมงเมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวง จึงเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจ
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 “มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้”
สำหรับปัญหาบัญชีม้าหรือบัญชีที่ถูกนำมาใช้หลอกลวงนั้น ที่มักพบเป็นชื่อซ้ำ ๆ กัน มีสาเหตุจาก 1.การจ้างเปิดบัญชี โดยผู้เปิดบัญชีให้รับรู้อยู่แล้ว และ 2. เจ้าของชื่อถูกหลอกลวงให้เปิดบัญชี โดยอาจถูกหลอกว่าใช้เพื่อการสมัครงาน เป็นต้น
ที่มา : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส